xs
xsm
sm
md
lg

เจาะบทเรียนเคส “แม่ปุ๊ก” แฉช่องทางรวยมิจฉาชีพ!! ใจดี-โอนไว หนุนหนทาง “ทารุณกรรม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สร้างโปรไฟล์ ใช้ความสงสารเด็กหลอกลวง มิติการขอบริจาคเงินออนไลน์!! ล่าสุดอ้างเป็นแม่ ขอบริจาคเงินรักษาลูกป่วยโรคสุดแปลก ก่อนพบวางยาลูก โกยเงินในบัญชีกว่า 20 ล้าน!! เพจดังแฉวีรกรรมสุดแสบ ชี้ยิ่งบริจาค ยิ่งส่งเสริมการทารุณเด็ก นักการตลาดซัดเป็นช่องทางที่สำคัญของมิจฉาชีพ จะเกิดเทคนิคใหม่ๆ ในการหารายได้จากโซเชียล!!


มิจฉาชีพออนไลน์ ใช้ความสงสารล่อเหยื่อ!!


“ที่ไหนรับซื้อไตบ้าง เฉือนเนื้อตัวเองขายก็ต้องยอม เฉพาะยานอกบัญชีหลัก” เคยเป็นที่ตั้งข้อสงสัยอย่างหนัก!! สำหรับกรณี "น้องอิ่มบุญ" วัย 2 ขวบ ถูกแม่ปุ๊ก นิษฐา วัย 29 ปี อ้างตัวว่าเป็นแม่ของเด็ก โพสต์รูปและวิดีโอขณะลูกป่วย เพื่อขอรับบริจาคค่ารักษา กระทั่งเข้ารับการรักษา แพทย์พบว่าตัวเด็กถูกวางยา ด้วยการแอบหยอดสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อน


ย้อนกลับไปแม่ปุ๊กเคยสร้างโปรไฟล์ เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เลี้ยงลูก 2 คน คือ น้องอมยิ้ม และน้องอิ่มบุญ ทว่า ครั้งนั้นเกิดเหตุการณ์กับน้องอมยิ้ม ป่วยประหลาด มีเลือดออกปาก อาเจียนเป็นเลือด จนทำให้เสียชีวิตในที่สุด ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า มีเงินบริจาคหมุนเวียนในบัญชี 20 ล้านบาท

สังคมเริ่มสงสัย จึงนำเสนอให้ไปรักษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ผู้ที่อ้างว่าเป็นแม่เด็กคนนี้กลับไม่รับข้อเสนอ และปิดเฟซบุ๊กจนผิดสังเกต

ทั้งนี้ ในปี 61ยังมีอีกหนึ่งกรณีที่มีในลักษณะเดียวกัน คือ “ขอทานออนไลน์” เมื่อในกลุ่มเฟซบุ๊ก มีผู้อ้างตกงาน กดเงินออกจากบัญชีไม่ได้ วอนคนเห็นใจช่วยโอนคนละนิดละหน่อยเพื่อไปซื้อข้าวกิน ซึ่งพบข้อความลักษณะเดียวกันถูกโพสต์ไปแล้วหลายกลุ่ม

ผมมีเรื่องอยากให้ใครก็ได้ครับที่ช่วยผมได้ ผมตกงานมา 1 อาทิตย์แล้วครับ ตังค์ติดตัวผมก็ไม่มี ตอนนี้ผมมีเงินเหลืออยู่ในบัญชีแค่ 60 บาท แต่กดออกมาไม่ได้ ผมเลยอยากขอให้ใครก็ได้ช่วยโอนตังค์ให้ผม 40 บาททีครับ ผมอยากกดเงินออกมากินข้าว แค่นั้นครับ ผมไม่รู้จะทำยังไงจึงมาโพสต์ในกลุ่ม เผื่อมีใครช่วยผมได้”



