ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เด็กถูกใช้เป็นเครื่องมือในการการขอทานมาแต่ไหนแต่ไร ก่อนหน้านี้เมืองไทยเผชิญปัญหาธุรกิจบาป “ขอทานเด็ก” จวบจนมีนโยบายการจัดระเบียบโดยภาครัฐบังคับใช้ พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน 2559 ทำให้เด็กที่ถูกนำมาทารุณกรรมใช้แสวงหาผลประโยชน์ลดจำนวนลง ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน “ขอทานข้างถนน” เปลี่ยนสู่ “ขอทานออนไลน์” งัดกลเม็ดเด็ดพรายให้ผู้คนเกิดความสงสารเห็นใจ โดยเฉพาะการสร้างโปรไฟล์ดราม่าเด็ก “ล่อเหยื่อสายบุญ” ดูจะเป็นกับดักชั้นดี
ดังเช่น เรื่องลวงโลกบทเรียนสอนใจสายบุญ กรณี “แม่ปุ๊กวางยาลูก” หรือ “ปุ๊ก-นิษฐา วงวาล” ผู้ต้องหาคดีวางยาลูกเพื่อเงินบริจาค โดยมีเด็กตกเป็นเหยื่อ 2 ราย ด.ญ.อมยิ้ม ลูกบุญธรรม เสียชีวิตในวัยเพียง 4 ขวบ และ ด.ช.อิ่มบุญ ลูกแท้ๆ อายุ 2 ขวบ ทั้งคู่เกิดอาการผิดปกติเช่นเดียวกัน
โดยรูปแบบพฤติกรรมเป็นลักษณะการรับเด็กมาเลี้ยงเพื่อหวังผลโยชน์ และต้องสงสัยว่ามีการกระทำทารุณกรรมให้เกิดความน่าสงสาร ถ่ายภาพถ่ายคลิปโพสต์ในโซเชียลฯ ใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือมุ่งหวังให้ประชาชนจำนวนมากพบเห็น แล้วเกิดความรู้สึกเมตตาสงสารอยากบริจาคเงินช่วยเหลือ
สร้างสตอรีตนเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวสู้ชีวิต อ้างแพทย์วินิจฉัยลูกป่วยโรคประหลาด “โรคเรนินโนม่าห์” ที่พบเพียงหนึ่งในล้าน ต้องดูแลลูกป่วยใช้เงินรักษาจำนวนมาก ตั้งแต่ช่วงปี 2560 คอยอัพเดทอาการป่วยเรื้อรังของลูกผ่านโซเชียลมีเดีย ประกาศขายสินค้าออนไลน์หาเงินค่ารักษาพยาบาล เรียกร้องความเห็นใจทำให้ผู้ใจบุญหลงเชื่อทั้งช่วยซื้อสินค้าและร่วมบริจาคจนยอดเงินในบัญชีทะลักนับสิบๆ ล้าน ซึ่งสินค้าที่สั่งซื้อไปจ่ายเงินแล้วกลับไม่ได้ สุดท้ายเป็นการฉ้อโกงประชาชน
ขณะที่ ทีมแพทย์จับพิรุธผู้เป็นแม่มีพฤติกรรมเข้าข่ายมิจฉาชีพอาจก่อเหตุฆาตกรรม วางยาลูกหวังเงินบริจาค ด้วยการแอบหยอดสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อน โดยแพทย์ตรวจพบสารเคมีประเภทออกฤทธิ์เป็นกรด คล้ายกับสารเคมีที่เป็นส่วนผสมของน้ำยาล้างห้องน้ำ หรือน้ำยาซักฟอก ในร่างกายจำนวนมาก เป็นเหตุให้ลูกคนโตเสียชีวิต ขณะที่คนเล็กแพทย์ช่วยไว้ได้ทัน
วีรกรรมของ “ปุ๊ก -นิษฐา” เรียกว่าไม่ธรรมดา เล็งเห็นช่องทางทำเงินด้วยนิสัยคนไทยใจดีชอบช่วยเหลือแบ่งปัน ซึ่งตรงกับลักษณะทางจิตวิทยาเรียกว่า Empathy เป็นบุคคลที่เห็นใจใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่น เห็นคนอื่นเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือมักให้ความช่วยเหลือ อย่างไรก็ดี กรณีแม่วางยาลูกได้เข้าสู่กระบวนดำเนินคดีการทางกฎหมายแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2563 ตำรวจกองปราบปราม นำกำลังบุกจับกุม น.ส.นิษฐา วงวาล หรือ แม่ปุ๊ก อายุ 29 ปี ในข้อหา รับไว้ซึ่งเด็กโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ, พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย, ฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น และฉ้อโกงประชาชน
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ มีนักบุญสายเปย์บริจาคเงินรวมกว่า 15 ล้าน ตอกย้ำ คนไทยใจบุญแถมโอนไวสุดท้ายตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ สนับสนุนอาชญากรรมโดยไม่รู้ตัว
อีกทั้งในส่วนค่ารักษาพยาบาลเด็กทั้ง 2 ราย เหยื่อแม่วางยาเพื่อเงินบริจาค รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยข้อมูลว่า น้องอมยิ้มและน้องอิ่มบุญ เป็นการรักษาตามสิทธิ์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสปสช., กองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยเด็ก และกองทุนสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ โดยค่าใช้จ่ายของน้องอมยิ้มทั้งหมด อยู่ที่ 1.5 ล้าน ส่วนต่างที่จ่าย 4.3 แสน ส่วนน้องอิ่มเอม อยู่ที่ 1.2 ล้าน ส่วนต่างที่ต้องจ่าย 8.6 หมื่น ซึ่งแม่จ่าย 4.3 หมื่น และทาง รพ. ใช้กองทุนเด็กจ่าย 4.3 หมื่น
ขณะที่ยอดเงินบริจาคไหลทะลักเข้าบัญชีแม่ปุ๊กจำนวนกว่า 15 ล้าน ไม่สอดคลอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องชำระเพียงครึ่งล้านเศษเท่านั้น คำถามที่ใคร่สงสัย คือ เงินบริจาคจำนวนมหาศาลหายไปไหน ซึ่งคงต้องรอการตรวจสอบถึงเส้นทางเงินบุญต่อไป
แน่นอนว่า คดีดังกล่าวหากมีการพิสูจน์ความผิดผู้ต้องหาแน่ชัดแล้ว จะไม่จบแค่การดำเนินคดีอาญาเพียงอย่างเดียว ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ห้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเงินบริจาคจะต้องตามเส้นทางการเงิน พร้อมทั้งต้องยึดเงินบุญคืนจาก ปุ๊ก-นิษฐา ส่วนการที่จะไปตามเงินคืนต้องอาศัยกฎหมาย “ฟอกเงิน” ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไปตามยึดเงินจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แต่การที่จะไปยึดมาได้นั้น จะต้องเป็นความผิดมูลฐาน ตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน ก่อน เงินที่ได้มาทุกบาททุกสตางค์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องถูกยึดคืนทั้งหมด
หรือหากมีการโยกย้ายไปบัญชีบุคคลอื่น อาศัยการเปิดบัญชีเป็นชื่อคนอื่น ก็ต้องถูกยึดคืนด้วย เพราะกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า หากบัญชีที่รับโอนนั้น เจ้าของบัญชีมีความเกี่ยวข้องกับคนที่ทำผิดมูลฐานหรือฟอกเงินมาก่อน เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สุจริต ต้องถูกยึดไปก่อน ให้ไปแสดงหลักฐานเอาเองว่าได้มาโดยไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ( ม.51) แม้ว่าเจ้าของบัญชีจะไม่รู้มาก่อนว่าเงินที่ได้มานั้น เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดก็ตาม ก็ต้องถูกยึดคืน
ต้องยอมรับว่า การขอรับเปิดรับเงินบริจาคบนโลกออนไลน์ เป็นช่องทางทำกินของมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์มากกว่าความช่วยเหลือ และต้องยอมรับอีกว่ามีคนสายบุญโอนไวพร้อมสนับสนุน “ขอทานออนไลน์” ที่ผุดโผล่ขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา
วีรพล สวรรค์พิทักษ์ นักวิชาการอิสระด้านการตลาด วิเคราะห์พฤติกรรมคนไทยสายบุญไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่าโซเชียลมีเดียมีส่วนในการทำให้มันเกิดการทุจริต เกิดช่องทางของมิจฉาชีพ เพราะเข้าถึงคนได้จำนวนมาก ยิ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่เล่นโซเชียลมีเดียติดอันดับโลก และข้อสำคัญ คนส่วนมากเลือกจะที่จะเชื่อข้อมูลบนโซเชียลฯ ทำให้ตัดสินใจได้ง่าย เห็นเคสลักษณะนี้ปั๊บเกิดสงสารโดยไม่ต้องตรวจสอบ จะรู้สึกว่าโอนให้นิดหน่อยหลักสิบหลักร้อยไม่มีปัญหา แต่คือคนที่คิดแบบนี้มีเป็นล้าน จึงไม่แปลกที่ยอดเงินบริจาคจะพุ่งพรวดในหลายๆ เคส
จากกรณีดังกล่าว เป็นบทเรียนสังคมว่าการบริจาคเพราะความสงสาร ไม่ตรวจสอบข้อมูล เราอาจส่งเสริมในให้เกิดการทารุณกรรมโดยไม่รู้ตัว ยิ่งการเติบโตของดิจิตอลผู้คนทำธุรกรรมออนไลน์ใช้ e – wallet ยิ่งง่ายต่อการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ
เฟซบุ๊กเพจ “นักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง” ระบุถึงกรณีแม่ปุ๊กวางยาลูกเพื่อเงินบริจาค โดยวิงวอนขอให้ผู้ใจบุญหยุดโอนไว้ เพราะเห็นแล้วว่าอาจส่งเสริมให้เกิดการทารุณกรรม และเรียกร้องให้ผู้แสวงหาผลประโยชน์หยุดนำเด็กเป็นเครื่องมือเรียกความสงสาร ตอนหนึ่งความว่า
“...เราต้องนึกถึงอันตรายที่จะมีต่อเด็ก ต่อคนแก่ หรือคนอื่นๆ ที่อาจตกอยู่ในอันตราย ต้องถูกใช้เป็นเครื่องมือในการถูกจองจำในสภาวะยากลำบากเพื่อให้เราได้มีโอกาส ทำบุญผ่านมนุษย์ผู้ตกยาก...”
