xs
xsm
sm
md
lg

ทางออกจากโศกนาฏกรรม ก่อนเกิดสงครามการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ


เรารู้อยู่แต่แรกแล้วว่า แม้ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่พัฒนามาเป็นประชาชนปลดแอกจะมี3ข้อ ในทางเปิด คือ ห้ามคุกคาม แก้รัฐธรรมนูญ และยุบสภา กับ 2 จุดยืน คือ ห้ามรัฐประหาร และไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ แต่แท้จริงยังมีจุดมุ่งหมายบางอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง

จากการชุมนุมครั้งหลังพร้อมข้อเสนอ10 ข้อ ชัดเจนว่า ในใจของคนเหล่านี้ยังมีเรื่องการลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ และกำลังสร้างความตระหนกว่า นี่อาจกลายเป็นโศกนาฏกรรมอีกครั้งของสังคมไทย


เห็นได้ชัดว่า คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยอยู่ใต้อิทธิพลทางความคิดของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และปวิณ ชัชวาลพงศ์พันธ์ ที่ลี้ภัยไปต่างประเทศและมีจุดยืนเป็นปรปักษ์ต่อสถาบันอย่างชัดแจ้ง

ผมไม่รู้ว่า รัฐบาลคิดและหาทางรับมืออย่างไร แต่ต้องหาทางออกก่อนจะบานปลายกลายเป็นสงครามทางการเมือง เพราะเมื่อนักศึกษาคิดว่าพวกเขาใช้เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย เรียกร้องต้องการเปลี่ยนแปลง ก็จะมีคนอีกกลุ่มที่เขาก็จะใช้เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่พวกเขาเทิดทูนและศรัทธา

และหากนักศึกษาต้องการกระทำถึงข้อเสนอ10 ข้อเพื่อลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สำเร็จ สิ่งที่พวกเขาต้องทำคือ การลุกฮือให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับ 2475 หรือที่พวกเขาบอกว่า ต้องการการปฏิวัติไม่ต้องการการปฏิรูปนั่นแหละ

การปฏิวัติ 2475ไม่เกิดการนองเลือด เพราะแม้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 สามารถรวบรวมกำลังจากต่างจังหวัดสู้กับฝ่ายปฏิวัติได้ตามที่มีผู้เสนอ แต่ทรงมีรับสั่งว่า “ ไม่อยากให้มีการสู้รบกัน เพราะจะเสียเลือดเนื้อประชาชนเปล่า ๆ” จึงยอมโอนอ่อนผ่อนปรนตามที่คณะราษฎรต้องการ

ดังนั้นเราไม่รู้เลยว่า ถ้าหากนักศึกษาต้องการผลักดันให้บ้านเมืองไปสู่จุดนั้นในยุคนี้ จะจบลงอย่างไร ประชาชนที่เขาเทิดทูนสถาบันเขาจะยอมรับให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นไหม เพราะบทเรียนจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519นั้นเคยปรากฎมาแล้ว หรือกระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐคนที่ถืออำนาจรัฐเขาก็ชอบที่จะใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อปกป้องระบอบของรัฐ

แม้นักศึกษาจะตะโกนถามว่า ฆ่าพี่เราทำไม อันหมายถึงเหตุการณ์ในอดีต แต่ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ไซง่อนแตกในปี 2518 การล้มราชวงศ์ลาวในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ทำให้เห็นแล้วว่า นักศึกษาที่สมาทานกับพรรคคอมมิวนิสต์ มีการชักธงแดงขึ้นที่หน้าหอประชุมธรรมศาสตร์อย่างชัดแจ้ง มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับฝ่ายซ้ายอย่างแพร่หลาย ซึ่งรู้อยู่อย่างไม่ปิดบังอำพรางนั่นแหละว่า ก็มีจุดมุ่งหมายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเช่นเดียวกัน

