xs
xsm
sm
md
lg

ศึก 5 จี สงครามเย็นบนโลกดิจิทัล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"


รัฐบาลอังกฤษ จะออกกฎหมายห้ามบริษัทโทรคมนาคมที่ให้บริการในประเทศของตน ใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยกับเครือข่าย 5 จี ในฤดูใบไม้ร่วงนี้

นายโอลิเวอร์ ดาวเดน รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล แถลงในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ห้ามผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในสหราชอาณาจักร ซื้ออุปกรณ์เครือข่าย 5 จี ของหัวเว่ย หลังจากวันที่ 31 ธันวาคมปีนี้ และให้ถอดอุปกรณ์ 5 จี ของหัวเว่ยที่ติดตั้งไปแล้ว ออกทั้งหมดภายในปี 2027

การสั่งแบนหัวเว่ยครั้งนี้ เป็นการพลิกท่าทีจากเดิมเมื่อต้นปีนี้เอง รัฐบาลอังกฤษ เพิ่งจะอนุญาตให้ติดตั้งอุปกรณ์หัวเว่ยในโครงข่าย 5 จี แบบจำกัด หลังจากมีการตั้งกรรมการตรวจสอบว่า อุปกรณ์หัวเว่ย อาจมีความเสี่ยงที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือจารกรรม ตามข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ หรือไม่ แล้วไม่พบหลักฐานใดๆ

คราวนี้ อังกฤษอ้างว่า คำสั่งห้ามบริษัทผู้ผลิตไมโครชิพที่ใช้ซอฟต์แวร์ หรือเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ขายไมโครชิพให้หัวเหว่ย คำสั่งนี้ของสหรัฐฯ เพิ่งจะออกมาเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมนี้เอง อาจจะมีผลต่อคุณภาพ ประสิทธิภาพของอุปกรณ์เครือข่าย 5 จี ของหัวเว่ยในอนาคต จึงสั่งแบน

โฆษกของหัวเว่ยในอังกฤษ แถลงตอบโต้ว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่องการกีดกันทางการค้า เป็นการต่อสู้ทางเทคโนโลยีเครือข่าย 5 จี ที่สหรัฐอเมริกา และชาติตะวันตกสู้หัวเว่ยไม่ได้จึงใช้ข้ออ้างเรื่องการจารกรรม มากำจัดหัวเว่ยออกไป และการตัดสินใจแบนหัวเว่ยครั้งนี้ เพราะอังกฤษถูกสหรัฐฯ กดดัน

อังกฤษ เป็นหนึ่งในห้าสมาชิกของกลุ่ม “ ดวงตา 5 คู่” หรือ Five Eyes ประกอบด้วย สหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ล้วนแต่เป็นฝรั่งเชื้อสายแองโกล-แซกซอน ที่อพยพออกจากเกาะอังกฤษไปตั้งถิ่นฐานในโลกใหม่ เมื่อ 200 กว่าปีก่อน จับกลุ่มกันเป็นพันธมิตร ช่วยกันสอดส่องความเคลื่อนไหวของรัสเซียกับจีน และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองกัน

สหรัฐฯ ในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ จุดประเด็นกล่าวหา หัวเว่ยว่า เป็นเครื่องมือจารกรรมของรัฐบาลปักกิ่ง และสั่งแบนอุปกรณ์ 5 จี ของหัวเว่ย นอกจากนี้ ยังเที่ยวไปกดดันประเทศในกลุ่ม Five Eyes และประเทศในอียูให้แบนหัวเว่ย ซึ่งที่ผ่านมา มีเพียง ออสเตรเลียที่ทำตาม

