xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จับตาพาเหรด “ครูนำเข้า” บินลัดฟ้า ฝ่าโควิด - 19 เสริมทัพการศึกษาไทย...ได้แค่ไหน!?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  เกิดความปริวิตกกรณีรัฐบาลไทยเปิดน่านฟ้ารับกลุ่ม “ครูชาวต่างชาติ” ตามมาตการผ่อนคลายการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของชาวต่างชาติ ภายใต้การกำกับของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โดยเฉพาะกรณี “ครูชาวฟิลิปปินส์” ประเทศที่มีอัตราการแพร่เชื้อโควิด – 19 สูงสุดอันดับ 1 ในอาเซียน ที่เดินทางเข้ามาในเมืองไทยแล้วกว่า 165 คน 

สำหรับครูอาจารย์ชาวต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย จัดอยู่ในกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันให้เดินทางเข้ามาในประเทศ โดยมีข้อกำหนดว่าผู้ที่ดินทางเข้ามาจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของ ศบค. เข้าสู่การกักกันตัวเองตาม Alternative state quarantine อย่างเคร่งครัด

 นายอรรถพล ตรึกตรอง  เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กระทรวงศึกษาธิการ อธิบายถึงประเด็นการนำเข้าครูชาวต่างชาติว่า เป็นไปตามความประสงค์ของโรงเรียนเอกชนทั้งนานาชาติและโรงเรียนทั่วไป ได้ยื่นขออนุญาตมายัง กช. จากนั้นจะส่งเรื่องไปยังกระทรวงการต่างประเทศ และ ศบค. พิจารณาให้ความเห็นชอบ
 
 ในส่วนของครูชาวต่างชาติที่จะเดินทางมายังประเทศไทยมีแหล่งที่มาจากหลายประเทศ ข้อมูลล่าสุด มีจำนวนมากกว่า 3,000 คน ซึ่งครูต่างชาติทุกคนที่จะเข้ามาสอนในโรงเรียนเอกชนต่างๆ จะผ่านกระบวนการคัดกรองโรคอย่างเคร่องครัด ทั้งหมดต้องผ่านการคัดกรองโรคก่อนเดินทางจากประเทศต้นทางก่อน

 เมื่อมาถึงประเทศไทยจะต้องเข้าสถานกักกันโรคตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ ศบค. อย่างเข้มงวด โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดทางครูชาวต่างชาติจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง และหากไม่ผ่านการคัดกรองจะไม่อนุญาตให้สอนในโรงเรียนเอกชนอย่างเด็ดขาด

สำหรับกรณีการนำเข้าครูจากฟิลิปปินส์ จำนวนกว่า 165 คน ที่กำลังเกิดความกังวลกันมากเพราะเป็นประเทศต้นทางที่เกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักนั้น ครูชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่สอนภาษาอังกฤษ เดินทางเข้ามาสอนภาษาตามความต้องการของทางโรงเรียนเอกชน ทั้งครูเก่าที่เดินทางกลับประเทศช่วงปิดเทอม และไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามายังไทยได้ เนื่องจากไม่มีเที่ยวบินในการเดินทาง และครูรายใหม่บางส่วนที่ได้รับการว่าจ้างให้เข้ามาสอน ทั้งนี้ เมื่อทางกระทรวงการต่างประเทศสามารถจัดหาเที่ยวบินให้เดินทางเข้ามายังประเทศไทยได้จึงเดินทางมาพร้อมกันในเที่ยวบินเหมาลำ


อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศฟิลิปปินส์จะมีการแพร่ระบาดของโรคค่อนสูง แต่ทุกคนที่เข้ามายังประเทศไทยต้องผ่านการคัดกรองอย่างเคร่งครัด เช่นเดียวกับครูต่างชาติประเทศอื่นๆ ทั้งจากลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา, อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์, ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และประเทศสิงคโปร์ ซึ่งกำลังทยอยเดินทางเข้ามาตามลำดับ

 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย  กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ศบค. มีข้อกำหนดเรื่องการขยายกลุ่มผ่อนปรนให้ต่างชาติเข้ามาได้โดยไม่ได้จำกัดจำนวน เพื่อเป็นการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ โดยมีการกำหนดและควบคุมอยู่ 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.ต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย จะต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ในอัลเทอร์เนทีฟ สเตทควอรันทีน (Alternative state quarantine) คือจะเข้ามาได้ต้องมีโรงแรมรองรับในการกักตัว ซึ่งผู้ที่เดินทางเข้ามาจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด 2. เที่ยวบินที่จะมายังประเทศไทย ขณะนี้มีจำกัดถือว่าเป็นตัวจำกัดเรื่องอัตราการเข้ามาประเทศอยู่แล้ว และ 3. ต้องเป็นไปตามประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (ก.พ.ท.)

การเข้ามาของชาวต่างชาติ เช่น กลุ่มครูในโรงเรียนนานาชาติ หรือกลุ่มนักธุรกิจ ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ไม่ได้มีการจำกัดจำนวนชาวต่างชาติแบบตายตัว แต่ทุกคนที่เข้ามาย้ำว่าต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และพักในอัลเทอร์เนทีฟ สเตทควอรันทีน ทุกคนต้องให้ความร่วมมือปฏิบัติตามนโยบายสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

ดังนั้น ไม่อาจมองด้วยอคติเพียงมุมเดียวว่าการเข้ามาของครูต่างชาติจากประเทศที่มีอัตราการแพร่ระบเป็นปัญหาเสี่ยงแพร่เชื้อโควิด-19


ฉะนั้น ความปริวิกตกเรื่องการนำเข้าเชื้อโควิด-19 จากการเดินเข้าประเทศของกลุ่มครูต่างชาติคงคลายความกังวลลงได้บ้าง แต่ประเด็นที่น่าห่วงคือกรณีสื่อใหญ่ในเมืองไทยพาดหัวตีตรา  “ฟิลิปปินส์ คือแดนโควิด”   ทำให้สถานทูตฟิลิปปินส์ออกมาตอบโต้ แสดงความไม่พอใจอย่างสุดซึ้งต่อ “พาดหัวข่าว” เกี่ยวกับครูฟิลิปปินส์ที่เดินทางมาสอนในเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขครูชาวต่างชาติที่จะเข้ามาในเมืองไทยมีจำนวนสูงกว่า 3,000 คน เพื่อทำการสอนในโรงเรียนเอกชนต่างๆ นั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าครูสอนภาษาชาวต่างชาติมีบทบาทสำคัญต่อระบบการศึกษาของไทย โดยเฉพาะทักษะภาษาอังกฤษหนึ่งในปัญหาด้านการศึกษาที่ประเทศไทยเผชิญอยู่

 โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาในสังกัดรัฐ นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่าจำนวนครูชาวต่างชาติมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของสถานศึกษา จากการสำรวจเกี่ยวกับความต้องการครูต่างชาติ เพื่อเข้ามาสอนภาษาต่างประเทศและวิชาชีพ มีความต้องการครูประมาณ 20,000-30,000 คน ทั้งนี้ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องหาแนวทางในการจัดหาครูชาวต่างชาติมาสอนในสถานศึกษาของไทย เพื่อยกระดับการใช้ภาษาอังกฤษของเด็กไทย และครูไทยในการต่อยอดพัฒนาความรู้จากครูต่างชาติ 

ย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดประชุมกับสถานเอกอัครราชทูตและหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อหารือแนวทางการรับครูชาวต่างชาติ มาช่วยเสริมกระบวนการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ หรือวิชาอื่นๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษ ตั้งเป้าหมายเพิ่มครูชาวต่างชาติ 10,000 - 28,000 คน วางงบประมาณจ้างครูต่างชาติในปีงบประมาณ 2564 จำนวนหลายร้อยล้านบาท โดยเป้าหมายในการจัดหาครูต่างชาติ ตั้งเป้ายกระดับการใช้ภาษาอังกฤษของเด็กในประเทศ ยกระดับระบบการศึกษาไทย

อย่างไรก็ตาม การจ้างครูต่างชาติมีหลายประเด็นต้องพิจารณา ทั้งในเรื่องความหลากหลายของสำเนียงภาษาอังกฤษ, ใบประกอบวิชาชีพของครูสำหรับชาวต่างชาติ ฯลฯ

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ที่มี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นั่งแท่นรัฐมนตรีฯ ตั้งเป้ายกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ โดยนโยบายในปีงบประมาณ 2564 จะเน้นส่งเสริมและยกระดับทักษะภาษาอังกฤษ (English for All) และพัฒนาครูให้มีทักษะภาษาอังกฤษ

สนับสนุนเดินหน้าโครงการต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เปิดห้องเรียน Mini English Program (MEP) ในกลุ่มโรงเรียนประจำอำเภอและโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้วางทิศทางการพัฒนาภาษาครูและเด็กอาชีวะ เป็นต้น


 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พบว่า ผลการสอบ O-NET วิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 ยังต่ำกว่าวิชาอื่นๆ ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยนได้คะแนน 20 – 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน 


 นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับทักษะด้านภาษาอังกฤษของคนไทยจากแหล่งที่มาต่างๆ ยังคงบ่งชี้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังขาดทักษะภาษาอังกฤษ กลัวการใช้ภาษาอังกฤษ ตัวอย่าง กผลสอบ EF English Ranking ผลสำรวจการวัดระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษจากทั่วโลกพบว่า ในปี 2018 ประเทศไทยถูกจัดอันดับที่ 64 และตกลงมาอยู่ลำดับที่ 74 ในปี 2019 ซึ่งเลื่อนลงมาจากกลุ่ม “ความสามารถทางภาษาอังกฤษต่ำ” ลงไปสู่กลุ่ม “ความสามารถทางภาษาอังกฤษต่ำมาก” เป็นต้น  

จะเห็นว่าในส่วนนโยบายด้านการศึกษาของไทยต้องการครูชาวต่างชาติเข้ามาเสริมทัพ เพิ่มความแข็งแกร่งด้านทักษะภาษาต่างประเทศให้เด็กไทยซึ่งเป็นอนาคตของชาติ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาในสังกัดของรัฐ ต้องการครูต่างชาติสำหรับการสอนทักษะวิชาภาษาอักกฤษและวิชาอื่นๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษ


 เป็นโจทย์ใหญ่ของ “กระทรวงศึกษาธิการ” ในการจัดหา “แม่พิมพ์ต่างชาติ” ที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบการศึกษาไทย เพราะในความเป็นจริงชาวต่างชาติที่เข้ามาสอนภาษาในเมืองไทย ยังมีน้อยคนนักที่เป็น “ครูมืออาชีพ” 




กำลังโหลดความคิดเห็น