xs
xsm
sm
md
lg

“ศ.วิชา มหาคุณ” ยืนยันจะเป็นสปอตไลต์ส่องให้ประชาชนเห็นจุดบกพร่องคดี “บอส อยู่วิทยา” เพื่อกู้คืนศรัทธาให้กระบวนการยุติธรรม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เราต้องหาช่องว่าง ช่องโหว่ ข้อบกพร่องต่างๆ ในคดีที่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาว่า มีข้ออ่อนด้อยตรงไหน มีจุดอ่อนตรงไหน และเปิดเผยให้ประชาชนรู้ทั้งหมด โดยมีเป้าหมายเพื่อกู้วิกฤตศรัทธาที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม”

ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยกับทีมข่าว MGR Online ถึงแนวทางในการทำงาน หลังจากที่วันนี้ (29 ก.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งให้เป็น “ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจประชาชน” ซึ่งก็คือ คดีที่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ในข้อหาขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จากเหตุที่รถเฟอร์รารี รุ่นเอฟเอฟ สีบรอนซ์เทา ของนายวรยุทธขับไปชนจักรยานยนต์ของ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ จนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 และมีรอยลากยาวไปประมาณ 200 เมตร และตลอดหลายปีที่ผ่านมา นายวรยุทธหลบหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ

แต่ในสำนวนของอัยการกลับให้น้ำหนักคำให้การของพยานที่เพิ่มเติมเข้ามา 2 คน ในเดือนธันวาคม 2562 และเปลี่ยนรูปคดีจน ด.ต.วิเชียร กลายเป็นผู้ต้องหาที่ 2 ฐานขับจักรยานยนต์ตัดหน้ารถของนายวรยุทธ ที่มาด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยอัยการเชื่อคำให้การของพยานใหม่ 2 คนนี้ จึงสรุป “สั่งไม่ฟ้อง” เพราะเห็นว่า “นายวรยุทธ ไม่ได้ขับรถโดยประมาท” โดยฝ่ายตำรวจไม่เห็นแย้ง ส่วนข้อหาอื่นๆ ล้วนแต่หมดอายุความไปแล้ว ทำให้ทั้งอัยการและตำรวจถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักตลอดหลายวันที่ผ่านมา จนทั้ง 2 หน่วยงานต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบภายใน

อดีตกรรมการ ป.ป.ช.บอกว่า คดีนี้ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก ดังนั้น เมื่อได้รับการทาบทามให้เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ จึงตั้งใจว่าจะค้นหาให้เห็นช่องโหว่ต่างๆ ซึ่งเป็นจุดที่สังคมและประชาชนทั่วไปสงสัยในคดีนี้ทุกประเด็น เช่น เหตุใดอัยการจึงเชื่อถือพยาน 2 คน ที่ถูกเพิ่มขึ้นมาใหม่จนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทั้งที่เป็นเพียงพยานบุคคล และยังมีอายุความเหลือถึง 7 ปี หรือต้องดูว่าทั้งในชั้นของตำรวจและชั้นของอัยการ เหตุใดจึงใช้เวลาถึง 8 ปี ในการทำคดีนี้ ก่อนจะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง และต้องชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดให้ประชาชนทราบ

“ลักษณะการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ ก็เหมือนในประเทศที่เจริญแล้ว เมื่อมีเรื่องที่ประชาชนเกิดความสงสัยต่อการทำงานของหน่วยงานใด ก็จะตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระ ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้หน่วยงานใดเลยขึ้นมาก็จะมีอิสระในการสอบสวน โดยเฉพาะเมื่อมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้สามารถเรียกบุคคลใดมาให้ข้อมูลก็ได้ ก็เชื่อว่าจะสามารถหาข้อเท็จจริงได้ แต่ยืนยันว่าคณะกรรมการตรวจสอบชุดนี้จะไม่ไปก้าวล่วงกับกระบวนการตรวจสอบภายในของตำรวจ อัยการ หรือรัฐสภา และไม่มีเจตนาตั้งธงเพื่อสอบสวนเฉพาะหน่วยงานใดเป็นพิเศษ

“เมื่อคณะกรรมการเห็นว่ามีประเด็นตรงไหนที่เป็นข้อบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม ก็จะทำหน้าที่เป็นเหมือนสปอตไลต์ส่องให้เห็นข้อบกพร่องนั้น รายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ พร้อมแสดงผลการตรวจสอบต่อประชาชนที่มีข้อสงสัย ซึ่งเมื่อได้ชี้ให้เห็นว่ามีข้อบกพร่องอย่างไรแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาล หรือหน่วยงานนั้นๆ ในการจะรับหรือไม่รับเพื่อนำความเห็นของคณะกรรมการไปแก้ไขเอง เพราะคณะกรรมการไม่มีอำนาจไปบังคับใคร” ศาสตราจารย์พิเศษ วิชากล่าว

คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจประชาชน ถือเป็นคณะกรรมการอิสระที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นในวันนี้ เพื่อตรวจสอบทั้งข้อเท็จจริงในคดีและข้อกฎหมาย เสนอแนวทางเพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือแนวทางการทำงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม มีกำหนดให้รายงานผลต่อนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ซึ่ง ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ในฐานะประธาน เปิดเผยว่าจะเรียกประชุมคณะกรรมการภายในต้นสัปดาห์หน้า โดยเริ่มจากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดก่อน และหาทางเพิ่มเติมข้อมูลให้เห็นข้อบกพร่องต่างๆ โดยแนวทางการสอบสวนจะหารือกับกรรมการทุกคนก่อน และเชื่อว่าอาจจะได้ข้อสรุปเร็วกว่ากำหนด 30 วันก็ได้


สำหรับรายชื่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจประชาชน ประกอบไปด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 10 ท่าน ดังนี้ 

ประธานคณะกรรมการ 1. ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ

กรรมการ
2. ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม
3. นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
4. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย
5. นายเข็มชัย ชุติวงศ์ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม
6. ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ
7. ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
8. รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
9. ผศ.สาธิน สุนทรพันธุ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ รักษาราชการแทน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
10. นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป.






กำลังโหลดความคิดเห็น