ผู้จัดการสัปดาห์ - กำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับ 2 "เมกะโปรเจกต์" 7.7 หมื่นล้านบาท ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ตามแผนงานเปลี่ยนระบบ "สายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน" ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) วงเงิน 66,705.59 ล้านบาท และของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตามแผน โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ 1 วงเงิน 11,668 ล้านบาท ดำเนินการใน 4 จังหวัด ประกอบด้วยเทศบาลนครเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ที่จะได้เงินลงทุน 4 พันล้านบาท ,เทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา 2,124 ล้านบาท, เมืองพัทยา จ.ชลบุรี 3,100 ล้านบาท และ เทศบาลนครนครราชสีมา จ.นครราชสีมา 2,434 ล้านบาท
วันก่อน ครม.เพิ่งรับทราบ รายงานผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ปี 2562 (ข้อมูล ณ เดือนธ.ค.62) เนื่องจาก ครม.มีมติ 31 ม.ค.60 กำหนดให้รายงานคณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ ๆ
ที่ผ่านมา กฟน. มีแผนดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ ที่กฟน. ดูแลและรับผิดชอบระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี และจ.สมุทรปราการ ระยะทางรวม 215.6 กม.
มีกรอบระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2527-2564 รวม 5 แผน ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 48.6 กม. ได้แก่
1) แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 5 และฉบับที่ 7 (โครงการถนนสีลม ปทุมงัน และจิตรลดา) ระยะทาง 16.2 กม.
2) แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2547-2552 (โครงการพหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท) ระยะทาง 24.4 กม.
3) แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551 – 2556 (ฉบับปรับปรุง) ในโครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม) ระยะทาง 6 กม. และในส่วนของโครงการนนทรี ระยะทาง 2 กม.
ขณะที่ ผลการดำเนินการตามแผนงานฯ ณ เดือนธ.ค.62 แผนงาน/โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ระยะทาง 167 กม.
งานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) รวมระยะทาง 25.2 กม. อยู่ระหว่างดำเนินการ 17.2 กม. มีกำหนดแล้วเสร็จ ปี 2563 นี้
"โครงการนนทรี" ระยะทาง 6.3 กม. และ "โครงการพระราม 3" ระยะทาง 10.9 กม. ทั้ง 2 โครงการ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 59.22 จากแผนงานฯ ร้อยละ 60.22 (ช้ากว่าแผนร้อยละ 1)
ขณะที่ แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศ เป็น "สายไฟฟ้าใต้ดินรัชดาภิเษก" รวมระยะทาง 22.5 กม. มีกำหนดแล้วเสร็จปี 64
"โครงการรัชดาภิเษก-อโศก" ระยะทาง 8.2 กม. และ "โครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9" ระยะทาง 14.3 กม.
ทั้ง 2 โครงการ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 21.27 จากแผนงานฯ ร้อยละ 20.00 (เร็วกว่าแผนร้อยละ 1.3)
ขณะที่ แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็น "มหานครแห่งอาเซียน" รวมระยะทาง 127.3 กม.
กฟน.แจ้งว่า มีกำหนดแล้วเสร็จ ปี 2564 อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง และการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 21.27 จากแผนงานที่กำหนด ร้อยละ 22.48 (ช้ากว่าแผนงานร้อยละ 1.21)
มี "โครงการพื้นที่เมืองชั้นใน" ระยะทาง 12.6 กม. อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ ถนนวิทยุ ถนนพระราม 4 ถนนอังรีดูนังต์ ถนนชิดลม และถนนสาทร ระยะทาง 2.1 กม. และอยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง ได้แก่ ถนนหลังสวน ถนนสารสิน ระยะทาง 10.5 กม.
"โครงการในพื้นที่เชื่อมโยงระบบส่งระหว่างสถานีไฟฟ้าต้นทาง" ระยะทาง 7.4 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง : ถนนเจริญราษฎร์ ถนนเพชรบุรี และถนนดินแดง
"โครงการในพื้นที่ก่อสร้างร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น" ระยะทาง 107.3 กม. เป็น "โครงการในพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้า (87.1 กม.) อยู่ระหว่างก่อสร้างได้แก่ สายสีชมพู 17.6 กม. สายสีเหลือง 15.8 กม. สายสีน้ำเงิน 11.4 กม. สายสีเขียวเหนือ 5.5 กม. และสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-บางปิ้ง) 12.5 กม. และอยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง ได้แก่ สายสีม่วง 7.6 กม. สายสีส้ม 10.1 กม. และสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 6.6 กม.
