ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังเกิดเหตุฆาตกรรมอันเป็นผลมาจากปมพิพาทที่ดินมรดกเลือด 3,800 ไร่ ของ “โกศลานันทน์” ตระกูลใหญ่จันทบุรี โดยมีบุคคลสำคัญเข้าไปเกี่ยวข้องมากมาย ในที่สุด “คดีฆ่าหน้าบัลลังก์” คดีนี้ก็มีความคืบหน้าเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราบได้บุกเข้าจับกุม “นายบุญช่วย เจริญสถาพร” หรือ “ลุงบุญช่วย” และ “นายกิตติพงษ์ เจริญสถาพร” บุตรชายตามหมายจับศาลอาญา ข้อหาเบิกความเท็จต่อศาล, ให้การเท็จต่อเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่และร่วมกันยักยอกทรัพย์
คดีนี้ ตกเป็นข่าวคึกโครมเมื่อ “พล.ต.ต.ธารินทร์ จันทราทิพย์” ใช้อาวุธปืนกล็อก 22 จุด 40 ยิง “นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์” ทนายความชื่อดัง “เสียชีวิต” พร้อมกับ “นายวิจัย สุขรมย์” ทนายความ ขณะกำลังรอพยานฝ่ายจำเลยและรอผู้พิพากษาขึ้นนั่งบัลลังก์นัดสืบพยานฝ่ายจำเลยนัดแรก เพื่อรับฟังการพิจารณาคดีการฟ้องร้องทางแพ่งปลีกย่อยเกี่ยวกับที่ดินผืนดังกล่าว ก่อนที่ พล.ต.ธารินทร์จะถูก “นายธนากร ธีรวโรดม” เสมียนทนายโจทก์ ผู้ใช้อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาลยิงใส่เพื่อระงับเหตุและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บประกอบด้วย “นางสุภาพร ปรมีศณาภรณ์” ซึ่งเป็นภรรยาของทนายบัญชา และ “นายวิชัย อุดมธนภัทร” ทนายโจทย์ ซึ่งเป็นฝ่ายของนายบัญชา
“ชนวนเหตุ” ของการสังหารโหดในครั้งนี้มาจาก “ข้อพิพาทในเรื่องที่ดินมรดก 3,800 ไร่” โดยมีความเกี่ยวพันกับ “ตระกูลโกศลานันท์” ซึ่งเป็นตระกูลเก่าแก่ตระกูลหนึ่งในจังหวัดจันทบุรี และเป็นที่รู้จักของคนเมืองจันทน์อย่างกว้างขวาง
และที่ดินพิพาทนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของ “นายสมพล โกศลานันท์” ก่อนที่ “มูลนิธิอธิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย” จะติดต่อขอซื้อด้วยเงิน 12 ล้านบาท เมื่อปี 2513 โดยใช้วิธีผ่อนชำระ กระทั่งมีการฟ้องร้องดำเนินคดีระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายต่อหลายคดีด้วยกัน
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ “นายบุญช่วย” ที่เพิ่งถูกจับกุม เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทนี้ได้อย่างไร
นายบุญช่วยคือ “น้องชาย” ของ “พระเทพกิตติปัญญาคุณ” หรือ “พระกิตติวุฑโฒ ภิกขุ” แห่ง “จิตตภาวันวิทยาลัย” อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งติดต่อขอซื้อดินผืนดังกล่าวจากนายสมพลในนาม “มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย” ด้วยเงินจำนวน 12 ล้านบาท เมื่อปี 2513
นายบุญช่วยก็คือคนที่ว่าจ้าง “นายบัญชา ปรมีคณาภรณ์” ให้มาเป็นทนายในการทำคดี ขณะที่ พล.ต.ต.ธารินทร์ จันทราทิพย์ ก็คือ อดีตสามีของ “เขมจิรา บัณฑูรนิพิท” ซึ่ง น.ส.เขมจิรา ก็คือลูกสาวของ นางภาพร(ชื่อเดิมพรรณี) อุดมโพธิพร (โกศลานันท์) บุตรสาวคนโตของนายสมพล