ไม่เพียงแค่นี้ สายบุญแห่โอนเงินเพราะความสงสาร ยังปรากฏให้เห็นเรื่อยๆ หวังทำบุญช่วยเพื่อนมนุษย์ หลังพบข้อความขอความช่วยเหลือ

อย่างกรณีลุงเเท็กซี่วัย 72 ปี ที่มีคนแห่บริจาคช่วยเหลือภายในคืนเดียวมียอดเงินบริจาคมากกว่า 8 ล้านบาท ซึ่งในเวลาต่อมาได้ถูกเจ้าของอู่รถแท็กซี่แห่งหนึ่งเข้าเเจ้งความดำเนินคดี เพราะไม่ได้รับเงินที่ค้างค่าเช่า 14,970 บาท จนเกิดกระแสโจมตีอย่างหนัก


เพื่อยืนยันคำตอบการช่วยเหลือในโลกออนไลน์ และเรื่องช่องทางหาเงิน จนเป็นช่องทางของมิจฉาชีพ ทางทีมข่าว MGR Live จึงติดต่อ ไปยัง “วีรพล สวรรค์พิทักษ์” นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ให้วิเคราะห์พฤติกรรมที่เกิดขึ้น เป็นเพราะคนไทยมีพฤติกรรมชอบช่วยเหลือผู้อื่น ส่งให้เกิดมิจฉาชีพแฝงในออนไลน์

[วีรพล สวรรค์พิทักษ์]
“โซเชียลมีเดียมีส่วนมากเลย ในการทำให้มันเกิดการทุจริต มันเกิดช่องทางของมิจฉาชีพได้ เพราะว่าพอโซเชียลมีเดียมันเข้าถึงคนได้จำนวนมาก ประเทศไทยเป็นประเทศที่เล่นโซเชียลมีเดียติดอันดับโลก และข้อสำคัญ คือ เราค่อนข้างจะเชื่อข้อมูลบนโซเชียลมีเดียเยอะ เราตัดสินใจได้ง่าย

เราเห็นปุ๊บ เราก็สงสารเลย โดยที่ไม่ต้องตรวจสอบ พอโซเชียลมีเดียมันเกิดขึ้น เขามีปัญหาขึ้นมาปุ๊บ เรารู้สึกว่าเราโอนร้อยเดียวไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่คนที่คิดแบบนี้มันมีเป็นล้านไง พอมันมีเป็นล้านปุ๊บ ยอดเงินบางคนได้ 8 ล้าน โดยเวลาแค่แป๊บเดียวเท่านั้นเอง มันก็เลยทำให้เป็นช่องทางที่สำคัญของมิจฉาชีพที่มันก็จะเกิดเทคนิคใหม่ๆ ในการหารายได้จากพวกนี้”
นอกจากจะเป็นผู้ใช้โซเชียลเป็นอันดับต้นๆ ของโลกแล้วนั้น ยังสะท้อนถึงพฤติกรรมของคนไทยเป็นคนชอบเห็นอกเห็นใจ ไม่ว่าใครได้รับความเดือดร้อน ก็มักจะมีการโอนเงินบริจาคทันที โดยไม่ไม่การเช็กข้อมูล

“ผมเชื่อว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่ดีงาม คนชอบช่วยเหลือกัน เพราะฉะนั้นมันทำให้เป็นที่มาของมิจฉาชีพที่จะแอบอ้าง หรือว่าเกิดการฉ้อโกงกันในเรื่องพวกนี้ ฉะนั้นเรื่องแรกที่ต้องคุยกัน คือ เรื่องของมิจฉาชีพ