เมื่อผลลัพธ์อาจเป็นการล่มสลายของระบอบดังที่เกิดขึ้นในอินโดจีนก็ไม่มีใครเขายอมงอมืองอเท้าให้กระทำแต่ฝ่ายเดียว อีกฝ่ายก็มีประชาชนที่ศรัทธามีอำนาจรัฐที่ในมือ จึงเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นกลายเป็นเรื่องเศร้าที่เป็นฝันร้ายของสังคมไทยจนตราบวันนี้

ในครั้งนี้ก็มีเสียงพูดทำนองว่า ถ้าไม่ยอมลดบทบาทลงตามข้อเรียกร้องก็แลกเอากับการเป็นสาธารณรัฐซึ่งพวกเขาฮึกเหิมราวกับว่า ประชาชนในชาติส่วนใหญ่นั้นเห็นพ้องต้องกันที่จะยินยอมให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงรูปแบบบ้านเมืองไปแต่ใจชอบอย่างไรก็ได้

นักศึกษายุค 6 ตุลาคม 2519 มีความห้าวหาญกล้าท้าทายแบบเดียวกับนักศึกษาวันนี้นี่แหละ เพราะฮึกเหิมกับชัยชนะในการโค่นล้มเผด็จการทหารจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มา มีการเคลื่อนไหวที่สอดรับกับพรรคคอมมิวนิสต์ที่กำลังขยายอิทธิพลครอบคลุมอินโดจีน

ต่างกันตรงนักศึกษาสมัยนั้นอาจจะแม่นทฤษฎีถือคัมภีร์มีหลักการต่างกับสมัยนี้ แต่เครื่องมือสื่อสารในขณะนั้นไม่อาจจะสู้กับกระบอกเสียงของรัฐได้ ส่วนนักศึกษาสมัยนี้เท่าที่ฟังดูก็พูดหลักการกว้างๆไม่แม่นทฤษฎีเหมือนกับรุ่นก่อน เพียงแต่สมัยนี้มีเครื่องมือสื่อสารที่กว้างไกลกว่าและมีพลังพอกับเครื่องมือสื่อสารของภาครัฐ

อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องหาทางออกที่คิดว่าดีที่สุด หาทางดูว่าจะปลดชนวนแต่ละเปลาะให้ลุล่วงไปอย่างไร เพื่อระงับความรุนแรงและความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น และเห็นได้ว่าจริงแล้วในข้อเรียกร้องทั้งหมดในทางเปิด 3 ข้อ ไม่ใช่เรื่องที่ยากที่รัฐบาลจะตอบสนองเลย ถ้าการคุกคามคือการติดตามการข่มขู่เจ้าหน้าที่รัฐมีอยู่จริงก็เลิกกระทำเสียไม่ยากอะไร

แต่สำหรับนักศึกษาเมื่อกล้ากระทำการละเมิด การจาบจ้วง การพูดเชิงสัญลักษณ์แต่มีจุดมุ่งหมายต่อสถาบัน หรือการแสดงท่าทีต่อรูปแบบการปกครอง ซึ่งมีกฎหมายปกป้องและป้องกันเอาไว้ ก็ต้องยอมรับผลพวงที่จะตามมา หากมีคนไปแจ้งความตำรวจเขาก็ต้องดำเนินการจะไปว่าเขาคุกคามไม่ได้

วันนี้ต้องยอมรับว่าฝ่ายที่ต้องการลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เขาทำสำเร็จในระดับหนึ่งแล้วคือ ปลุกให้มีคนกล้าคนหนึ่งออกมา แล้วทำให้เด็กนักศึกษาฮึกเหิมและกล้าเดินตาม