"โครงการในพื้นที่ร่วมกรุงเทพมหานคร" (13.1 กม. ) อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง ได้แก่ ถนนนประชาราษฎร์สาย 1 ถนนทหาร ถนนอรุณอมรินทร์ ถนนบรมราชชนี และถนนพรานนก
"โครงการในพื้นที่การประปานครหลวง" (7.1 กม.) อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ รอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
สำหรับ การเบิกจ่ายงบประมาณ กฟน. ได้วางแผนการเบิกจ่ายเงินในปี 2562 จำนวนเงิน 2,519.744 ล้านบาท ณ เดือนธ.ค.62ได้มีการเบิกจ่ายเงินรวม 1,773.615 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 70.39 ของแผนการเบิกจ่ายฯ และจะเร่งดำเนินการเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือโดยเร็วที่สุด ประกอบด้วย
แผนงานฯ ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) ตามงบลงทุน วงเงิน 9,088.80 ล้านบาท คาดเบิกจ่ายในปี 2562 วงเงิน 692.155 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายไปแล้ว 383.672 ล้านบาท ส่วน "แผนงานฯ รัชดาภิเษก" ตามงบลงทุน 8,899.58 ล้านบาท คาดเบิกจ่าย 536.357 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 236.248 ล้านบาท
สุดท้าย "แผนงานฯ รองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน" วงเงิน 48,717.21 ล้านบาท คาดเบิกจ่าย 1,291.232 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 1,153.695 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณ กว่า 66,705.59 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 1,773.615 ล้านบาท
ตามแผนใหม่ กฟน. ยังได้เร่งดำเนินการ ในระยะทาง 20.5 กม.ให้แล้วเสร็จในปี 2566 ประกอบด้วย พื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงถนนรัตนาธิเบศร์ ช่วงถนนราชพฤกษ์ ถึงถนนกาญจนาภิเษก และช่วงถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ถึงถนนติวานนท์ และพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถนนสุขุมวิท ช่วงซอยสุขุมวิท 81–ซอยแบริ่ง
ล่าสุด ครม. ยังไฟเขียว "ทบทวน" การร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น เพื่อนำไฟฟ้าลงใต้ดิน ในส่วนของ "แผนมหานครแห่งอาเซียน" ใน 5 เส้นทาง ได้แก่
(1) เส้นทางสุขุมวิท (ฝั่งจ.สมุทรปราการ ช่วงสถานีย่อยบางปิ้ง –ถนนเทศบาลบางปู 77)
(2) เส้นทางถนนเพชรบุรี (ซอยสุขุมวิท 63 (เอกมัย) –ถนนรามคำแหง) และถนนรามคำแหง (ถนนเพชรบุรี–ถนนศรีนครินทร์ ช่วงถนนเพชรบุรี –ถนนพระราม 9)
(3) เส้นทางถนนอรุณอัมรินทร์ (เชิงสะพานพระราม 8–ถนนประชาธิปก)
(4) เส้นทางถนนบรมราชชนนี (ถนนจรัญสนิทวงศ์ - ถนนอรุณอัมรินทร์) และ
(5) เส้นทางถนนพรานนก (จรัญสนิทวงศ์ –ถนนอรุณอัมรินทร์)
โดยอยู่ในกรอบวงเงินลงทุนเดิม 66,705.59 ล้านบาท ให้เหตุผลว่า โครงการของสาธารณูปโภคอื่นมีการปรับเปลี่ยน หรือชะลอแผนงาน/โครงการ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการร่วมกันได้ แต่มีแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และการขยายระบบสายไฟฟ้าอากาศมีข้อจำกัดจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าในพื้นที่ได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งเพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าจากการเชื่อมแหล่งจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่ตั้งแต่ต้นสายจนถึงปลายสายให้เป็นระบบสายไฟฟ้าใต้ดินที่สมบูรณ์
ขณะที่ ความคืบหน้าแผนโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าใน 4 เมืองใหญ่ ของกฟภ. ก็มีความต่อเนื่อง หลายแห่งเฟส 1 มีความคืบหน้าไปกว่า 70%
ล่าสุดพบว่า "มหาดไทย" สั่งการให้ กฟภ. 74 จังหวัด (ยกเว้น จ.สมุทรปราการ และจ.นนทบุรี) รายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานก่อสร้าง ตามแผนงานปรับปรุง "ระบบไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดิน 1 จังหวัด 1 ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ" ตลอดเดือน ก.ค.ถึงส.ค.ปีนี้ หลังจากมีการแต่งตั้งให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ใน "คณะทำงานขับเคลื่อนฯ"ไปแล้ว
ส่วนใหญ่ จะพบว่า กฟภ.ได้ลงนามร่วมกับ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับเทศบาลนคร เทศบาลเมือง อบต. แขวงทางหลวง ทางหลวงชนบทไปบ้างแล้ว และ กฟภ. ก็มีโครงการตามกลไกของจังหวัดที่มีอยู่แล้วเช่นกัน
ขณะที่แผนในปี 2563 นี้ อปท.กับ กฟภ. หลายแห่ง มีการว่าจ้างออกแบบบ้างแล้ว และคาดว่า ปี 2564 จะได้เริ่มประกวดราคา ดำเนินการรับปรุงระบบ และดำเนินการ "รื้อถอน"ปี 2564-2566
ทีนี้มาดู "ตัวอย่าง" กฟภ. มีแผนเอาสายไฟลงใต้ดิน 1 จังหวัด 1 ถนน ตรงไหนบ้าง ส่วนใหญ่มีระยะทางรวมระหว่าง 500 ม. ถึง 2 กม.
