เมืองไทย 360 องศา
ก็ต้องยอมรับว่ารับรู้กับอารมณ์ และความรู้สึกของสังคมได้ดีพอสมควร กับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา นายวรายุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ทายาทกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มกระทิงแดง โดยมี นายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน และมีกรรมการที่มาจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยส่วนใหญ่ถือว่าเป็นคณะบุคคลที่ถือว่าได้รับการยอมรับ ไม่มีส่วนได้เสียกับคดี และให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน และต้องรายงานความคืบหน้าทุก 10 วัน
องค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้ นอกเหนือจากปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม นายกสภาทนายความฯ แล้วยังมี คณบดีคณะนิติศาสตร์จากจุฬาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น
ก็ต้องถือว่ามีความน่าเชื่อถือได้ดีพอสมควร อย่างน้อยก็น่าจะสร้างความไว้วางใจได้ดีกว่า คณะกรรมการในชุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและคณะกรรมการชุดที่อัยการสูงสุดแต่งตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้
แม้จะไม่ได้กล่าวหาว่าคณะกรรมการในชุดของตำรวจและอัยการดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือ แต่ในความหมาย และความรู้สึกก็คือเป็นลักษณะของการ “สอบสวนกันเอง” ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรในวันข้างหน้า แต่นาทีนี้ความเชื่อและอารมณ์ของสังคมส่วนใหญ่มันเชื่อไปอีกทางหนึ่งแล้ว
ดังนั้น การตั้งคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งขึ้นมา ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็น “คณะกรรมการอิสระ” เพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริง และทางกฎหมายเพื่อให้สังคมได้คลายความสงสัย แม้ว่าในที่สุดแล้วก็ต้องรอว่าผลสรุปออกมาแบบไหน มีความน่าเชื่อถือ และเป็นไปตามที่สังคมได้คาดหวังเอาไว้ได้หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากรายชื่อในคณะกรรมการชุดดังกล่าว ก็ถือว่าใช้ได้ อย่างน้อยก็ไม่มีส่วนได้เสียกับคดีและตัวผู้ที่เคยเป็นผู้ต้องหาก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาอีกมุมหนึ่งก็มองได้ว่า นายกรัฐมนตรีรับฟังเสียงเรียกร้องจากภายนอก รวมไปถึงรับรู้ถึงอารมณ์ของชาวบ้านว่ามีความรู้สึกเสื่อศรัทธากับสองหน่วยงานดังกล่าว คือ ตำรวจกับอัยการ ซึ่งที่ผ่านมาก็มักมีภาพลักษณ์ออกมาในเชิงลบอยู่แล้ว และล่าสุด ผลสะท้อนจากผลสำรวจของ “ซูเปอร์โพล” ที่สะท้อนออกมาจนน่าตกใจ ก็คือ กว่าร้อยละ 91 ระบุว่า พึ่งพากระบวนการยุติธรรมไม่ได้ รวมไปถึงร้อยละ 86.6 รู้สึกหมดหวังต่อกระบวนการยุติธรรมไทย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง ที่ประชาชนมีทัศนคติแบบนี้ออกมา
เพราะแม้ว่าในเวลานี้จะพุ่งเป้าไปที่ตำรวจและอัยการเป็นหลักก็ตาม แต่เมื่อพูดถึงกรระบวนการยุติธรรมโดยรวมแล้วก็ย่อมหมายรวมไปทั้งต้นทางคือ ตำรวจ กลางทางคืออัยการ และศาลยุติธรรม ความหมายก็คือ กระบวนการทางศาลย่อมได้รับความกระทบกระเทือนไปด้วย
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันแบบโฟกัสให้ถูกจุดก็ต้องกล่าวกันแบบปฏิเสธความจริงไม่ได้เลยว่าจะพุ่งเป้าไปที่การทำงานของตำรวจและอัยการเป็นหลัก เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับ “ความเป็นธรรม” ของประชาชน เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมต้นทาง และการทำงานก็มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน หากกระบวนการต้นทางมี “ความบิดเบี้ยว” ก็ย่อมส่งผลกระทบตามมา และที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะโฟกัสไปที่ตำรวจเป็นหลัก เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากกว่า จนมีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตลอดเวลา แต่ก็เงียบหายไปทุกครั้ง
แต่คราวนี้เมื่อเกิดกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้อง นายวรายุทธ หรือ “บอส” อยู่วิทยา ที่ต้องบอกว่าทำให้อารมณ์ของสังคม “ขาดผึง” กันเลยทีเดียว เพราะข้อหาล่าสุดที่สั่งไม่ฟ้อง ก็คือ ข้อหาขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งถือว่าเป็นข้อหาหลัก มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และมีอายุความ 15 ปี โดยก่อนหน้านี้ 2-3 ข้อหา มีการประวิงเวลาและใช้แทกติกทางกฎหมายจนทำให้ขาดอายุความ ประกอบกับที่ผ่านมาสังคม “มองออก” ว่า มีความพยายามในการ “เป่าคดี” อยู่ตลอดเวลา จนทำให้เกิดคำพูดที่ว่า “คุกมีไว้สำหรับขังคนจนเท่านั้น” ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความ “เสื่อมศรัทธา” จนถึงขีดสุด
แม้ว่าล่าสุดได้มีคำสั่งสำนักนายกฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาความจริงที่มี นายวิชา มหาคุณ เป็นประธานจะถือว่าได้รับการยอมรับในความตรงไปตรงมาที่พอเชื่อถือได้ แต่เชื่อว่าสังคมมองไปไกลกว่านั้นแล้วก็คือ “ต้องปฏิรูป” ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักอัยการสูงสุด เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา เพื่อเป็นการ “สร้างหลักประกันความยุติธรรม” ในอนาคตที่จะไม่เกิดกรณีเช่นเดียวกับ “บอส” ขึ้นมาอีก และที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะต้องพิสูจน์ให้เห็น อย่างน้อยก็ต้องพิสูจน์ในเรื่องการผลักดันการปฏิรูป และที่สำคัญ พิสูจน์ให้เห็นในเรื่องการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางนั้นจริงแท้แค่ไหน !!