เปิดสำนวนคำร้องฝากขัง “แม่ปุ๊ก” วางยาลูก 2 คนให้กินน้ำยาล้างห้องน้ำ อ้างลูกป่วยโรคประหลาด หวังเคลมเงินบริจาค 20 ล้านบาท
วันนี้ (25 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานเกี่ยวกับคำร้องขอฝากขัง น.ส.นิษฐา วงวาล หรือแม่ปุ๊ก เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งแม่ปุ๊กถูกกล่าวหาว่าวางยาลูก 2 คน จนเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส โดยเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2563 พนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้รับตัว น.ส.นิษฐา เพื่อดำเนินคดี โดยกล่าวหาว่ารับไว้ซึ่งเด็กโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ, ฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น และฉ้อโกงประชาชน, พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย เหุตเกิดที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ อ.เมืองฯ จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2558 ต่อเนื่องเกี่ยวพันกันที่บ้านพักของ น.ส.นิษฐา ถนนเทิดราชัน แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กทม. ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 2558 เกี่ยวเนื่องกันถึงที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ระหว่างวันที่ 20 ธ.ค. 2561 - 12 ส.ค. 2562 (กรณีน้องอมยิ้ม)
ระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2563 น.ส.เอมอัชนา (มารดาของน้องยิ้ม) ซึ่งเป็นผู้กล่าวหา ได้มาร้องทุกข์ที่กองบังคับการปราบปราม ให้ดำเนินคดีต่อ น.ส.นิษฐา โดยแจ้งว่าเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2558 ได้ถูกผู้ต้องหาหลอกลวงว่าจะขอรับอุปการะเลี้ยงดูบุตรของตน ขณะที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ หลอกลวงให้หลงเชื่อว่าผู้ต้องหาเป็นผู้มีฐานะดี มีอาชีพการงานที่มั่นคงโดยอ้างว่าเป็นเภสัชกร เมื่อ น.ส.เอมอัชนาคลอดบุตรแล้วชื่อว่าน้องยิ้ม ผู้ต้องหาได้มารับตัวน้องยิ้มที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์เพื่อพาไปดูแล
ต่อมาผู้ต้องหาได้แจ้งว่าน้องยิ้มมีอาการป่วย มีความจำเป็นต้องทำประกันสุขภาพ จึงหลอกลวงให้ น.ส.เอมอัชนา เปิดบัญชีธนาคารทหารไทย 1 บัญชี และผู้ต้องหาได้เปิดบัญชีธนาคารทหารไทย อีก 2 บัญชี เป็นชื่อบัญชีของ น.ส.เอมอัชนา ปรากฏว่าผู้ต้องหาได้นำบัญชีธนาคารดังกล่าวไปใช้ในการแสวงหาประโยชน์โดยอ้างว่าเป็นมารดาของน้องยิ้มที่ป่วยด้วยโรคเรนินโนมาห์ และใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณารับบริจาคเงินผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ทั้งบริจาคเงินโดยตรง และในรูปแบบของการซื้อสิ่งของ เช่น เครื่องมือแพทย์ เครื่องมือวัดไข้ จนมีผู้หลงเชื่อโอนเงินบริจาคเข้าบัญชีธนาคารตามที่กล่าวมาข้างต้นจำนวนมาก และในบางครั้งก็ไม่ส่งสินค้าให้ และได้ใช้บัญชีธนาคารดังกล่าวมีผู้เสียหายจำนวนหลายรายที่หลงเชื่อโอนเงินค่าสินค้าเข้าบัญชีธนาคารดังกล่าว มีผู้เสียหายจำนวนมากได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุหลายท้องที่ และอยู่ระหว่างการดำเนินคดี
ต่อมา น.ส.นิษฐาได้แจ้ง น.ส.เอมอัชนา ว่าน้องยิ้มป่วยหนักเข้าทำการรักษาตัวที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ กระทั่งในวันที่ 12 สิงหาคม 2562 น้องยิ้มได้เสียชีวิต โดยผู้ต้องหาห้ามไม่ให้ น.ส.เอมอัชนาเข้ามาเยี่ยมดูอาการไข้และไม่ให้ไปร่วมงานศพ โดยอ้างว่าสามารถดูแลได้และไม่อยากเห็นหน้า น.ส.เอมอัชนา เนื่องจากมีหน้าตาคล้ายกับน้องยิ้ม หากเห็นแล้วจะมีความคิดถึง น.ส.เอมอัชนาได้หลงเชื่อจึงไม่ได้ไปเยี่ยมไข้และไม่ได้ไปร่วมงานศพแต่อย่างใด
จากการสืบสวนพบว่า ผู้ต้องหาได้รับอุปการะเลี้ยงดูน้องยิ้มจริง และอ้างว่ามีบุตรชายอีก 1 คน ชื่อน้องอิ่มบุญ อายุ 2 ขวบเศษ ไม่ปรากฏชื่อของบิดา และมีพฤติกรรมฉ้อโกงหลอกลวงขายสินค้าเครื่องมือแพทย์ กระทำความผิดและมีหมายจับกุมในหลายท้องที่ และได้พบข้อความใน facebook ส่วนตัวของผู้ต้องหาปรากฏข้อความขอรับบริจาคเงิน หรือขายสินค้า โดยใช้ภาวะอาการเจ็บป่วยทุกข์ทรมานของน้องยิ้ม และน้องอิ่มบุญ เป็นเครื่องมือในการโฆษณาจนมีผู้หลงเชื่อโอนเงินเข้ามาในบัญชีธนาคารของ น.ส.เอมอัชนา เป็นจำนวนมาก โดยผู้ต้องหาเป็นผู้ถือบัตรเอทีเอ็ม และสมุดบัญชีธนาคาร เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ามีเงินหมุนเวียนในบัญชีธนาคารดังกล่าวจำนวนถึง 20 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลาเพียง 2 ปี โดยเงินดังกล่าวผู้ต้องหาเป็นผู้นำไปใช้ประโยชน์ทั้งหมด
จากการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แพทย์เป็นผู้ทำการรักษาอาการเจ็บป่วยของน้องยิ้มและน้องอิ่มบุญ ปรากฏข้อมูลว่าน้องอิ่มบุญเข้ามาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 และน้องยิ้ม ไม่ได้เจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคโรนินโนมาห์ ตามที่ผู้ต้องหาแสดงข้อความอันเป็นเท็จในการโฆษณาขายสินค้า และรับบริจาคแต่อย่างใด อีกทั้งอาการเจ็บป่วยทั้งของน้องยิ้มและน้องอิ่มบุญไม่ได้เกิดจากโรคที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นของผู้ที่ได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายด้วยการกินเข้าไป
จากการตรวจสอบชิ้นเนื้อและตรวจสอบร่างกายของเด็กอย่างละเอียดแล้วยังพบว่า ทั้งน้องยิ้ม และน้องอิ่มบุญ ได้รับสารพิษประเภท “สารกัดกร่อน” ซึ่งเป็นกรดหรือด่างเข้าสู่ร่างกาย คล้ายคลึงกับผู้ป่วยที่ดื่มสารพิษประเภทน้ำยาล้างห้องน้ำไฮเตอร์เพื่อฆ่าตัวตาย จากการเฝ้าดูอาการของแพทย์และพยาบาลผู้ทำการรักษาพบว่า เมื่อ น.ส.นิษฐา มาเยี่ยมไข้ ได้นำอาหารมาให้น้องยิ้ม และน้องอิ่มบุญกินจะมีอาการทรุดหนัก ปากบวมมีเลือดออกที่ปาก จมูกและมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นมากมาย โดยทุกครั้งเมื่อเด็กมีอาการเจ็บปวดทุกข์ทรมาน น.ส.นิษฐาจะถ่ายรูปถ่ายทอดสดเพื่อนำไปโฆษณาแสวงหาประโยชน์เรียกรับเงินบริจาคแก่ผู้มีจิตเมตตาสงสารทุกครั้ง
คณะแพทย์พยาบาลจึงได้มีมาตรการควบคุมไม่ให้ น.ส.นิษฐาเข้าเยี่ยม และไม่ให้นำอาหารมาให้เด็กกินอีก ปรากฏว่าอาการกลับดีขึ้นตามลำดับ ผลจากการกระทำของ น.ส.นิษฐา คือ น้องยิ้มได้ถึงแก่ความตาย และน้องอิ่มบุญได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส บาดเจ็บสาหัส หลอดลมและหลอดอาหารเสียหาย มีอาการพิการและได้รับทุกข์ทรมานจากการกลืนอาหารไปตลอดชีวิต แพทย์ผู้ทำการรักษา ฝ่ายกฎหมาย และนักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ประมวลเหตุการณ์ทั้งหมดแล้วจึงเชื่อว่า น.ส.นิษฐาเป็นผู้ให้สารพิษประเภทสารกัดกร่อน เข้าสู่ร่างกายด้วยการกินเพื่อให้น้องยิ้ม และน้องอิ่มบุญมีอาการเจ็บป่วยทุกขเวทนาน่าสงสาร เพื่อที่จะลงข้อความผ่านอินเทอร์เน็ตต่อสาธารณชน ขายสินค้า และรับบริจาค แสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ผู้ต้องหาเอง การกระทำของผู้ต้องหาที่กระทำต่อน้องยิ้มเป็นความผิดฐานรับไว้ซึ่งเด็กโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ฉ้อโกงในการแสดงตนเป็นคนอื่น ฉ้อโกงประชาชน และการกระทำต่อน้องอิ่มบุญเป็นความผิดฐานรับไว้ซึ่งเด็กโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น และฉ้อโกงประชาชน
ต่อมาวันที่ 18 พ.ค. 2563 พนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหาในข้อหาดังกล่าว ต่อมาศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับ ที่ 675 /2563 ลงวันที่ 18 พ.ค. 2563 เวลา 14.00 น เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามได้จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับข้างต้นเพื่อนำส่งดำเนินคดี นอกจากนี้ คณะแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อผู้ต้องหาในความผิดทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 40 ที่ สภ.คลองหลวง ตามคดีอาญาที่ 127/2563 จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ทั้งนี้ การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยานอีก 10 ปาก รอผลตรวจของกลางและผลตรวจสอบการพิมพ์มือของผู้ต้องหา จึงขอฝากขังผู้ต้องหาไว้มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 20-31 พ.ค. 2563 และขอคัดค้านการประกันเนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง หากให้ประกันเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี
จากการตรวจสอบผู้ต้องหาและพยานซึ่งเป็นบิดาของผู้ต้องหาได้ให้การว่า ผู้ต้องหาเคยเข้ารับการรักษาด้วยโรคสุขภาพจิตที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ผลการตรวจสอบพบว่ามีความผิดปกติกับการจัดการความเครียดเมื่อเดือน ก.พ. 2563 แต่ในขณะทำการสอบสวนผู้ต้องหารับทราบเข้าใจคำถามของพนักงานสอบสวน และสามารถตอบคำถามของพนักงานสอบสวนได้ และมีสติสัมปชัญญะดี จึงขออนุญาตให้นำส่งผู้ต้องหาไปตรวจสุขภาพจิตอย่างละเอียดเพื่อประกอบสำนวนการสอบสวนต่อไป