เริ่มจาก อ.เมืองฯ จ.กําแพงเพชร บน ถ.วิจิตร 2 จากวัดคูยาง ไปสิ้นสุดสี่แยกร้านกิตติโภชนา ,อ.เมืองฯ จ.เชียงราย บน ถ.สิงหไคล จากห้าแยกพ่อขุนสิ้นสุด "จุดตัดถนนสิงหไคล" เขต อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ บนถนนราชพฤกษ์ เชียงใหม่ เริ่มจาก กม. 2+000 (สี่แยกคันคลอง ชลประทาน) สิ้นสุด กม. 3+000 (วงเวียนช้าง)
อ.เมืองฯ จ.ชลบุรี บน ถ.พระยาสัจจา ถ.เพสตรา ถ.วชิรปราการ เริ่มจาก แยก ถ.มนตเสวี ตัด ถ.พระยาสัจจา สิ้นสุดแยก ถ.วชิรปราการ ตัด ถ.โรงพยาบาลเก่า , อ.เมืองฯ จ.นครปฐม บน ถ.หน้าพระ ถึง ถ.ซ้ายพระ เริ่มแยกโรงเรียนราชินี นครปฐม ถึงหน้าร้านสันติเวชฟาร์มาซี, อ.เมืองฯ จ.ปทุมธานี บน ถ.พัฒนสัมพันธ์ - ถ.เทศบํารุง เริ่มจาก ถ.พัฒนสัมพันธ์ แยก ทล.3111 สิ้นสุด ถ.เทศบํารุง แยก ทล.3035
อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมา บน ถ.สุรนารายณ์ ทางหลวง หมายเลข 205 ตอนควบคุม 0500 ทางหลวง หมายเลข 205 ระหว่าง แขวง232+685 230+920 สิ้นสุดที่ 233+085 232+575 , อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น บน ถ.นิกรสําราญ เริ่มจาก รร.เทศบาลสวนสนุก ถึง สวนมิตรภาพขอนแก่น-หนานกิง , อ.เมืองฯ จ.สงขลา บน ถ.ปละท่า เริ่มจาก สี่แยกโรงเรียนอนุบาลสงขลา สิ้นสุดที่ทางแยก ถ.ชลาทัศน์ , อ.เมืองฯ จ.ภูเก็ต บน ถ.ภูเก็ต เริ่มตั้งแต่ แยกตัด ถ.กระตัด ถ.อ๋องชิมผ่าย จนถึงซอยกอไผ่ เขตเทศบาลนครภูเก็ต จะพบว่า ส่วนใหญ่กฟภ.เลือกพื้นที่ ในเขต อ.เมืองฯ และถนนหลวง หรือทางหลวงชนบท เป็นหลัก
มีเพียงพื้นที่ อ.แกลง จ.ระยอง และอ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เท่านั้น ที่เลือกออกมานอกพื้นที่เมือง โดย จ.ระยอง ดำเนินการบน ถ.สุนทรโวหาร เริ่มตั้งแต่ แยกถ.สุนทรโวหาร ตัดกับ ถ.สุขุมวิท สิ้นสุดที่ แยกวงเวียนใน ถ.สุนทรโวหาร และ จ.พังงา บน ถ. ศรีตะกั่วป่า เริ่มจากศาลเจ้า สิ้นสุดที่วัดศรีนิคม นเขตเทศบาลเมืองตะกั่วป่า
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จ ในปี 2566.