กองปราบปรามฝากขัง-ค้านประกัน “บุญช่วย” กับบุตรชาย ร่วมกันยักยอกที่ธรณีสงฆ์ใน จ.จันทบุรี ร่วม 4,000 ไร่ ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ฝากขังได้ ส่วนทนายความยื่นเงินสดประกันคนละ 1 ล้าน แต่วืดประกัน เนื่องจากพฤติการณ์ร้ายแรง
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (11 มิ.ย.) เมื่อเวลา 10.30 น. พ.ต.ท.วิทวัส สายอ๋อง พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ได้ควบคุมตัว นายบุญช่วย เจริญสถาพร อายุ 79 ปี ภูมิลำเนา จ.สงขลา และนายกิตติพงษ์ เจริญสถาพร อายุ 43 ปี ภูมิลำเนา จ.จันทบุรี บุตรชายของนายบุญช่วย ผู้ต้องหาที่ 1-2 คดียักยอกที่ดินพระกิตติวุฑโฒ มายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรก เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-22 มิ.ย. 2563 เนื่องจากต้องสอบพยานอีก 10 ปาก และรอผลตรวจลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา โดยพนักงานสอบสวนได้ขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวด้วย เพราะผู้ต้องหามีพฤติการณ์เหิมเกริมสร้างหลักฐานเท็จนำไปฟ้องศาล กับให้การเท็จต่อศาลหลายครั้งโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย โดยผู้ต้องหาทั้งสองมีหน้าที่ดูแลที่ดินแทนมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย ซึ่งซื้อมาด้วยเงินบริจาคของพุทธศาสนิกชนที่เลื่อมใสในพุทธศาสนา กอบโกยผลประโยชน์ไปเป็นของตนเองจำนวนมาก แล้วยังยักยอกเอาทรัพย์ของมูลนิธิไปทั้งหมดโดยไม่เกรงกลัวต่อบาปกรรม มีพฤติกรรมยุ่งเหยิงต่อพยานหลักฐานและอาจก่อเหตุอันตรายประการอื่น อีกทั้งทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายมีมูลค่าสูงอประกอบกับการกระทำผิดบางกรรมใกล้หมดอายุความ หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวก็อาจหลบหนีไม่สามารถนำตัวมาฟ้องได้ภายในอายุความซึ่งจะเกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีจนไม่อาจเยียวยาได้
โดยคำร้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2563 พนักงานสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาทั้งสองว่า ร่วมกันยักยอก, ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความลงในเอกสารราชการ, ร่วมกันเบิกความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 177, 267, 352 ประกอบ มาตรา 83 โดยเหตุจากเมื่อปี พ.ศ. 2510 มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย ได้จัดตั้งเป็นนิติบุคคลมีพระกิตติวุฑโฒเป็นกรรมการ ผจก.มูลนิธิ
ต่อมาปี พ.ศ. 2513-2515 พระกิตติวุฑโฒซื้อที่ดินที่เป็น น.ส.3 (หนังสือรับรองทำประโยชน์ในที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครองไม่มีกรรมสิทธิ์) และที่ดินมือเปล่า รวมเนื้อที่ 4,000 ไร่ ในราคา 12 ล้านบาท จากนายสมพล โกศลานันท์ เจ้าของที่ดินเดิม โดยนำเงินที่เรี่ยไรการทำบุญมาจากพุทธศาสนิกชนที่มีจิตศรัทธาไปจ่ายจำนวน 8 ล้านบาท จากนั้นนายสมพลจึงส่งมอบที่ดินให้มูลนิธิฯ เข้าครอบครองทำประโยชน์เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม กิจกรรมทางศาสนา ระหว่างนั้นมีการมอบหมายผู้ต้องหาที่ 1 ซึ่งเป็นน้องชายของพระกิตติวุฑโฒมาดูแล และมีผู้ต้องหาที่ 2 มาอยู่ด้วย โดยผู้ต้องหาทั้งสองได้ไปติดต่อหน่วยราชการและเสียภาษีที่ดินในนามมูลนิธิฯ จนมาถึงปี พ.ศ. 2538 นายสมพลเสียชีวิต และปี พ.ศ. 2548 พระกิตติวุฑโฒมรณภาพ ก็ไม่มีการเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองที่ดิน
ต่อมาปี พ.ศ. 2550 นายบุญช่วย ผู้ต้องหาที่ 1 มีเจตนาทุจริตเอาที่ดินซึ่งเป็นของมูลนิธิที่ตนครอบครองแทนอยู่ให้มาเป็นของตนเอง จึงวางแผนด้วยการทำเอกสารอันเป็นเท็จ ระบุว่านายบุญช่วย ผู้ต้องหาที่ 1 เป็นผู้ซื้อที่ดินทั้งหมดจากนายสมพล (ที่เสียชีวิตไปเมื่อปี พ.ศ. 2538) เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดจันทบุรี ต่อมามีการสมยอมกันระหว่างผู้ต้องหาที่ 1 กับนายเรวัติ โกศลานันท์ ทายาทของนายสมพล จนเป็นเหตุให้ศาลจังหวัดจันทบุรีมีคำพิพากษาตามยอม โดยผู้ต้องหาที่ 1 ใช้คำพิพากษาไปยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนใน น.ส.3 จากนายสมพล มาเป็นชื่อของนายบุญช่วย ผู้ต้องหาที่ 1 แต่เจ้าพนักงานที่ดินโต้แย้งว่านายเรวัติไม่ใช่ทายาทของนายสมพลเพียงคนเดียว จึงไม่จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อให้ ต่อมาผู้ต้องหาที่ 1 จึงทำเอกสารเท็จขึ้นมาอีก ให้ทายาทของนายสมพลอีก 2 คนลงนามว่านายสมพลขายที่ดินให้ผู้ต้องหาที่ 1 แล้วนำไปเสนอต่อศาล แล้วต่อมาศาลจังหวัดจันทบุรีได้มีหนังสือให้เจ้าพนักงานที่ดินโอนเปลี่ยนชื่อใน น.ส.3 จากชื่อนายสมพลเป็นนายบุญช่วย ผู้ต้องหาที่ 1
ต่อมาปี พ.ศ. 2553-2554 ผู้ต้องหาที่ 1-2 มีเจตนาแย่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินของมูลนิธิฯ มาเป็นของตัวเอง ด้วยการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าตนเป็นเจ้าของที่ดิน น.ส.3 และที่ดินเปล่าทั้งหมด ทำให้เจ้าพนักงานที่ดิน ออกโฉนดให้ผู้ต้องหาที่ 1-2 รวม 99 ฉบับ ต่อมาทายาทนายสมพลทราบเรื่องดังกล่าวจึงไปยื่นฟ้องศาลเพื่อทวงที่ดินคืนจากผู้ต้องหาที่ 1 และเป็นเหตุให้ฟ้องร้องต่อเนื่องกันไปมาทั้งแพ่ง-อาญาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554-2562 และมีการเบิกความเท็จต่อศาลจังหวัดจันทบุรี 3 คดี ผู้ต้องหาที่ 1 เบิกความเท็จรวม 8 กรรม และผู้ต้องหาที่ 2 เบิกความเท็จ 4 กรรม เป็นเหตุให้มูลนิธิฯ ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง เสียหาย 207,178,580 บาท (ตามราคาซื้อขายในปัจจุบันราคาไร่ละ 700,000 บาท รวมราคาที่ดินประเมิน 2,450 ล้านบาท) มูลนิธิฯ จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อกองปราบปรามเพื่อดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาทั้งสอง เหตุเกิดที่ จ.จันทบุรี ระหว่างวันที่ 3 พ.ค. 50 - 13 ก.ย. 62 ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน ชั้นสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1-2 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ศาลพิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาแล้วไม่คัดค้าน จึงมีคำสั่งอนุญาตแล้วให้ฝากขังได้
ต่อมาทนายความผู้ต้องหาทั้งสองได้ยื่นหลักทรัพย์เงินสดคนละ 1 ล้านบาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฝากขัง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
ต่อมาศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงต่อพระพุทธศาสนา และมูลค่าความเสียหายในคดีสูง ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกัน หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานและอาจหลบหนีได้ ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง
ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งสองไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครต่อไป