"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในบ้านเรา จนถึงขณะนี้ ถือว่า ควบคุมได้เกือบ 100% แล้ว ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ ติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว ผู้ติดเชื้อรายใหม่ เป็นคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และอยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ
ศึกหนักที่รออยู่ คือ ปัญหาเศรษฐกิจ แม้ว่า จะเริ่มคลายล็อกผ่อนคลายให้ธุรกิจหลายๆ ประเภท เปิดดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง แต่เครื่องยนต์ที่ดับไปนานเกือบ 3 เดือน จะจุดติดหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้ เพราะถึงแม้ว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ของไทยจะสงบลงแล้ว แต่การระบาดในต่างประเทศ ยังคงมีอยู่
เศรษฐกิจไทยนั้น ต้องอาศัยกำลังซื้อจากต่างประเทศเป็นพลังขับเคลื่อน ทั้งในเรื่องของการส่งออก และการท่องเที่ยว การพึ่งพากำลังซื้อในประเทศ ทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดหนักลงเท่านั้น แต่จะให้ฟื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และพุ่งทะยานไปข้างหน้า ต้องใช้กำลังจากเครื่องจักรเศรษฐกิจโลก
ธนาคารโลก เผยแพร่รายงาน Global Economic Prospect คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ว่า จะหดตัวราว 5.2% ซึ่งเป็นภาวะถดถอยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 80 ปี แต่เนื่องจากโรคระบาดได้สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของนานาประเทศทั่วโลก จึงอาจถือได้ว่าวิกฤตครั้งนี้ร้ายแรงสุดในรอบ 150 ปี
“นี่คือแนวโน้มที่น่ากังวลอย่างยิ่ง วิกฤตคราวนี้จะทิ้งรอยแผลในระยะยาว และเป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ” เซย์ลา พาซาร์บาซิโอกลู รองประธานเวิลด์แบงก์ ระบุ
เธอยังเตือนด้วยว่า ความรุนแรงของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้อาจจะทำให้ประชากรโลก 70-100 ล้านคนเข้าสู่ภาวะยากจนสุดขีด (extreme poverty) มากกว่าตัวเลข 60 ล้านคนที่เคยประเมินไว้
ธนาคารโลก คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวและเติบโตได้ราวๆ 4.2% ในปี 2021 แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ของโควิด-19 ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง และอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทต่างๆ
นักเศรษฐศาสตร์พยายามที่จะประเมินความเสียหายจากโควิด-19 โดยเทียบเคียงกับภัยธรรมชาติ แต่ก็ทำได้ยากเนื่องจากผลกระทบเกิดขึ้นเป็นวงกว้างในหลายมิติ และแผ่ลามไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก
ทั้งนี้ หากสถานการณ์เข้าขั้นเลวร้ายที่สุด ธนาคารโลก คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะหดตัวถึง 8%
ขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันยืนยันวานนี้ (8) ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มเข้าสู่ “ขาลง” ตั้งแต่เดือนก.พ. ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของการเติบโตที่กินระยะเวลาต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ 128 เดือน
จีนเกือบจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มเติบโตได้ในปีนี้ แต่เวิลด์แบงก์เตือนว่าภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะมีส่วนฉุดรั้งการฟื้นตัวของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะชาติที่พึ่งพาการส่งออก
เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะเติบโตราว 1% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ล้วนมีแนวโน้มขยายตัวเป็นลบ เช่น สหรัฐฯ -6.1%, กลุ่มยูโรโซน -9.1%, ญี่ปุ่น -6.1%, บราซิล -8%, เม็กซิโก -7.5% และอินเดีย -3.2%
รายงานประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลก อีกฉบับหนึ่งมาจากองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางหรือโออีซีดี ที่ระบุในรายงานฉบับล่าสุดว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 100 ปี และหนทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงไม่แน่นอน รวมทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดรอบสอง
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า โออีซีดี มองว่า มีโอกาสน้อยมากที่จะมีการผลิตวัคซีนที่ใช้ได้ในวงกว้างภายในปีนี้ และยังมีความไม่แน่นอนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้น โออีซีดี จึงประเมินสถานการณ์โดยแยกเป็น 2 กรณีที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้พอๆ กัน โดยกรณีแรกคือการแพร่ระบาดของไวรัสอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และอีกกรณีคือ โรคโควิด-19 เกิดการแพร่ระบาดรอบสองทั่วโลกก่อนสิ้นปี 2563
หากเกิดการแพร่ระบาดรอบสองจนทำให้ประเทศต่างๆ ต้องดำเนินมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง โออีซีดีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะร่วงลง 7.6% ในปีนี้ ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้น 2.8% ในปีหน้า และในกรณีที่รุนแรงที่สุดนั้น อัตราว่างงานในประเทศกลุ่ม OECD จะเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาด และการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยในปีหน้า
ในกรณีที่ไม่เกิดการแพร่ระบาดรอบสองนั้น โออีซีดี คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะปรับตัวลง 6% ในปีนี้ ขณะที่อัตราว่างงานในประเทศกลุ่มโออีซีดี จะเพิ่มขึ้นแตะ 9.2% จาก 5.4% ในปี 2562
โออีซีดี คาดการณ์ด้วยว่า ในทั้ง 2 กรณีนั้น เศรษฐกิจจะใช้เวลาฟื้นตัวยาวนานกว่าจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาด หลังจากที่ได้เริ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วอีกครั้งในระยะแรก และวิกฤตนี้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีกนาน อาทิ มาตรฐานการครองชีพที่ตกต่ำลง, อัตราการว่างงานในระดับสูง และการลงทุนที่ซบเซา โดยปัญหาการตกงานในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เช่น การท่องเที่ยว งานบริการ และความบันเทิงนั้น จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อแรงงานที่มีทักษะต่ำ แรงงานที่มีอายุน้อย และแรงงานนอกระบบ
การคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของสองสำนักใหญ่เป็นเช่นนี้แล้ว ประเทศไทยคงต้องพึ่งตัวเองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในไปอีกนาน