xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ภท.-ปชป.”แข็งข้อ วัดใจ“บิ๊กตู่”กลางวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อนุทิน ชาญวีรกูล - จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

การพิจารณาพ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ ทำให้เห็นปฏิกิริยาของ 2 พรรคร่วมรัฐบาล “เบอร์ใหญ่”ที่มีท่าทีผิดแปลกออกไป โดยเฉพาะการพร้อมใจเสนอให้ตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญ”พิจารณากฎหมายกู้เงิน

ทั้งที่แต่เดิมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันมาตลอดว่าไม่จำเป็นต้องตั้ง เพราะเป็น“พระราชกำหนด”มีความเร่งด่วน ไม่ใช่ “พระราชบัญญัติ”

แต่ทั้งส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย กลับดึงดันที่จะตั้งให้ได้ พร้อมทั้งกดดันอย่างหนักหน่วงไปยังรัฐบาล

แน่นอนว่าไม่ใช่อาการปกติ โดยเฉพาะ“เด็กดี”อย่างพรรคภูมิใจไทยของ “เสี่ยหนู”อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ที่มักให้ความร่วมมือดีมาตลอด

และแน่นอนอีกว่า การที่มีส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย แข็งขืน ย่อมไม่สามารถทำได้โดยพลการ หาก“เจ้าของพรรค”ไม่อนุมัติ เพราะนี่คือเรื่องเสถียรภาพฝ่ายรัฐบาล

มันจึงมีสัญญาณไฟเขียวมาแล้วว่าให้ ส.ส.ของพรรค จัดการกระทุ้งเรื่องนี้อย่างเข้มข้นเพื่อส่งสัญญาณให้ “บิ๊กตู่”รับรู้ ถึงความต้องการที่แท้จริงจากการขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัยพิจารณากฎหมายกู้เงิน

พรรคภูมิใจไทย กำลังเคลื่อนไหวใน 2 วัตถุประสงค์ ประสงค์แรกคือ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่มีการจัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การดูแลของ“เสี่ยหนู”เพียง 4.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ขณะเดียวกันยังเป็นการเรียกร้องให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญ ก็เพื่อให้มีการจัดสรรงบฟื้นฟู มูลค่า 4 แสนล้านบาทกันใหม่

เนื่องจากมีการมองกันว่า งบประมาณในส่วนของแผนฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทนั้น “กระจุก”อยู่กับกระทรวงการคลัง ซึ่งมาจาก“พลังประชารัฐ”เท่านั้น

ที่สำคัญ คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการต่างๆในแผนฟื้นฟู จะต้องผ่านการกลั่นกรองจาก "เลขาธิการคณะกรรมการสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" ซึ่งเป็นคนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ

โอกาสที่จะโครงการต่างๆ จากพรรคอื่นๆจะผ่านความเห็นชอบจึงมีน้อย จีงต้องมีการเสนอให้ตั้งกมธ.วิสามัญ เพื่อไปเกลี่ยกันใหม่ให้ทั่วถึง ไม่ให้ผูกขาดอยู่ที่พรรคเดียว

และแม้จะมีข่าวลือหนาหูว่า มีการตกปากรับคำจะให้ ส.ส.คนละ 80 ล้านบาทแลกกับการโหวต พ.ร.ก.กู้เงิน แต่หากเป็นจริงมันก็น้อยนิด เมื่อเทียบกับมูลค่า 4 แสนล้านบาท

“ภูมิใจไทย”จึงต้องสู้ เช่นเดียวกับ“ประชาธิปัตย์”ที่ต้องสู้ในวัตถุประสงค์เดียวกัน ซึ่งมันก็ได้ผล เพราะ“บิ๊กตู่”ก็มีท่าทีอ่อนลง และยอมให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญในที่สุด

อีกประสงค์หนึ่งของ"ภูมิใจไทย"และ“ประชาธิปัตย์”คือ เรื่องการปรับคณะรัฐมนตรีที่เริ่มจะมีกลิ่นลอยออกมา การแข็งขืนไม่ให้ความร่วมมือแต่โดยดีเหมือนทุกครั้ง เพื่อส่งสัญญาณให้เห็นว่า ทั้ง 2 พรรคยังเป็น “ตัวแปร”สำคัญสำหรับรัฐบาลชุดนี้

กลุ่ม ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาเรียกร้องให้ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณากฎหมายกู้เงิน และยื่นต่อประธานสภาฯตัดหน้าก่อนการลงมติ ก็คือกลุ่มหน้าเดิมที่นำโดย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี

