xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคารโลกชี้ ‘โควิด-19’ ทุบเศรษฐกิจโลกพังยับเยินสุดในรอบ 150 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เผยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ได้ก่อให้เกิดสภาวะช็อคที่รุนแรงและกะทันหัน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกพังเสียหายเป็นวงกว้างที่สุดนับตั้งแต่ปี 1870 แม้ว่ารัฐบาลต่างๆ จะพยายามงัดสารพัดมาตรการมาใช้เยียวยาผลกระทบก็ตาม

รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลก Global Economic Prospect ที่เวิลด์แบงก์เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (8 มิ.ย.) ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัวราว 5.2% ซึ่งเป็นภาวะถดถอยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 80 ปี แต่เนื่องจากโรคระบาดได้สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของนานาประเทศทั่วโลก จึงอาจถือได้ว่าวิกฤตครั้งนี้ร้ายแรงสุดในรอบ 150 ปี

“นี่คือแนวโน้มที่น่ากังวลอย่างยิ่ง วิกฤตคราวนี้จะทิ้งรอยแผลในระยะยาว และเป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ” เซย์ลา พาซาร์บาซิโอกลู รองประธานเวิลด์แบงก์ ระบุ

เธอยังเตือนด้วยว่า ความรุนแรงของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้อาจจะทำให้ประชากรโลก 70-100 ล้านคนเข้าสู่ภาวะยากจนสุดขีด (extreme poverty)มากกว่าตัวเลข 60 ล้านคนที่เคยประเมินไว้

ในขณะที่เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวและเติบโตได้ราวๆ 4.2% ในปี 2021 แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ของโควิด-19 ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง และอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทต่างๆ

นักเศรษฐศาสตร์พยายามที่จะประเมินความเสียหายจากโควิด-19 โดยเทียบเคียงกับภัยธรรมชาติ แต่ก็ทำได้ยากเนื่องจากผลกระทบเกิดขึ้นเป็นวงกว้างในหลายมิติ และแผ่ลามไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก

ทั้งนี้ หากสถานการณ์เข้าขั้นเลวร้ายที่สุด เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะหดตัวถึง 8%

ขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันยืนยันวานนี้ (8) ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มเข้าสู่ “ขาลง” ตั้งแต่เดือน ก.พ. ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของการเติบโตที่กินระยะเวลาต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ 128 เดือน

จีนเกือบจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มเติบโตได้ในปีนี้ แต่เวิลด์แบงก์เตือนว่าภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะมีส่วนฉุดรั้งการฟื้นตัวของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะชาติที่พึ่งพาการส่งออก

เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะเติบโตราว 1% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ล้วนมีแนวโน้มขยายตัวเป็นลบ เช่น สหรัฐฯ -6.1%, กลุ่มยูโรโซน -9.1%, ญี่ปุ่น -6.1%, บราซิล -8%, เม็กซิโก -7.5% และอินเดีย -3.2%
กำลังโหลดความคิดเห็น