xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้การเมืองส่อบานปลาย แก๊งปั่นในโซเชียลฯช่วยจุดไฟ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

"ซูเปอร์โพล" ชี้อารมณ์ประชาชน"ไม่โอเค" กับรัฐบาล 81.6% มองปัญหาการเมืองจะรุนแรง ลุกลามบานปลาย การทุจริต คอร์รัปชันยังอยู่ในระดับรุนแรง ชำแหละกระบวนการปั่นกระแส สร้างวาทกรรมการเมืองในโซเชียลฯ

นายนพดล กรรณิกา ผอ.นักวิจัยซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง อารมณ์ประชาชน จากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 16,099 ตัวอย่าง ในโลกโซเชียลฯ และเสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม 2,459 ตัวอย่าง ช่วงวันที่ 5-8 ส.ค. พบว่าส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 81.6 ระบุ ปัญหาการเมืองจะรุนแรง ลุกลามบานปลาย ในขณะที่ ร้อยละ 18.4 ระบุ ไม่รุนแรง นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.9 ระบุ ปัญหาศก.จะรุนแรง ลุกลามบานปลาย คนตกงานเพิ่มขึ้น ในขณะที่ ร้อยละ 12.1 บอกไม่รุนแรง

ที่น่าเป็นห่วงคือส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 62.2 ระบุ ปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน อยู่ในระดับรุนแรง ในขณะที่ร้อยละ 37.8 ระบุ ไม่รุนแรง นอกจากนี้ ผลสำรวจพบว่า ก้ำกึ่งกันคือ ร้อยละ 49.1 อดทน ยอมรับได้ต่อปัญหาทุจริต ถ้าตนเองได้ประโยชน์ ในขณะที่ ร้อยละ 50.9 ระบุ ไม่ทนต่อปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน แม้ตนเองจะได้ประโยชน์

ส่วนผลการสำรวจจากเสียงประชาชนในโลกโซเชียลฯ พบว่า อารมณ์ประชาชนในโลกโซเชียลฯ ต่อข้อความการเมือง แต่ละข้อความที่สำคัญ มีการปล่อยออกมาอย่างเป็นระบบ มีการเคลื่อนไหวในลักษณะลูกคลื่น รับช่วงต่อเป็นทอดๆ ของกลุ่มการเมือง จากนั้นแกนนำนักเคลื่อนไหว จะนำข้อความการเมืองมาพูดซ้ำ และได้รับการพาดหัวข่าวแพร่สะพัด กระจายเป็นไวรัล (viral) ในโลกโซเชียลฯ

ยกตัวอย่าง 14 ก.ค. มีผู้ใช้นามแฝง ปล่อยข้อความเข้าสู่โลกโซเชียลฯ ว่า " ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส ใครก่อขบฐกับรัฐบาล คนนั้นคือวีรบุรุษ" ให้สังเกตคำว่า “ขบฐ” จงใจเขียนถูกเขียนผิดหรือไม่ และตอนนั้นไม่แรง ต่อมาในวันที่ 17 ก.ค.ได้ปล่อยข้อความเดียวกันออกมาอีกครั้ง โดยมีเครือข่ายตอบรับเพิ่มอีกเล็กน้อย แต่ต่อมากลายเป็นไวรัล (viral)ใน วันที่ 7 ส.ค. ขึ้นสู่หลักล้าน

ที่น่าพิจารณาคือ คลื่นอารมณ์ของประชาชนในโลกโซเชียลฯ ที่ก่อตัวเกิดขึ้นต่างวัน และห้วงเวลาแบบกระจัดกระจาย กำลังมารวมตัวกัน ในห้วงเวลาเดียวกันเป็นก้อนใหญ่ ระหว่างวันที่ 6 ส.ค. เป็นต้นไป และมีศักยภาพ จะกลายเป็น สึนามิ ได้อย่างน่ากลัว ถ้ามีการเชื่อมโยงกันได้ระหว่างอารมณ์ประชาชนในโลกโซเชียลฯ กับโลกความเป็นจริง ตามยุทธการ (Online–Onground) โดยแต่ละข้อความการเมือง มีช่องทางใน 2 การสื่อแตกต่างกัน ในการศึกษาครั้งนี้พบข้อความที่ว่า“คณะประชาชนปลดแอก” ใช้ทวิตเตอร์ร้อยละ 57.2 น้อยกว่าข้อความอื่นๆ เช่น ข้อความที่ว่า “เยาวชนปลดแอก” ใช้ทวิตเตอร์ร้อยละ 91.3 โดยข้อความว่า คณะประชาชนปลดแอก หันไปใช้สำนักข่าวต่างๆ มากถึง ร้อยละ 20 แต่ถ้าข้อความที่ว่า “ให้มันจบที่รุ่นเรา”จะใช้อินสตาแกรม ร้อยละ 13.6 และ ใช้ทวิตเตอร์ ร้อยละ 79.8 ในขณะที่ ข้อความการเมือง ที่ว่า ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส ได้ใช้ทวิตเตอร์ ร้อยละ 85.2 และ ใช้วิดีโอ ร้อยละ 8.8 ตามด้วย ข่าว ร้อยละ 4 เป็นต้น

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า อารมณ์ประชาชน กำลังปรับทิศทางเข้าหากัน โดยเริ่มจากอารมณ์ประชาชนในโลกโซเชียลฯก่อน และเมื่อลุกลามมานอกโลกโซเชียลฯ ก็จะทำให้เกิดคลื่นมวลประชาชน ออกมาแสดงตนต่อปัญหาทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน

ทั้งนี้ จากการย้อนดูข้อมูลในช่วง2-3เดือน ที่ผ่านมา พบว่า คลื่นอารมณ์ประชาชนที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งรัฐบาลเป็นผู้ก่อ จากการแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรี และปัญหาภายในพรรคพปชร. ทำให้เกิดก้อนคลื่นอารมณ์ ประชาชนที่ “ไม่โอเค” กับความวุ่นวายภายในรัฐบาล และมารวมตัวกับก้อนคลื่นอารมณ์ประชาชนที่อยู่ในโลกโซเชียลฯ จากการออกมาแสดงความไม่โอเค ต่อรัฐบาล ที่นำโดยม็อบ เยาวชนปลดแอก และคณะประชาชนปลดแอก ที่กำลังนำไปสู่สถานกาณ์ที่เปราะบางของบ้านเมืองในอนาคตอันใกล้ จนยากจะหาทางออกได้ในเวลานี้


กำลังโหลดความคิดเห็น