ผมคิดว่าถ้าคุณเป็นมิจฉาชีพ คุณทำเรื่องพวกนี้ สุดท้ายแล้วมันสอบสวนมาแล้วมันผิดพลาดอะไรขึ้นมา คุณก็โดนแน่นอน โดนโทษหนัก โทษทางกฎหมาย และก็ทางด้านสังคมด้วย
เรื่องแรกเลย มันไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ แต่ถ้ามองในมุมของพฤติกรรมของผู้บริโภคของคนไทย คือเมืองไทย คนส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ แล้วจริงๆ เราเป็นประเทศที่ชอบช่วยเหลือกัน ดังนั้น พอมีเหตุการณ์อะไรขึ้นมา คนก็จะช่วยเหลือกัน สังเกตได้จากช่วงโควิด-19 เราก็เห็นว่าในช่วงโควิด-19 มีคนช่วยเหลือกันเยอะเลยครับ ไม่ใช่เคสน้องแค่เคสเดียว แต่ว่าไม่ว่าคนจะตกงาน บ้านไฟไหม้ หรือมีปัญหาอะไรก็ตาม คนไทยพร้อมจะช่วยกันเสมอ


เพราะฉะนั้น ถ้าเรามองในแง่ดี เราเป็นประเทศที่ดีมาก แต่มองในแง่ที่มันเป็นข้อเสีย เป็นความเสี่ยง คือ มันก็เลยทำให้มิจฉาชีพ หรือคนที่เขาทุจริต มันเป็นช่องทางในการหารายได้ของเขา”


ยิ่งบริจาคเงิน = ส่งเสริมการทารุณ!!?


เมื่อถามนักวิชาการอิสระคนเดิมว่า ความสงสาร และไม่ตรวจเช็กข้อมูลนั้น อาจจะทำให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ และอาจเป็นผู้ที่ส่งเสริมให้เกิดการทารุณ อย่างกรณีของแม่ปุ๊ก ที่นำความสงสารของเด็กมาใช้เป็นเครื่องมือให้มีผู้หลงเชื่อหรือไม่

โดยเขามองว่าเป็นช่องทางที่ทำให้มิจฉาชีพต่างๆ ได้เงินง่ายขึ้น ด้วยการที่มีระบบออนไลน์ หรือว่ามีระบบ e-wallet มากขึ้น มันก็ทำให้เกิดความเสี่ยงได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันโซเชียลสามารถเข้าถึงทุกกลุ่มวัย
“1.ประเทศไทยเราเป็นประเทศใจดี ชอบช่วยเหลือกัน 2.การเติบโตของโซเชียลมีเดีย มันยังเติบโตมาก และเข้าถึงคนทุก generation ในโซเชียลมีเดียที่มันเติบโตมาก และเข้าถึงคนทุก generation คนสูงอายุก็เล่นโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น มันก็เลยทำให้คนสูงอายุยิ่งชอบทำบุญ ยิ่งชอบช่วยกัน

ประเด็นที่ 3 คือ ตัว e-wallet พอคนใช้ e-wallet มากขึ้น มีการโอนทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น มันก็ยิ่งเป็นช่องทางที่ให้เงินมันสะพัดบนออนไลน์ได้ง่ายขึ้น ช่วยเหลือกันได้ง่ายขึ้น

ผมว่า 3 ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดมิจฉาชีพบนออนไลน์ได้ง่ายขึ้น จริงๆ เพราะถ้าเป็นสมัยก่อนคุณจะโอนเงิน โอนเงินของบัญชีนิติบุคคล บัญชีบริษัท คุณมาทำในมือถือไม่ได้อยู่แล้ว คุณต้องไปทำหน้าแบงก์ แต่พอเป็นแบบนี้มันทำได้หมด”


ขณะที่ทางเพจ “นักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง ได้ออกมาโพสต์ถึงเรื่องนี้เช่นกัน โดยยกกรณีแม่ปุ๊ก อาจส่งเสริมให้เกิดการทารุณ วอนผู้ใจบุญหยุดโอนไว เพื่อหยุดผู้แสวงหาผลประโยชน์นำเด็กเป็นเครื่องมือเรียกความสงสาร

