xs
xsm
sm
md
lg

มะกันติดเชื้อ ‘โควิด’ ทะลุ 2 ล้านคน ‘ฮาร์วาร์ด’ เตือน ‘ตาย’ ขึ้น 2 แสนเดือน ก.ย.นี้ ด้าน ‘ธนาคารกลางสหรัฐฯ’ คาดปีนี้ ศก.ติดลบ 6.5%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 13 พ.ค.) ประท้วงที่ด้านหน้าทำเนียบขาว ประณามประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าล้มเหลวในการรับมือกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
เอเจนซีส์ - ยอดผู้ติดเชื้อโรคระบาด “โควิด-19” ในอเมริกาทะลุหลัก 2 ล้านคนแล้วเมื่อวันพุธ (10 มิ.ย.) ขณะผู้เชี่ยวชาญของฮาร์วาร์ดเตือนหากปราศจากมาตรการสกัดกั้นไวรัสอันเข้มข้น จำนวนผู้เสียชีวิตที่สหรัฐฯอาจพุ่งขึ้นสู่ระดับ 200,000 คน ภายในเดือนกันยายนนี้ ทางด้าน “เฟด” ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 0% จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้น โดยคาดว่าจีดีพีอเมริกาปีนี้จะหดตัวสาหัสถึง 6.5% ก่อนกระเตื้องชัดเจนในปีหน้า

ทวีปอเมริกาทั้งเหนือและใต้กำลังกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของไวรัสโคโรนาขณะนี้ โดยที่ในละตินอเมริกายอดผู้เสียชีวิตสะสมพุ่งขึ้นเกิน 700,000 คนเมื่อวันพุธ เฉพาะบราซิลประเทศเดียวก็มีผู้เสียชีวิตสูงถึงเกือบ 40,000 คน

ขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างรุนแรงที่สุดในโลก ทั้งในแง่จำนวนผู้เสียชีวิตรวม 112,754 คน และผู้ติดเชื้อ 2,003,038 คน ทั้งนี้ จากข้อมูลในวันพุธของสำนักข่าวรอยเตอร์

อเมริกายังคงพบผู้ติดเชื้อใหม่วันละ 20,000 คนโดยประมาณ และไม่สามารถกดให้กราฟการระบาดปักหัวลง เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในหลายพื้นที่ยังขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลา

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีคำเตือนจาก อาชิช จาห์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพโลก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ว่า หากปราศจากมาตรการสกัดการระบาดอย่างเข้มข้น จำนวนผู้เสียชีวิตในอเมริกาอาจพุ่งขึ้นเป็น 200,000 คน ภายในเดือนกันยายนนี้ และโรคระบาดจะยังไม่จบลงในเดือนดังกล่าว

จาห์แจงว่า สถานการณ์ดังกล่าวอิงกับข้อเท็จจริงที่ว่า อเมริกาเป็นประเทศใหญ่เพียงประเทศเดียวที่ปลดล็อกทั้งที่ยังไม่สามารถทำให้อัตราการขยายตัวของเคสใหม่อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ คือ การตรวจพบผู้ติดเชื้อใหม่อยู่ในระดับ 5% หรือต่ำกว่า ติดต่อกันอย่างน้อย 14 วัน

เขายังบอกว่า อเมริกาสามารถป้องกันไม่ให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นได้ ด้วยการเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อและติดตามผู้สัมผัสโรค การเว้นระยะห่างทางสังคม และการสวมหน้ากากอย่างแพร่หลาย

ขณะนี้หลายรัฐในอเมริกาพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง เช่น นิวเม็กซิโก ยูทาห์ และแอริโซนา ที่มีรายงานเคสใหม่เพิ่มขึ้นถึง 40% ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ภาพรวมทั่วประเทศนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยหลังจากลดลงมา 5 สัปดาห์ก็ตาม

สาเหตุที่พบเคสใหม่มากขึ้นสืบเนื่องจากการเพิ่มการตรวจหาผู้ติดเชื้อ ตลอดจนถึงการที่ทั้ง 50 รัฐค่อยๆ ปลดล็อกและอนุญาตให้เริ่มต้นกิจกรรมธุรกิจและกิจกรรมทางสังคมอีกครั้ง

(ภาพจากแฟ้ม) เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
เวลาเดียวกัน วิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจอเมริกัน โดยในวันพุธ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แถลงหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) เป็นเวลา 2 วัน โดยยืนยันคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ 0% จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว

เฟดยังเปิดเผยการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจของสมาชิกโอเอ็มซีเป็นครั้งแรกนับจากเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยปรากฏว่ามีการคาดหมายว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯในปีนี้จะหดตัวถึง 6.5% ขณะที่อัตราว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้นโดยลดลงมาอยู่ที่ 9.3% ปลายปีนี้ จาก 13.3% ในปัจจุบัน

คำแถลงของเฟดระบุว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลร้ายแรงอย่างมากต่อประชาชนและเศรษฐกิจของอเมริกาและทั่วโลก และวิกฤตการณ์นี้จะยังคงกดดันกิจกรรมเศรษฐกิจ การจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อในระยะสั้น รวมทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างมากต่อแนวโน้มเศรษฐกิจระยะกลางของอเมริกา

อย่างไรก็ดี แม้สถานการณ์การระบาดในอเมริกายังไม่มีวี่แววซาลง แต่ขณะนี้ เริ่มปรากฏสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจบ้างแล้ว เช่น ตัวเลขการจ้างงานเพิ่ม 2.5 ล้านตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม กระนั้น ยังมีคนตกงานในขณะนี้ถึงกว่า 20 ล้านคน

สมาชิกเอฟโอเอ็มซียังคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนถึงอย่างน้อยปี 2022 ก่อนที่จะปรับขึ้นจนถึงเกือบ 2.5% ในระยะยาว รวมทั้งคาดว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเข้มแข็งในปีหน้าในอัตรา 5% ก่อนขยับลงมาอยู่ที่ 3.5% ในปี 2022

อย่างไรก็ตาม เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดตั้งข้อสังเกตว่า แนวโน้มเศรษฐกิจอเมริกายังไม่แน่นอน และทั้งเฟดและรัฐสภาอาจยังต้องเพิ่มมาตรการเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัว โดยในส่วนของเฟดนั้นจะยังคงใช้เครื่องมือเชิงรุกต่อไปจนกว่าจะมั่นใจว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น