วันนี้ (30 ก.ค.) ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคมนำตัวแทน นักศึกษานิติศาสตร์ทั่วประเทศ ยื่นเรื่องต่อประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตั้งกรรมการตรวจสอบกรณีอัยการที่เกี่ยวข้องในการออกคำสั่งไม่ฟ้องคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยสุจริตและใช้ดุลยพินิจโดยชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ เพื่อให้สังคมไม่คลางแคลงใจ เพราะว่าคำสั่งที่ออกมาเป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้ หากผลการตั้งคณะกรรมการออกมาว่ามีมูลขอให้ดำเนินการกับอัยการทุกคนที่เกี่ยวข้อง นายรณณรงค์ กล่าวว่า แม้วานนี้นายกรัฐมนตรีจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ แต่ต้องมายื่นเรื่องเพราะคณะกรรมการชุดที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ไม่ได้ชี้ชัดว่าจะเอาผิดบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จึงรับไม่ได้กับคำสั่งที่เกิดขึ้น
“เรื่องความเร็วของรถที่ตอนแรกวัดได้ 177 ผ่านไป 2 ปีวัดได้ 76 และ 79 ผมว่าเรื่องนี้ก็แปลกพิศดารแล้ว ไปเจอพยานใหม่ยืนยันว่าขับไม่ถึง 80 แล้วอัยการก็เชื่อ ไม่นับกรณีที่มีการเปลี่ยนพนักงานสอบสวนหลายชุด เราไม่คาดคิดว่าคดีนี้จะจบแบบนี้ ถ้ามันจบแบบขาดอายุความ แล้วคุณบอสนี้อยู่ต่างประเทศ หนีได้ก็หนีไป แต่กรณีนี้ผมรับไม่ได้”
นายรณณรงค์ กล่าวด้วยว่าหลังจากมีข่าวคดีนี้ปรากฏว่ามีประชาชนที่ถูกอัยการสั่งฟ้อง จากกรณีประมาทร่วม ก็รู้สึกว่าทำไมถึงไม่ได้รับสิทธิ์เหมือนนายวรยุทธ ซึ่งหลังจากนี้จะนำบุคคลเหล่านั้นไปทวงถามต่ออัยการสูงสุด ว่าทำไมถูกสั่งฟ้องทั้งที่ประมาทร่วมเช่นเดียวกับกรณีของนายวรยุทธ กรณีอย่างนี้มีเป็น 10,000 กรณี ไม่ได้ท้าทายแต่มันเป็นความรู้สึกของประชาชนที่ถูกฟ้องคล้ายๆกัน
ส่วนที่ครอบครัวอยู่วิทยา ออกมาขอความเป็นธรรม ทนายรณรงค์ กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิ์ของทางครอบครัว ตนก็เห็นใจ ที่ไม่ได้กระทำแต่ถูกโจมตีไปด้วย บางทีต้องแยกแยะว่าเป็นเรื่องของบุคคล สังคมแยกระหว่างคนที่ทำกับคนที่ไม่ได้ทำ ว่าเป็นคนละคนกัน
นายรณณรงค์ ยังกล่าวถึงการที่สังคมรู้สึกเดือดร้อนกับเรื่องนี้ ทั้งที่ญาติยังนิ่งเฉย ว่า อย่างแรกคดีนี้คนตายพูดไม่ได้ พอตายไปแล้วก็ไปกล่าวหาว่าเขาผิด นายวรยุทธ มีทนายเก่งๆก็สามารถเอาหลักฐานมาเพิ่ม แล้วดาบวิเชียรที่ตายไม่เห็นมีคนมาข่วย
“ไม่เห็นมีใครไปซักค้านอัยการ มีแต่คนช่วยคนที่ยังไม่ตาย มันไม่แฟร์ และคดีในลักษณะเดียวกันที่เกิดกับลูกความของผมเป็น 100 เป็น 1000 สำนวน อัยการก็สั่งฟ้องหมด ก็ไปสู้กันในศาล ไม่มีหรอกที่อัยการสั่งไม่ฟ้องแบบนี้ มีคนตายยังไงก็ต้องสั่งฟ้องไปก่อน แล้วให้ไปพิสูจน์กันในศาล หากศาลตัดสินยกฟ้องหรือรอลงอาญามาสังคมรับได้ เหมือนคดีเสี่ยเบนซ์ สังคมรับสภาพได้ขอให้จบที่ศาล อย่าตัดตอนที่ชั้นอัยการผมว่ามันไม่แฟร์” ทนายรณรงค์ กล่าวและว่าคดีดังกล่าวถือว่าในส่วนของดาบวิเชียร ไม่มีผู้เสียหายทางนิตินัยเหลือแล้ว คดีต้องระงับไปตามกฎหมาย ต่อให้ผลการสอบของคณะกรรมการตำรวจ อัยการ หรือคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้น ผลออกมาว่ามีความผิด ก็รื้อคดีไม่ได้ การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาน่าจะเป็นเพียงความต้องการยื้อเวลา ลดกระแสสังคมมากกว่า ไม่เห็นความชัดเจนว่าจะมีการลงโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง ดูได้จากไม่เห็นมีการสั่งย้ายอัยการที่เกี่ยวข้อง
ด้านตัวแทนนักศึกษานิติศาสตร์ทั่วประเทศ ที่มาร่วมยื่นคำร้องมองว่า เรื่องดังกล่าวไม่ยุติธรรมกับผู้ที่เสียชีวิตไป แล้วยังไปกล่าวหาว่าเขาผิดด้วย ซึ่งอาจกลายเป็นบรรทัดฐาน ทั้งยังติดใจเรื่องความเร็วที่เปลี่ยนแปลง ที่มาแก้ต่างในภายหลัง ซึ่งว่าน่าจะเกิน 80 และการที่ผู้เสียหายมากลายเป็นคนผิด อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบของนายกรัฐมนตรีจะทำให้เรื่องดังกล่าวโปร่งใส แต่หากผลออกมาเช่นเดิมนักศึกษาก็คงต้องออกมา สิ่งที่จะยอมรับต้องให้ยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการยื่นคำร้องนักศึกษาได้นำตราชั่งมาแสดงโชว์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ ว่าที่ผ่านมาอัยการ เคยให้ความยุติธรรมกับทุกคน แต่วันนี้พอมาเจอคนที่มีฐานะตราชั่งของอัยการก็เอียง