ยังคงใช้ได้ และขลังเสมอกับคำกล่าวที่ว่า “สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” หรือว่า “โง่มาก่อนฉลาด” และตัวพิสูจน์ให้เห็นชัดในประเด็นนี้คือเชื้อโรค “โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่” ซึ่งระบาดนานกว่า 7 เดือน และยังไม่มีวี่แววว่าจะหยุดยั้งเมื่อไหร่
และเป็นช่วงเวลาและปรากฏการณ์ใหม่ ที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และด้านระบาดวิทยา หรือที่เกี่ยวข้อง ต้องมาเริ่มต้นศึกษาเกือบจะพร้อมกันหมดทั่วโลก มีข้อพิสูจน์ให้เห็นอีกว่าความเชี่ยวชาญที่มี แทบช่วยเหลืออะไรไม่ได้
จะเห็นได้ว่าบรรดาผู้รู้มีการลองผิดลองถูกทฤษฎี ข้อสมมติฐานและวิทยาการใหม่ ตามความเชื่อ พื้นฐานการศึกษาและประสบการณ์ที่สะสมด้านเชื้อโรคมานาน
เชื้อโคโรนาไวรัสได้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนต้องหน้าแตก ยอมรับว่าประเมินสถานการณ์และวิเคราะห์โรคผิดพลาด แม้แต่องค์การระดับสากลด้านสุขภาพ เช่นองค์การอนามัยโลก หน่วยงานมีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกาก็ยังพลาดประเมินผิดมาก
ทำให้เกิดความเสียหายมหาศาลด้านชีวิตของประชาชน ภาระหนักหนาสาหัสสำหรับวงการแพทย์ ระดับคุณภาพของการรักษาพยาบาล และฟ้องให้เห็นความไม่พร้อมในการรับมือการระบาดของเชื้อโรคร้ายแรงอย่างรวดเร็ว เฉียบพลัน
ต้องปิดเมือง จำกัดความเคลื่อนไหวของประชากร เกิดความเสียหายหลายด้าน มีคนติดเชื้อโรคนี้เกือบ 15 ล้านคน และเสียชีวิตแล้วกว่า 6 แสนคนทั่วโลก ทั้งยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดยั้ง เพราะมาตรการต่างๆ ที่ใช้มีทั้งช่องโหว่ ข้อบกพร่อง
คนอเมริกันครองแชมป์แบบไร้คู่ท้าชิงด้วยตัวเลขคนติดเชื้อสะสมรวม 3.89 ล้านคน เสียชีวิต 1.43 แสนคน ศูนย์กลางของการระบาดอยู่ในรัฐชายแดนภาคใต้ และลามไปรัฐแคลิฟอร์เนีย ดูตัวเลขและปัญหาแล้ว ยังต้องรอนานกว่าจะเอาอยู่
ช่วงนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และโรคระบาดของสหรัฐฯ เริ่มตาสว่าง มีความเห็นเช่นเดียวกันว่าการสวมหน้ากากอนามัยเป็นทางเดียวที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ หลังจากที่เสียงแข็งตามหลักวิชาว่าคนทั่วไป ไม่ป่วยไม่ต้องสวมหน้ากาก
บัดนี้มายอมรับว่าถ้าสวมหน้ากากก่อนหน้านั้น ตัวเลขคนติดเชื้อคนตายคงจะไม่สูงเท่านี้ และผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจคงไม่เป็นวงกว้าง ด้วยเหตุที่ธุรกิจต่างๆ ทั้งใหญ่และเล็กก็ล้มละลายและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเพราะไปต่อไม่ได้
นับว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ที่ผู้เชี่ยวชาญอเมริกันต้องไปเสียเวลาถกเถียงกันเรื่องควรสวมหรือไม่ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันตัวเองและไม่ให้ผู้อื่นติดเชื้อรวมทั้งผู้ไม่มีอาการ ผู้เชี่ยวชาญต้องแข่งขันด้านภูมิปัญญาและความรู้หลายเดือน
นั่นคือ ดร.แอนโธนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และการติดเชื้อ หัวหน้าทีมเฉพาะกิจประจำทำเนียบขาว ผ่านงานกับประธานาธิบดีมาแล้ว 6 คน ถือว่าอยู่นานมาก ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับการระบาดของเชื้ออีโบลาในแอฟริกา