เมื่อนักศึกษาเลือกเดินตามแนวคิดที่ปลูกฝังจากผู้ใหญ่ที่ซุกตัวอยู่หน้าคีย์บอร์ดและอยู่ในต่างประเทศและต้องการใช้เด็กเป็นเครื่องมือ เมื่อเลือกเดินตามการปราศรัยของทนายอานนท์ที่หน้าแมคโดนัลด์ ก็จะพาการเคลื่อนไหวไปสู่ความสุ่มเสี่ยง แม้ว่าจะมีเสรีภาพที่จะไม่เคารพศรัทธาก็ตาม เพราะมันกระทบต่อศรัทธาของคนที่เขาเคารพรักเทิดทูนสถาบัน ซึ่งมีบทเรียนมาแล้วในอดีต เพราะประชาชนอีกฝ่ายจะออกมาแสดงพลังต่อต้านและสุดท้ายจะเกิดความรุนแรง ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องยืนข้างสถาบันเพราะเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ

แต่หากถามว่ามีทางออกไหนไหมที่จะพาไทยออกไปก่อนจะลุกลามไปกว่านี้ ผมคิดว่ารัฐบาลต้องรีบตอบสนองต่อข้อเสนอที่จะพอนำไปสู่ทางออกร่วมกันได้ ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและสามารถไขไปสู่ความพึงพอใจของอีกฝ่ายก็คือ การแก้บทเฉพาะกาลเรื่องให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีแล้วกลับไปสู่การเลือกตั้งใหม่ จากนั้นพรรคไหนฝั่งไหนระดมมือ ส.ส.ได้เกินครึ่งก็ได้ตั้งรัฐบาล หากเป็นเช่นนี้เงื่อนไขในการชุมนุมก็จะหมดไป เพราะจะบอกว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือเป็นการสืบทอดอำนาจก็จะกระทำไม่ได้อีก

หากเรามาโฟกัสกันที่แก้รัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้ความชอบธรรมที่จะชุมนุมหมดไป เป้าหมายที่ซ่อนเร้นกับการชุมนุมที่ต้องการกระทบกระเทียบก็ยากที่จะออกมาเคลื่อนไหวในบรรยากาศเช่นนี้ และดูเหมือนว่า มีแนวโน้มที่ดี เพราะตอนนี้ทั้งรัฐบาลและส.ว.ต่างก็ขานรับข้อเสนอนี้เพราะคงเห็นแล้วว่านี่เป็นทางออกที่ดีที่สุดก่อนจะบานปลายไปเป็นปัญหาอื่น


แต่หากปล่อยไปสิ่งที่น่าห่วงสำหรับการเคลื่อนไหวของเหล่านักศึกษาและคนรุ่นใหม่ตอนนี้เท่าที่ดูสำคัญที่สุดก็คือ การควบคุมดูแลกันให้ได้ของผู้ชุมนุม ซึ่งเท่าที่มีประสบการณ์ในการชุมนุมมาก่อน เห็นชัดๆว่า ยากที่จะควบคุมกันได้ ยังไม่มีผู้นำที่เด่นชัดที่จะเป็นศูนย์รวมใจให้ม็อบมีความเป็นเอกภาพได้ เห็นแต่ความมุทะลุห้าวหาญอย่างไม่กลัวดินฟ้าและไร้กฎเกณฑ์ โดยมีผู้ใหญ่คอยให้ท้ายอยู่หน้าคีย์บอร์ด แต่ไม่ยอมลงมาเดินเคียงข้างกับนักศึกษา แม้จะรู้ว่า เป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดความรุนแรง เพราะคนรุ่นตัวเองเคยมีบทเรียนมาแล้ว

และเห็นได้ว่า ผู้ปราศรัยไม่น้อยมองเพื่อนร่วมชาติที่มีความเห็นต่างทางการเมืองและมีจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลอย่างเย้ยหยัน มีความเร่าร้อนขุ่นข้องราวกับโกรธเคืองสังคมไทยที่เป็นอยู่ ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองคิดนี่แหละ ที่น่าจะอันตรายกว่า เพราะง่ายต่อการนำไปสู่ความรุนแรง