และคดีฟ้องร้องที่เกิดขึ้นก็เป็นผลมาจากการที่นายบุญช่วยอ้างว่า ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์โดยชอบธรรมของตัวเอง ขณะที่ “โกศลานันท์”ฝั่ง “เขมจิราและพล.ต.ต.ธารินทร์” ไม่ยินยอมด้วยต้องการให้ที่ดินผืนนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย ตามเจตนารมณ์ที่นายสมพลปรารถนา
เหตุที่ต้องใช้คำว่า “โกศลานันท์” ฝั่งที่มี “เขมจิรา และพล.ต.ต.ธารินทร์” ก็เพราะมี “โกศลานันท์ส่วนหนึ่ง” ถูกตั้งคำถามว่า เป็นฝั่งเดียวกับนายบุญช่วยหรือไม่ ด้วยได้ไปเซ็นยินยอมยกที่ดินให้กับนายบุญช่วย นั่นก็คือ นายเรวัติ โกศลานันท์ นายกำพล โกศลานันท์และนายเกษม โกศลานันท์
พระกิตติวุฑโฒที่โด่งดังเป็นพลุแตกในขณะนั้น และไม่ต่างจาก “อดีตพระเดชพระคุณหลวงพ่อธมฺมชโย” แห่ง “วัดพระธรรมกาย” ในขณะนี้ ได้มีนโยบายต้องการซื้อที่ดินจำนวนมากเพื่อนำมาเป็นที่กัลปนาผล คือ นำดอกผลมาบำรุงพระศาสนา จึงได้ก่อตั้ง มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุ ขึ้น เพื่อบริหารจัดการในเรื่องดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งจะทำเป็นวิทยาลัยเกษตรของสงฆ์ ให้ลูกหลานชาวบ้านมาเรียนเกี่ยวกับการเกษตรพืชผล จบแล้วให้ทำเกษตร ณ ที่เหล่านั้นเลย แล้วนำดอกผลทั้งหมดมาบำรุงพระศาสนา ส่วนหนึ่งจะทำเป็นที่ฝึกสมาธิวิปัสสนานานาชาติ ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้พระไตรปิฎกและอื่นๆ
นายสมพลได้ฟังโครงการจึงเกิดศรัทธา และยินดีขายที่ดินจำนวน 86 แปลงเนื้อที่ 3,800 ไร่ให้ในราคาแบบทำบุญคือตกอยู่ที่ไร่ละ 3,000 บาท เป็นจำนวนเงินรวม 12 ล้านบาท โดยพระกิตติวุฑโฒได้ขอซื้อแบบผ่อนชำระ พร้อมทั้งเรี่ยไรผู้มีจิตศรัทธามาบริจาคซื้อที่ดิน
แต่เมื่อพระกิตติวุฒโฑได้มรณภาพลงในปี 2548 นายบุญช่วยและบุตรชายกลับเริ่มวางแผนที่จะเข้าครอบครองที่ดินผืนดังกล่าวมาเป็นของตนเอง โดยในปี 2550 นายบุญช่วยได้ไปยื่นเรื่องฟ้องร้องนายเรวัฒิ โกศลานันท์ ลูกชายของนายสมพล ในฐานะเป็นผู้รับมรดกเพื่อให้โอนที่ดินดังกล่าวมาเป็นของตัวเอง โดยมีนายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความชื่อดังเป็นทีมทนายความ กระทั่งศาลจังหวัดจันทบุรีมีคำพิพากษาให้ทายาทของนายสมพลโอนที่ดินดังกล่าวไปเป็นชื่อของนายบุญช่วยตามที่ร้องขอ
จากนั้นปี 2554-2555 นายบุญช่วยได้ไปยื่นขอเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก.เป็นโฉนดที่ดินเพื่อทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น ทาง น.ส.เขมจิรา บัณฑูรนิพิท และ พล.ต.ต.ธารินทร์ จันทราทิพย์ ซึ่งเป็นทายาทรุ่นหลานของนายสมพลจึงเริ่มพบเห็นความผิดปกติ และเกิดความไม่พอใจเพราะเห็นว่าที่ดินดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางศาสนาตามวัตถุประสงค์เดิม จึงเกิดการฟ้องร้องเป็นคดีขึ้นหลายคดี แต่เป็นทางฝ่ายทายาทที่แพ้คดีมาโดยตลอด
อย่างไรก็ดี คดีกลับมาพลิกเมื่อมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยได้มาแจ้งความดำเนินคดีต่อนายบุญช่วยฐานยักยอกทรัพย์ตั้งแต่ปี 2561 และกองปราบปรามได้รับคดีไว้เป็นคดีอาญาที่ 21/2561