ก่อนหน้านี้ ดร.เฟาซีประกาศชัดเจนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมว่าคนปกติไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย ตอนนี้เปลี่ยนท่าที ว่าการสวมหน้ากากช่วยให้ปลอดภัยและควบคุมการระบาดได้ โดยเฉพาะการเข้าไปอยู่ในกลุ่มคนหมู่มาก
อีกรายคือ ดร.โรเบิร์ต เรดฟิลด์ เป็นหัวหน้าศูนย์ควบคุมและป้องกันการระบาดของเชื้อโรคระบาด ซึ่งเคยบอกว่าถ้าไม่ป่วยก็ไม่ต้องซื้อหน้ากากมาสวมให้เป็นภาระผู้อื่น ก็เปลี่ยนจุดยืน หันมาผลักดันให้คนอเมริกันสวมหน้ากากอย่างจริงจัง
อีกรายคือ ดร.เจอโรม อดัมส์ ตำแหน่งแพทย์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ก่อนหน้านี้บอกว่าคนอเมริกันไม่ต้องแย่งกันซื้อหน้ากาก ไม่จำเป็น ถ้าไม่ป่วยติดเชื้อ
ทั้ง 3 รายมาแนวเดียวกัน เปลี่ยนท่าที ประสานเสียงให้คนอเมริกันสวมหน้ากากเพื่อความปลอดภัย เพราะได้เรียนรู้แล้วว่าการระบาดมีหลากหลายสายพันธุ์ และเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แม้คนไม่แสดงอาการต้องสามารถเป็นพาหะได้
ที่หนักหนาสาหัสที่สุดคือคำประกาศของผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ที่อ้างว่าคนปกติไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากาก โดยไม่ตระหนักว่าคนป่วยไม่แสดงอาการก็ยังมีอีก ถือว่าเป็นความเสี่ยงสำหรับสมาชิกครอบครัว ในกรณีมีผู้ติดเชื้อมาใกล้ชิด
ภายหลังก็มาเปลี่ยนแนวคิด หลังจากมีหลักฐานของการระบาดว่าเป็นไปอย่างรวดเร็ว เชื้อโรคมีผ่าเหล่ากลายพันธุ์กว่า 1 พันชนิด มีทั้งพวกไม่แสดงอาการชัดเจน
อันที่จริง เรื่องหน้ากากอนามัยไม่ควรจะเป็นประเด็นใหญ่ เพราะวิกฤตเช่นนี้เกิดขึ้นมาประมาณ 100 ปี ในการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน และสามารถหยุดชะงักได้เพราะการสวมหน้ากากอนามัย มีคนเสียชีวิตกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก
บรรพบุรุษของฝรั่งผิวขาวทำเป็นตัวอย่าง สวมหน้ากากอนามัยสู้กับไข้หวัดสเปน แต่คนรุ่นปัจจุบันมองไม่เห็นความสำคัญแถมยังมีพวกดื้อด้านดักดานอ้างสิทธิ เสรีภาพ อ้างศาสนา ไม่สมควรที่ใครจะออกกฎหมายมาปิดกั้นการหายใจของตนเอง
ที่น่าเหลือเชื่อก็คือ บรรดาคนที่คิดเช่นนี้ ไม่เห็นความจำเป็นต้องสวมหน้ากากก็ล้วนอยู่ในประเทศที่อ้างว่ามีระบบการรักษาสุขภาพดีเยี่ยมที่สุดในโลกก็คือสหรัฐฯ อังกฤษ และกลุ่มชาติยุโรป แต่ชาติต่างๆ ในเอเชียสวมหน้ากากมากเมื่อมีปัญหา
คนเอเชีย เช่นญี่ปุ่น เกาหลี จีน รวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คุ้นกับการสวมหน้ากาก ไม่เรื่องเยอะ เพราะเผชิญกับฝุ่นควันพิษพีเอ็ม 2.5 จากไฟป่าและมลพิษเป็นพิษ และมีหน้ากากแทบทุกครัวเรือน เมื่อรักตัวกลัวตาย ก็ต้องรีบสวม
การถือดี รั้นในกลุ่มผู้นำประเทศเช่นโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ และบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ทำให้การป้องกันลำบาก ตัวเองต้องเข้าไปเสี่ยงตายอีกด้วย