ดังนั้นจากสถานการณ์ ณ ตอนนี้ ผมคิดว่า เรากำลังเดินเข้าไปในถ้ำลึกที่ไม่มีทางออก และยิ่งลึกออกซิเจนยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ ไม่มีใครฟังใครๆ ไม่มีใครเชื่อใครไม่วางใจต่อกัน และมองเพื่อนร่วมชาติที่เห็นต่างเป็นศัตรูที่ต้องฟาดฟันให้ย่อยยับกันทั้งสองฝ่าย

เราต้องยอมรับว่า ณ ขณะนี้ฝั่งหนึ่งผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกมามากมีบทเรียนจากอดีต วันนี้แอบอยู่ข้างหลังยุยงปลุกปั่นให้ท้ายเด็กเยาวชนให้ออกมาสู้ กระทั่งผลักดันให้ทำหลายเรื่องที่สุ่มเสี่ยงไม่มีกฎเกณฑ์ เราจึงเห็นม็อบไปชุมนุมที่ตีนศาลครั้งแรก เห็นสมยศ พฤกษาเกษมสุข คนเดียวที่ไปที่ชุมนุม แต่ไม่เห็นพวกรุ่นใหญ่ที่นั่งให้ท้ายอยู่หน้าคีย์บอร์ดเลย

ขณะที่อีกฝั่งก็หมิ่นแคลนกลุ่มคนที่ออกมาชุมนุม มองเห็นแต่ด้านลบของคนที่ออกมา พร้อมที่จะเอาม็อบออกมาชนกันบนท้องถนน เพื่อเปิดทางให้เกิดความวุ่นวายและกลายเป็นเงื่อนไขของการรัฐประหารเข้ามาชุบมือเปิบอีกครั้ง

สถานการณ์ตอนนี้เหมือนเลยเวลาที่จะมาพูดคุยกันแล้ว ต่อให้มีเวลามีเวทีก็ไม่มีวันจะมานั่งพูดคุยกันได้ เพราะไม่มีความไว้ใจกันและกัน สองฝั่งต่างเชื่อมั่นว่าตัวเองถูกและอีกฝ่ายผิด และพร้อมที่จะใช้กำลังกันทั้งสองฝ่าย ไม่มีคนกลางๆ ที่จะทำให้คนสองฝ่ายรับฟังหันมาหาทางออกร่วมกัน เพราะใครต่อใครต่างๆ ก็มีฝักฝ่ายและจุดยืนทางการเมืองไปทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้น

หากจะพอเห็นทางออกอยู่บ้าง ก็คงอย่างที่ผมว่าไว้ในการเคลื่อนไหว 3 ข้อที่เขาเรียกร้องคือเลิกคุกคาม ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วยุบสภา ผมว่าเป็นข้อเสนอที่พอรับฟังได้ มานั่งพูดคุยหาทางออกกันได้ ถ้ามันจะเป็นทางออกให้เราออกจากถ้ำมืดในเวลานี้ หากไม่เช่นนั้นแล้วก็ยากที่จะยุติความขัดแย้งลงได้ และมองเห็นแต่ความรุนแรงรออยู่เบื้องหน้า

ตอนนี้จึงอยู่ในภาวะดึงปลายเชือกอย่างสุดแรงกันคนละด้าน พร้อมจะห้ำหั่นให้คะมำหงายกันทั้งสองฝ่าย เราจะปล่อยให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นในชาติบ้านเมืองของเราจริงๆ หรือ

ลองนึกดูว่าทางออกไหนที่จะพาออกจากการที่จะเกิดเหตุการณ์แบบ 6 ตุลาคมอีกรอบ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อผลลัพธ์ที่เราอาจคาดไม่ถึง หรือต้องช่วยกันคิดว่ามีทางไหนที่จะออกแบบที่จบลงด้วยความพอใจของทุกฝ่ายได้


มันดูยาก แต่เราต้องช่วยกันหาทางออกให้เจอก่อนประเทศจะกลายเป็นมิคสัญญีเพราะคนไทยแบ่งฝ่ายห้ำหั่นกันเองอีกครั้ง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น