ซีเอ็นเอ็น - พวกผู้ประท้วงหลายร้อยคนรวมตัวกันในกรุงลอนดอนเมื่อวันอาทิตย์ (19 ก.ค.) ที่ผ่านมา เพื่อประท้วงมาตรการสวมหน้ากากป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ไม่กี่วันหลังจากรัฐบาลกำหนดมาตรการบังคับสวมหน้ากากยามอยู่ในร้านค้าและห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในอังกฤษ
กลุ่มผู้ชุมนุมหลั่งไหลกันไปยังสวนสาธารณะไฮด์ (Hyde Park) ในแถบตอนกลางของกรุงลอนดอน ส่งเสียงคัดค้านคำสั่งสวมหน้ากาก หลังจากนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แถลงว่า การสวมหน้ากากจะกลายเป็นมาตรการบังคับตามห้างร้านและห้างสรรพสินค้า นับตั้งแต่วันศุกร์นี้ (24 ก.ค.) เป็นต้นไป
ผู้ประท้วงบางส่วนชูป้ายอ้างว่าหน้ากากคือเครื่องมือควบคุมความรู้สึกนึกคิด ส่วนคนอื่นๆ ถือภาพสนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดที่ไร้หลักฐานต่างๆ นานา ในนั้นรวมถึงทฤษฎีโลกแบนและตั้งข้อสมมุติฐานความเชื่อมโยงระหว่าง 5G กับ โควิด
การชุมนุมครั้งนี้จัดขึ้นโดยกลุ่มที่เรียกตนเองว่า Keep Britain Free ซึ่งอ้างบนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของพวกเขาว่าเพื่อสนับสนุน “เสรีภาพการแสดงออก เสรีภาพแห่งการเลือกและเสรีภาพแห่งความคิด” อย่างไรก็ตาม การประท้วงนั้นก่อความสับสนเล็กน้อย เนื่องจากพบเห็นผู้ชุมนุมหลายคนสวมหน้ากาก แสดงออกคัดค้านมาตรการสวมหน้ากาก
ผลการศึกษาจำนวนหนึ่งพบว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ สวนใหญ่แล้วเป็นการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศ และการสวมหน้ากากเป็นหนทางที่เห็นผลที่สุดสำหรับหยุดการแพร่เชื้อจากบุคคลหนึ่งไปยังคนอื่นๆ
แม้มีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดใหญ่มากที่สุดในยุโรป แต่สัดส่วนประชาชนสวมหน้ากากออกไปกลางแจ้งในสหราชอาณาจักร ถือว่าต่ำกว่าชาติอื่นๆในยุโรป โดยผลการศึกษาของ Royal Society และ the British Academy พบว่า มีชาวสหราชอาณาจักรเพียง 25% ที่สวมหน้ากากหรือปิดบังใบหน้าในที่สาธารณะในช่วงปลายเดือนเมษายน ผิดกับในอิตาลีและในสเปน ที่มีสัดส่วนผู้สวมหน้ากากคิดเป็น 83.4% และ 63.8% ตามลำดับ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จอห์นสันระบุว่า ประชาชนจะถูกปรับเงินสูงสุด 100 ปอนด์ (ราว 4,000 บาท) หากไม่สวมหน้ากากยามอยู่ในร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคมเป็นต้นไป จากเดิมที่บังคับสวมหน้ากากเฉพาะอยู่ในระบบขนส่งสาธารณะ
ไม่นานที่ผ่านมา เพิ่งพบเห็นตัวนายกรัฐมนตรีสวมหน้ากากป้องกันโควิด-19 เป็นครั้งแรก ถือเป็นการกลับลำจากจุดยืนเดิม หลังจากในช่วงแรกๆ ของการแพร่ระบาด รัฐบาลของเขาปฏิเสธประสิทธิผลของการสวมหน้ากากป้องกันการแพร่ระบาดมาตลอด
สหราชอาณาจักรเริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผับ, ร้านอาหาร และร้านทำผม กลับมาเปิดบริการอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม และนับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป ลูกจ้างจะสามารถเลือกได้ว่าจะทำงานจากที่บ้านต่อไปหรือไม่
จอห์นสันระบุว่า หากการผ่อนปรนนำร่องต่างๆ ดังกล่าวประสบความสำเร็จ การแสดงในร่วมอาจได้รับอนุญาตให้กับมาจัดแสดงอีกครั้ง เช่นเดียวกับโรงเรียน, มหาวิทยาลัย และสถานรับเลี้ยงเด็กจะกลับมาเปิดทำการนับตั้งแต่เดือนกันยายน
กระนั้นก็ดี แม้สหราชอาณาจักรสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันลงได้อย่างมาก แต่ความพยายามกลับมาเปิดสังคมและเศรษฐกิจต้องเผชิญกับอุปสรรคจากการแพร่ระบาดในระดับท้องถิ่น
ยกตัวอย่างเช่นกรณีที่เมืองเลสเตอร์ต้องกลับเข้าสู่การล็อกดาวน์ 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม โดยปิดภาคธุรกิจที่ไม่มีความจำเป็น ประชาชนได้รับคำแนะนำให้ลดการติดต่อทางสังคม และโรงเรียนปิดการเรียนการสอนเป็นส่วนใหญ่ หลังพบตัวเลขผู้ติดเชื้อดีดตัวสูงขึ้น