xs
xsm
sm
md
lg

เสมา 1 ผลักดันผู้ตรวจราชการ ศธ.กลไกสำคัญขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




รมว.ศธ. ผลักดันผู้ตรวจราชการ ศธ. ให้เป็นกลไกลขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวง พร้อมหนุนการพัฒนาระบบข้อมูล เพื่อให้การตรวจราชการมีความถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ


ที่ประชุมคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล การจัดการศึกษาของกระทรวง​ศึกษาธิการ​ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม​ 2563 ที่ผ่านมา โดยมีนาย​ณัฏ​ฐ​พล​ ที​ป​สุวรรณ​ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​ศึกษาธิการ​ เป็นประธานการประชุม

นอกจากนี้ ยังมี นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการ​สภาการศึกษา, นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวง​ศึกษาธิการ, ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ​ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องประชุม​ราชวัลลภ นายณัฏฐพล กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการ​ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล การจัดการศึกษาของกระทรวง​ศึกษาธิการ ลงวันที่ 24 มีนาคม​ 2563 โดยมีตนเองเป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บริหารองค์กรหลัก, ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการศึกษาปฐมวัย, การศึกษา​ขั้นพื้นฐาน, การอุดมศึกษา, การอาชีวศึกษา, การศึกษา​เอกชน, การวิจัยและประเมินผล, การบริหารการศึกษา, ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม, เศรษฐกิจ​ การเงินและงบประมาณ เป็นกรรมการ

นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีการแจ้ง และรับทราบถึงกลไกการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวง​ศึกษาธิการ​ ประจำปีงบประมาณ​ พ.ศ. 2563 โดยได้กำหนดการตรวจราชการในระดับส่วนราชการ สำนักงานศึกษาธิการ​ภาค สำนักงานศึกษาธิการ​จังหวัด และเขตพื้นที่การศึกษา โดยติดตามการขับเคลื่อนนโยบายของผู้บริหาร พร้อมทั้งตรวจติดตามงานที่ไม่บรรลุเป้าหมาย และมีประเด็นความเสี่ยง (Key Risk Area: KRA) ที่จะเป็นอุปสรรค หรือทำให้การขับเคลื่อนนโยบายไม่ประสบความสำเร็จ

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า เพื่อนำข้อมูลมาวินิจฉัยปัญหา​ ให้การสนับสนุน​ ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำต่อหน่วยรับตรวจ รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อผู้บริหารในส่วนกลาง โดยใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศ ทั้งในระดับกระทรวง ส่วนราชการ ภูมิภาค และจังหวัด อาทิ ระบบคลังข้อมูลด้านนักเรียนนักศึกษา​ สถานศึกษา​ บุคลากร และงบประมาณ เป็นต้น รวมถึงการตรวจสอบภายในและธรรมาภิบาลในการบริหารงบประมาณ

อีกทั้งในที่ประชุมยังได้รับทราบการตรวจราชการกรณีพิเศษ (การตรวจ ติดตามนโยบายการจัดการเรียนการสอน ในสถานการณ์​การแพร่ระบาดของ COVID-19​ โดยแบ่งระยะเวลาการตรวจราชการ ออกเป็น 2 รอบ คือ ช่วงก่อนเปิดภาคเรียน ระหว่างวันที่ 10-18 มิถุนายน​ 2563 เพื่อสร้างการรับรู้ และชี้แจงทำความเข้าใจแก่ผู้เกี่ยวข้องในทุกระดับ เกี่ยวกับนโยบายการจัดการเรียนการสอนในช่วง COVID-19​ รวมทั้ง เตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ทั้งด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา​ การจัดการเรียนการสอน ความพร้อมของครู ผู้ปกครอง และชุมชน

และช่วงหลังเปิดภาคเรียนที่ 1/2563 โดยได้ประชุมชี้แจงการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพโรงเรียน การกำกับ ติดตาม ประเมินผล การป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19​ ในสถานศึกษา โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีประเด็นสำคัญ อาทิ การเดินทางไป-กลับ สถานศึกษาของผู้เรียน, รูปแบบการจัดการเรียนการสอน (On-Site, On-Air และ Online)​ มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค, แผนรองรับกรณีพบการระบาดของโรคในสถานศึกษา​ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ในที่ประชุมยังได้รับทราบการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการตรวจราชการ และติดตามประเมินผลการจัดการศึกษา​ของกระทรวงศึกษาธิการ​ (e-Inspection) โดยระบบดังกล่าว จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการให้มีความถูกต้อง (Accuracy)​ สอดคล้องกับงานที่ต้องการใช้ (Relevancy) และทันต่อการใช้งาน (Timelineness)​ เพื่อให้การบริหารงานและการใช้ข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ​

ตลอดจนใช้เป็นเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูลด้านการศึกษา สามารถนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลด้านการศึกษา ทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้

รมว.ศึกษาธิการ​ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้หารือประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล การจัดการศึกษาของกระทรวง​ศึกษาธิการ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ​ โดยจะสนับสนุนและส่งเสริม (Empower)​ ให้ผู้ตรวจราชการทำงานอย่างเต็มที่

“อีกทั้งยังได้หารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่พบจากการลงพื้นที่ตรวจราชการ อาทิ การจัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นต้น พร้อมทั้งวางแผนการติดตามผลการศึกษา​ในช่วง COVID-19​ ที่จะเปิดเรียนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 13 สิงหาคม​ 2563 ด้วย”


กำลังโหลดความคิดเห็น