แก๊งเดิมที่เคยเคลื่อนไหวในลักษณะ “แกะดำ”ของพรรคประชาธิปัตย์ จนถูกมองว่า เป็น“เด็กดื้อ”กลุ่มนี้ต้องการสัดส่วนในคณะรัฐมนตรี หลังจากที่การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีครั้งก่อน มีแต่กลุ่มของ“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์”รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ที่ได้ไป

นอกจากนี้ ยังเป็นกลุ่มที่ต้องการให้มีการปรับคณะรัฐมนตรีเกิดขึ้น เพื่อที่ตัวเองจะได้มีลุ้นเข้าไปเป็นเสนาบดี จึงต้องทำตัวเป็นคนเจ้าปัญหา เพื่อให้ผู้มีอำนาจเห็น และจัดสรรให้เพื่อแก้ปัญหานี้ให้ถาวร

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการ “วัดใจ”พล.อ.ประยุทธ์ เพราะปัจจุบัน “ประชาธิปัตย์”ได้กลายมาเป็นพรรคอันดับ 3 ในรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว หลัง“ภูมิใจไทย”กวาดต้อน ส.ส.ไปอยู่ในพรรคจนมีปริมาณมากกว่า ว่าจะยังให้ความสำคัญพวกเขาเหมือนเดิม ด้วยการไม่หั่น หรือเฉือนโควตารัฐมนตรีของพรรคสีฟ้าไป

ยิ่งมีข่าวลือว่า พรรคพลังประชารัฐ จ้องจะดึงส.ส.ของพรรคเพื่อไทยมาเสริม เพื่อหวังริบโควต้าบางส่วน“ประชาธิปัตย์”คืน จึงต้องส่งสัญญาณ“หยั่งเชิง”กัน

เช่นเดียวกับ “ภูมิใจไทย”ที่วันนี้กลายเป็นพรรคอันดับ 2 ในรัฐบาล โดยปริมาณแล้วควรจะตั้งจัดสรรโควต้ารัฐมนตรีให้พรรคดังเมืองบุรีรัมย์หรือไม่

ซึ่งจริงๆ แล้ว “ภูมิใจไทย”เอง ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เพิ่ม แต่การเขยื้อนครั้งนี้เพื่อกระตุกให้รับรู้ว่า ไม่ว่าใครจะเข้าจะออกรัฐบาล แต่“ห้ามแตะต้อง” ของเดิมของพรรค โดยเฉพาะรมว.สาธารณสุข รมว.คมนาคม และ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา

เพราะ“ภูมิใจไทย”รู้ว่า มันยังมีความพยายามที่จะดึง“คมนาคม”กลับไปสู่อ้อมอกพรรคพลังประชารัฐอยู่ตลอดเวลา

สำหรับ “ภูมิใจไทย”แล้ว “บิ๊กตู่”นั้น ยังสามารถประคับประคองได้อยู่ เพราะรู้ว่าจุดประสงค์และเจตนาที่แข็งข้อครั้งนี้ คืออะไร และสามารถพูดคุยกันได้ง่ายกว่า“ประชาธิปัตย์”หากไม่ไปแตะของหวงของรักของ“พรรคหมอหนู”อย่าง 3 กระทรวงที่ว่า

หากแต่“ประชาธิปัตย์”มันค่อนข้างจะยากกว่า สืบเนื่องจากความขัดแย้งภายในของพรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผม ที่เล่นกันรุนแรง

ทุกคนรู้ว่า “จุรินทร์”เป็นเพียงหัวหน้าจำเป็นก่อนช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจเบ็ดเสร็จขาด ทุกเรื่องต้องยึดตามมติพรรค ที่สำคัญ“จุรินทร์” ไม่สามารถสั่งลูกพรรคได้ทุกคน มันจึงเกิดปรากฏการณ์ของ“กลุ่มแกะดำ”อยู่แทบทุกครั้งที่ต้องใช้มติสภา

หากประชาธิปัตย์ไม่สามารถจัดการปัญหาภายในได้ ก็จะส่งผลต่อความยุ่งยากในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่ไม่สามารถแก้ปัญหา “เด็กดื้อ”พวกนี้ของพรรคสีฟ้าในสภาได้ ก็จะสร้างความรำคาญใจไปตลอด ถือเป็นปัญหาที่ซ้อนกันขึ้นมาอีกชั้น

แต่อย่างน้อยวันนี้ “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์”ได้นัดกัน “แข็งข้อ”เพื่อบอกความต้องการ วัดใจ“บิ๊กตู่”เรียบร้อยแล้ว.



กำลังโหลดความคิดเห็น