“จากข้อมูลหลักฐานที่ได้รับขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนพอสมควรว่ามูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย ซึ่งน่าจะเป็นเจ้าของที่ดินที่แท้จริง แต่ก็ขอใช้เวลาในการตรวจสอบพยานหลักฐานให้แน่ชัดอีกครั้ง”พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผบก.ป. กล่าวถึงคดีข้อพิพาทที่ดินจำนวน 3,800 ไร่เมื่อครั้งที่เกิดเหตุคดีฆ่าหน้าบัลลังก์
จากนั้นได้ดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงจนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานนำไปสู่การออกหมายจับ และเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ชุดคลี่คลายคดีก็บุกเข้าจับกุมนายบุญช่วยพร้อมบุตรชาย ในข้อหาเบิกความเท็จต่อศาล, ให้การเท็จต่อเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่และร่วมกันยักยอกทรัพย์
พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป. กล่าวว่า เบื้องต้นในการสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งสองยังให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ซึ่งมีรายงานจากชุดจับกุมว่าในการตรวจค้นที่บ้านพักขณะจับกุมไม่พบเอกสารหลักฐานใดเกี่ยวกับการครอบครองที่ดิน แต่ในทางคดีนั้นทราบอยู่แล้วว่าผู้ต้องหาไม่มีเอกสารซื้อขาย แต่เป็นการสร้างหลักฐานเท็จโดยฟ้องศาลเพื่อให้ได้เอกสาร น.ส.3 เป็นของตนเองและโอนชื่อเป็นตนเองในปี 2553 อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ในการสร้างหลักฐานเท็จนั้นต้องมีคนร่วมกระทำผิดมากกว่า 2 ราย แต่บางคดีก็หมดอายุความไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้หนักใจเพราะมีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุจริง
“หลังต่อสู้คดีมาหลายสิบปี เมื่อนายบุญช่วย กับบุตรชายถูกจับ จึงมาที่กองปราบเพื่อรอพบเจอ เพราะตนอยากให้พวกเขายอมรับความจริงว่านายสมพล ขายที่ดินให้พระกิตติวุฒโท ในนามมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุจริงหรือไม่ และจะชี้แจงอย่างไร สำหรับคดีที่ นายบุญช่วย ฟ้องร้องตนเองฐานฟ้องเท็จเกี่ยวกับเรื่องการครอบครองที่ดินทั้งหมด 3 คดี ศาลชั้นต้นสั่งลงโทษจำคุกตนและทนายรวมทั้งหมด 7 ปี โดยรอลงอาญาไว้ก่อน ขณะนี้กำลังเตรียมยื่นอุทธรณ์ อันที่จริงอดีตสามีของตนไม่ควรเสียชีวิตจากเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบและสื่อมวลชนที่ช่วยติดตามข่าวจนทำให้ความจริงปรากฏ จนทำให้การเสียชีวิตของ พล.ต.ต.ธารินทร์ ไม่สูญเปล่า” น.ส.เขมจิรา บัณฑูรนิพิท ภรรยา พล.ต.ต.ธารินทร์ จันทราทิพย์ กล่าวขณะเดินทางมายังกองปราบปราม พร้อมกับนำรูปภาพและอัฐิของ พล.ต.ต.ธารินทร์ เพื่อยืนดักเฝ้ารอ นายบุญช่วย และ นายกิตติพงษ์ สองผู้ต้องหา หลังทราบข่าวว่าได้ถูกเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษหนุมานกองปราบนำกำลังเข้าจับกุมและกำลังนำตัวมาสอบปากคำเพิ่มเติมยังกองบังคับการปราบปราม