“...จำไว้เสมอว่าการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนเป็นหน้าที่ของ "รัฐ" การบริจาคกันเองมีความเสี่ยงมาก หลายคนเมื่อเคสถูกโพสต์ลง Facebook ก็รวยกันชั่วข้ามคืน และที่สำคัญเวลาเราบริจาคกันเข้าบัญชีส่วนตัวของใครก็แล้วแต่ นั่นคือเรากำลังถอยห่างให้รัฐที่ควรรับผิดชอบ ออกจากสมการนี้ไปค่ะ ทางที่ดีท่องไว้ว่าโทร 1300 ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปตรวจสอบและให้การช่วยเหลือ ถ้าอยากบริจาคแนะนำบริจาคผ่านองค์กรสาธารณประโยชน์ต่างๆ ดีกว่า...”
อย่างไรก็ตาม เด็กถูกใช้เป็นเครื่องมือในการขอทาน เรียกความสงสารเห็นใจโกยเงินเป็นกอบเป็นกำให้ผู้อยู่เบื้องหลังเป็นอย่างดี สมัยก่อนตอนที่ยังไม่มีจัดระเบียบกลุ่มแรงงานเด็กขอทานในย่านเมืองหลวง มีรายได้สูงสุดประมาณ 3,000 บาท
กระทั่ง ช่วงปี 2557 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เดินหน้าจัดระเบียบคนขอทาน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ประมาณช่วงปี 2557 ในการลงไปช่วยเหลือคนขอทานข้างถนน ซึ่งถือเป็นส่วนเสริมขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งหลังจากที่การประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 โดยคัดแยกผู้แสดงความสามารถออกจากผู้ทำการขอทาน พร้อมกับกำหนดความผิดทางอาญาแก่ผู้แสวงหาประโยชน์ จากการขอทาน โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรการเหล่านี้ทำให้จำนวนคนขอทานลดลง 44% แต่ไม่ได้หมดไปจากสังคมไทย
ธุรกิจบาปขอทานเด็กจากอดีตที่เคยส่งเด็กไปนั่งขอทานขอเงินตามริมถนนบนสะพานลอย ปรับเปลี่ยนทันยุคสู่อาชญากรรมรูปแบบใหม่ เลี้ยงเด็กโดยวางยาจนป่วย สร้างสตอรีดรามาโพสต์โซเชียลฯ ให้คนสงสารเห็นใจ เรียกยอดไลท์จนยอดเงินบริจาคทะลุล้าน สุดท้ายเด็กเจ็บหนักจนถึงแก่ความตายอย่างทรมาน สุดท้ายกลายเป็นบริจาคเงินออนไลน์ให้มิจฉาชีพ สนับสนุนในการทารุณกรรมเด็กและการก่ออาชญากรรม
สุดท้าย คดีวางยาลูกเพื่อรับเงินบริจาคออนไลน์ ในส่วนกระบวนการทางกฎหมายยังคงต้องรอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อไป นับเป็นเหตุการณ์สะท้อนภัยคุกคามเด็กการทารุณกรรมรูปแบบใหม่ “จุดอ่อนคนไทย” หากยังมีพฤติกรรมใจดีโอนไวอย่างขาดสติ นอกจากตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ยังสนับสนุนอาชญากรรม แทนที่จะได้บุญกลับได้บาปไปเต็มๆ