ความไม่ยุติธรรม หมายถึง ผลของการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้ามองตามหลักปัจจยาการของศาสนาพุทธ ก็คือผลอันเกิดจากเหตุที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรมนั่นเอง ในทางกลับกัน ความยุติธรรมก็หมายถึงผลของการกระทำที่ถูกต้อง ชอบธรรม หรือผลอันเกิดจากเหตุที่ถูกต้องชอบธรรม
โดยนัยแห่งคำนิยามข้างต้น กระบวนการยุติธรรมจึงหมายถึงขั้นตอน และวิธีการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการชี้ผิด ชี้ถูก โดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นคือ
1. การสอบสวนหาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐาน และส่งให้พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ในขั้นนี้อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
2. การพิจารณาพยานหลักฐาน ตามข้อ 1 แล้วสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง หรือสั่งการไม่ให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม ขั้นนี้อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานอัยการ
3. การพิจารณาสำนวนฟ้องที่พนักงานอัยการส่งมาแล้วพิจารณาลงโทษผู้กระทำผิดหรือยกฟ้อง ขั้นนี้อยู่ในความรับผิดชอบของตุลาการ
จาก 3 ขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ทั้ง 3 ขั้นตอน จะต้องดำเนินการด้วยความชอบธรรมเท่านั้น แต่ถ้าขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งดำเนินการไม่โปร่งใส ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรม ความไม่ยุติธรรมก็เกิดขึ้นได้
ด้วยเหตุนี้ สังคมต้องการเห็นความยุติธรรมเกิดขึ้นทุกครั้งที่เกิดมีคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะต้องทำให้การดำเนินการทั้ง 3 ขั้นตอนดำเนินการด้วยความโปร่งใส และตรวจสอบได้อย่างตรงไปตรงมา
ส่วนว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในแต่ละขั้นตอนนั้น จะต้องพิจารณาจากปัจจัยอันเป็นองค์ประกอบหลัก 3 ประการคือ
1. บุคลากรผู้มีหน้าที่ และความรับผิดชอบ มีความรู้ ความสามารถในงานที่รับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน และมีคุณธรรม จริยธรรมมากน้อยเพียงใด
2. กฎหมาย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานในแต่ละด้านมีความละเอียด ครอบคลุมลักษณะของการกระทำความผิดมากพอที่จะนำมาเป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมได้หรือไม่ หรือว่ามีช่องว่าง ช่องโหว่ให้ผู้มีอาชีพในการใช้กฎหมายทำมาหากิน นำไปหาประโยชน์ได้หรือไม่
3. รัฐบาลในฐานะที่เป็นผู้บริหารประเทศ ได้เอาจริงเอาจังกับบุคลากรในแต่ละขั้นตอนมากน้อยแค่ไหน
ถ้าปัจจัย 3 ประการ อันเป็นองค์ประกอบที่จะทำให้เกิดความยุติธรรม มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ควรจะเป็น จึงจะเป็นที่หวังได้ว่าทุกคนในสังคม ทั้งในฐานะโจทก์ และจำเลย จะต้องได้รับความเป็นธรรมโดยเสมอภาคกันคือ เมื่อกระทำผิดจะต้องได้รับโทษ และถ้าไม่กระทำผิดก็ไม่ต้องรับโทษ
แต่ถ้าปัจจัย 3 ประการข้างต้น มีข้อบกพร่องข้อใดข้อหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน 2 ข้อแรก เป็นที่เชื่อได้ว่าความไม่เป็นธรรมจะต้องเกิดขึ้นแก่ผู้คนในสังคมแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีสถานภาพต่ำต้อย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเงินหรือในทางสังคม ทั้งนี้จะเห็นจากคดีความเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยที่คนมีฐานะการเงินดี และมีเส้นสายหลุดรอดจากการถูกลงโทษ หรือแม้กระทั่งถูกพิพากษาลงโทษแล้วยังหลบหนีรอดไปได้ และบางรายหลบหนีออกนอกประเทศ ทั้งที่กระบวนการยุติธรรมยังดำเนินการไม่สิ้นสุด และรอจนหมดอายุความแล้วค่อยกลับประเทศ
ในทางกลับกัน ถ้าผู้กระทำผิดเป็นคนยากจน และไม่มีเส้นสาย โอกาสที่จะหลุดรอดเป็นไปได้ยาก และนี่เองน่าจะเป็นที่มาของวลีที่ว่า คุกมีไว้ขังคนจน
ในขณะนี้ ผู้คนในสังคมไทย และแม้กระทั่งในสังคมโลก กำลังให้ความสนใจคดีที่ทายาทกระทิงแดงคือ นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจตายเมื่อปี พ.ศ. 2555 และพนักงานอัยการได้สั่งไม่ฟ้องในปี พ.ศ. 2563 ดังที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมา และในขณะนี้ได้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาทำการสอบสวนข้อเท็จจริงหลายชุด แต่ละชุดที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือ ชุดที่นายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งซึ่งประกอบไปด้วยอาจารย์วิชา มหาคุณ และผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่าน ทั้งนี้ ด้วยเหตุปัจจัยที่ทำให้เป็นที่สนใจดังต่อไปนี้
1. กรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นโดยนายกรัฐมนตรี ผู้นำรัฐบาล ซึ่งกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทุกหน่วยงาน จึงเป็นที่เชื่อได้ว่าผลการสอบสวนของกรรมการชุดนี้ จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าชุดอื่นทุกชุด โดยเฉพาะชุดตั้งกันเองสอบกันเอง เช่น ตำรวจสอบสวนตำรวจ และอัยการสอบสวนอัยการ เป็นต้น
2. อาจารย์วิชา มหาคุณ ซึ่งเป็นประธานของกรรมการชุดนี้ มีชื่อชัดเจนเป็นที่ยอมรับของสังคมในด้านวิชาการ และประสบการณ์ ประกอบกับมีผลงานในอดีตรับประกัน เช่น ผลการสอบสวนในคดีรับจำนำข้าว เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม ในขั้นนี้อย่าเพิ่งคาดหวัง 100% รอให้ผลการสอบสวนออกมาก่อน แล้วจึงค่อยเชื่อว่าเป็นไปตามที่คาดหวัง 100% หรือไม่ เพราะเพียงประธานคนเดียวอาจทำอะไรไม่ได้มาก ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากกรรมการคนอื่น รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลด้วย