เมื่อวันพุธที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย แถลงเรื่องการทำงานแบบใหม่หรือ New Normal โดยมีเนื้อหาแบ่งออกเป็น 3 ประการสรุปได้ดังนี้
1. ให้ทุกภาคส่วนวางอนาคตของประเทศ โดยการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ปรารถนาดี และอยากจะช่วยประเทศ แต่ไม่เคยมีโอกาสได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศมากขึ้น
2. ให้มีการประเมินผลงานภาครัฐ โดยผู้มีส่วนได้เสียตัวจริง
3. จะมีการทำงานในเชิงรุก โดยจะกำหนดนโยบายสำคัญเร่งด่วนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนโดยรวม โดยให้กระทรวงต่างๆ จัดทำขึ้นเพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และมีการติดตามกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ
จากคำแถลงแนวทางการทำงานของผู้นำรัฐบาลดังกล่าวข้างต้น ถ้าฟังเพียงผิวเผิน และผ่านไปโดยไม่คิดถึงการทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีในอดีตที่ผ่านมา ก็อาจเห็นว่าเป็นของใหม่ และจะช่วยให้อายุของรัฐบาลชุดนี้ทอดยาวออกไปได้ เนื่องจากประชาชนให้โอกาสทำงานตามแนวทางใหม่
แต่ถ้าฟังแล้วนำมาทบทวนและเปรียบเทียบกับหลักการ และวิธีการทำงานของผู้บริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตย หรือแม้แต่รัฐบาลในระบอบเผด็จการที่มุ่งทำงานเพื่อประเทศ และประชาชนโดยรวมแล้ว จะเห็นได้ว่าไม่มีอะไรใหม่ แต่เป็นหลักการและวิธีการที่ผู้นำประเทศจะต้องดำเนินการในทันทีที่เข้ามารับตำแหน่ง และจะต้องปรากฏในการแถลงนโยบายต่อสภาฯ แล้ว มิใช่ทำงานมาจนเกิดความล้มเหลว และประชาชนเริ่มเบื่อหน่าย และมีแนวโน้มอาจจะออกมาชุมนุมขับไล่แล้วค่อยออกมาแถลงเพื่อขอโอกาสทำงานแก้ตัว เพื่อยืดเวลาในการอยู่ในตำแหน่งออกไป และที่เห็นว่าเป็นเช่นนี้ ก็ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้นำประเทศ จะต้องเข้ามารับตำแหน่งพร้อมมีหลักการ และวิธีการทำงานได้ทันที มิใช่ทำไป คิดไปแบบลองผิดลองถูก เพราะตำแหน่งผู้บริหารประเทศ ไม่มีการทดลองงาน แต่มีไว้สำหรับผู้มีประสบการณ์
2. โดยหลักการบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่สามารถกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนประเทศ โดยผ่านทางการเลือก ส.ส.เข้าไปทำหน้าที่แทน
ดังนั้น ถ้าจะฟังเสียงประชาชนก็สามารถฟังจาก ส.ส.ในสภาฯ และยังสามารถฟังเสียงสะท้อนความต้องการของประชาชนโดยผ่านทางสื่อได้ด้วย ไม่ต้องฟังเสียงจากคนที่รัฐบาลเชิญเข้ามาแสดงความคิดเห็น
3. ในการประเมินผลงานของรัฐบาลก็ทำนองเดียวกัน สามารถรับฟังเสียงสะท้อนความต้องการของประชาชนทั้งจาก ส.ส. และจากสื่อแล้วนำมาประเมินผลงานได้ โดยไม่ต้องรอให้มีผู้เข้ามายื่นหนังสือหรือขอเข้าพบแล้วชี้แจงแต่อย่างใด
ดังนั้น ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาลต้องการให้การทำงานของรัฐบาลเป็นไปในทิศทางที่ประชาชนต้องการ ก็ควรที่จะได้ปรับเปลี่ยนแนวทางดังต่อไปนี้
1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาล จะต้องเปิดมองดูรัฐมนตรีคนใน ครม.เมื่อตรวจดูว่าคนไหนที่ประชาชนยอมรับ และไม่ยอมรับในด้านความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม
2. ในขณะที่เปิดตาจะต้องเปิดใจกว้างยอมความเห็นต่าง โดยไม่คิดความเห็นของตนเองมาตัดสินความถูกผิด แต่ให้ยึดความถูกต้องโดยละทิ้งความถูกใจ โดยการเปิดหูฟังคนส่วนใหญ่มาเป็นส่วนประกอบ
3. เมื่อดูแล้ว ฟังแล้ว และได้ข้อสรุปก็ปรับ ครม.โดยการตัดผู้ที่ประชาชนไม่ยอมรับออกไป และนำคนที่ประชาชนยอมรับเข้ามา
ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ก็ลองนำข้อเสนอ 3 ข้อนี้ไปพิจารณาดู ก็จะทำให้แนวทางการทำงานใหม่เป็นไปได้มากขึ้น