แอดมินจึงอยากเชิญชวนค่ะ ให้เราหยุด "บริจาค" ผ่านบัญชีส่วนตัวของใครก็แล้วแต่ที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก เราต้องหยุด หยุดโดยมีชีวิตคนอื่นกั้น เพราะเราคงไม่อยากร้องกรี๊ดกับเหตุการณ์แบบนี้อีกใช่ไหมคะ

เราต้องนึกถึงอันตรายที่จะมีต่อเด็ก ต่อคนแก่ หรือคนอื่นๆ ที่อาจตกอยู่ในอันตราย ต้องถูกใช้เป็นเครื่องมือในการถูกจองจำในสภาวะยากลำบากเพื่อให้เราได้มีโอกาส ทำบุญผ่านมนุษย์ผู้ตกยาก (รวมถึงการสนับสนุนสถานสงเคราะห์ที่เคยพูดไปก่อนหน้านี้ก็กรณีเดียวกันค่ะ)

ในกรณีนี้ และหลายกรณี เช่น ในสถานสงเคราะห์เองเด็กจะถูกทารุณกรรมช้าๆ ซ้ำๆ ให้มีอาการที่แย่ลงเรื่อยๆ หรือดีขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในสภาพที่แย่ น่าสงสารเพื่อเรียกร้องความสงสารจากผู้ใจดีให้โอนเงินมาให้…”



สุดท้าย วีรพล สวรรค์พิทักษ์ นักการตลาดคนเดิม ยังฝากถึงกลุ่มในสังคมออนไลน์ด้วยว่า ควรพิจารณาความน่าเชื่อถือให้ดีก่อนตัดสินใจบริจาคเงินช่วยเหลือ ยิ่งมีแพลตฟอร์มทางโซเชียลมากขึ้น ยิ่งมีความเสี่ยง

โซเชียลมีเดียเราก็เล่น และไม่ได้เล่นแค่ช่องทางเดียวด้วย เราเล่น Facebook เราเล่น Twiiter เราเล่น Line ล่าสุด มีโปรแกรมใหม่ยิ่งกว่า Twitter อีก ซึ่งวัยรุ่นกำลังอยู่บนนี้เยอะเลย ชื่อโปรแกรม minds มันกำลังมาแทน Twitter เพราะฉะนั้นพอเราเข้าไปอยู่หลายแพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้น มันก็การเพิ่มความเสี่ยง

แน่นอนว่ามันสนุก แน่นอนมันดี มันมีประโยชน์ มุมที่ดีมันก็มี แต่มุมที่มันเสี่ยง มันก็เสี่ยงสูงมาก ทั้งในเรื่องข้อมูลต่างๆ ในเรื่องการฉ้อโกงกัน ในเรื่องเฟซบุ๊กปลอม ดังนั้น สิ่งที่อยากจะเตือน คือ ก่อนจะทำบุญช่วยเหลือใคร การทำบุญเป็นเรื่องที่ดี แต่ว่าต้องเช็กข้อมูลหน่อย ไม่ใช่แค่เช็กบัญชี ผมยังเชื่อว่าถ้าเราใช้สื่อออนไลน์ ประกอบสื่อออฟไลน์ มันช่วยให้เรามั่นใจได้มากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น คนที่ต้องการให้ช่วย เขาขอข้อมูลมาทางออนไลน์ ก็ส่งบัญชีออนไลน์มา โทรทัศน์ออกข่าวเขาบ้างไหม หนังสือพิมพ์ลงข่าวเขาไหม เขามีปัญหาจริงหรือเปล่า เขามีเอกสาร มีตัวตน มีหน้าบ้านเขาจริงรึเปล่าที่เราสามารถตรวจสอบได้ แล้วเราค่อยช่วย

เพราะฉะนั้น ผมเชื่อว่าการทำบุญมันก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น มันก็จะได้ผลมากขึ้นครับ เราก็จะได้บุญจริงๆ คือ ตัวเราเองก็ต้องตรวจสอบด้วย”


ข่าวโดยทีมข่าว MGR Live


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น