หัวเว่ยเป็นบริษัทโทรคมนาคม ที่เป็นผู้นำในเรื่องเทคโนโลยี 5 จี ของโลก เทคโนโลยี และอุปกรณ์เครือข่าย 5 จี ของหัวเว่ยนั้น “ถูกและดี” กว่าคู่แข่งจากโลกตะวันตก จนสามารถขยายตลาดในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ ได้อย่างรวดเร็ว ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศต่างๆ จำนวนมากเลือกใช้เทคโนโลยี และอุปกรณ์ 5 จี ของหัวเว่ยในการพัฒนาระบบ 5 จี ของตัวเอง

นายดาวเดน บอกกับ ส.ส.ในที่ประชุมสภาฯ ว่า การแบนหัวเว่ย จะทำให้การเปิดบริการ 5 จี ของอังกฤษ ต้องล่าช้าออกไปอีก 2-3 ปี และมีต้นทุนเพิ่มขึ้น รวมแล้ว ประมาณ 2 พันล้านปอนด์

เมื่อไม่ใช้ของหัวเว่ย ทางเลือกก็เหลือเพียงโนเกีย และอีริคสัน ผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายจากค่ายสแกนดิเนเวีย ที่พัฒนาเทคโนโลยีได้ช้ากว่า และแพงกว่าหัวเว่ย ผลสืบเนื่องจากการตัดสินใจแบนหัวเว่ย ก็คือ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลก็อาจจะล่าช้าตามไปด้วย

การแบนหัวเว่ยของอังกฤษ เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันแย่งชิงความเป็นใหญ่ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่ผ่านมา อังกฤษและอียูพยายามที่จะวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าร่วมเป็นคู่ขัดแย้ง เพราะมีการลงทุนจำนวนมากในจีน และเศรษฐกิจในประเทศก็ต้องพึ่งพาการนำเข้าการบริโภคจากจีน จึงไม่อยากเป็นศัตรูกับจีน โดยเฉพาะอังกฤษที่แยกตัวออกจากอียูแล้ว

หลิว เสี่ยวหมิง ทูตจีนประจำสหราชอาณาจักรบอกว่า การแบนหัวเว่ยทำให้มีคำถามว่า อังกฤษจะสามารถสร้างบรรยากาศทางธุรกิจที่เป็นธรรมกับบริษัทต่างชาติได้หรือไม่ การแบนหัวเว่ยเป็นการตัดสินใจที่น่าผิดหวัง และผิดพลาดมาก คนอังกฤษจะเป็นผู้รับผลพวงจากการตัดสินใจนี้

การออกกฎหมายความมั่นคงของจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลจีนในฮ่องกง น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจโอนอ่อนตามแรงกดดันของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เรียกร้องให้แบนหัวเว่ย เพราะอังกฤษถือว่า เป็นการละเมิดข้อตกลง เมื่อครั้งส่งมอบอาณานิคมแห่งนี้ให้กับจีน เมื่อ 23 ปีก่อนว่า จะให้ฮ่องกงมีระบบกฎหมายกระบวนการยุติธรรมของตัวเอง ทันทีที่กฎหมายความมั่นคงของจีนมีผลบังคับใช้ รัฐบาลอังกฤษก็ประกาศว่า พร้อมจะให้สัญชาติความเป็นพลเมืองแก่ชาวฮ่องกง 3 ล้านคน

ขณะเดียวกัน แพล็ตฟอร์ม โซเชียลมีเดียชั้นนำของโลก อย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ กูเกิล ก็ประกาศว่า จะไม่ส่งมอบข้อมูลผู้ใช้ให้กับทางการฮ่องกง หากมีการร้องขอมา เพราะถือว่า เป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว แม้ในกฎหมายความมั่นคงจะกำหนดโทษจำคุก และโทษปรับ หากปฏิเสธไม่ส่งมอบข้อมูลผู้ใช้เมื่อได้รับการร้องขอ

ท่ามกลางการแข่งขัน เพื่อชิงความเป็นหนึ่งในเทคโนโลยี 5 จี สงครามเย็นในโลกดิจิทัลระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก ก็ก่อตัวขึ้นแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น