xs
xsm
sm
md
lg

ครอบครัวเดียวกัน ทำไมต้องสร้างภาพแยกโต๊ะที่ร้านอาหารด้วย !?/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 โต๊ะนั่งกินชาบูคนเดียวแบบมีฉากพลาสติกใสกั้น (ภาพจากเพจ Penguin Eat Shabu – เพนกวินกินชาบู)
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

คำถามที่หลายคนสงสัยในเรื่องมาตรการคลายล็อกจากตัวเลขที่ทางราชการรายงานว่าสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทยลดลงอย่างมาก จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง อัตราการเสียชีวิตต่ำ อัตราการรักษาหายสูงมากติดระดับโลก ทำให้รัฐบาลจึงคลายล็อกให้ผู้ประกอบการหลายประเภทสามารถเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง

แต่ถึงกระนั้นการประกอบการหลายประเภทที่กลับมาเปิดได้นั้น ก็ต้องมีมาตรการที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่าจะช่วย “ลดความเสี่ยง” การกลับมาของตัวเลขผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ให้น้อยที่สุด หรือดีไปกว่านั้นคือไม่มีตัวเลขรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่เลย

มาตรการของการคลายล็อกแม้จะเพิ่มความเสี่ยง แต่ก็ยังคงเน้น “การป้องกัน” เป็นมาตรการสำคัญ เช่น มาตรการการตรวจไข้ก่อนเข้าไปในสถานประกอบการ มาตรการสวมหน้ากากอนามัย มาตรการบริการจุดแอลกอฮอล์สำหรับถูมือ มาตรการเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดวัสดุสัมผัสร่วม มาตรการเว้นระยะห่างหรือจำกัดจำนวนของประชาชนในการเข้าสถานประกอบการ มาตรการลงทะเบียนผู้เข้าสถานประกอบการและร้านค้า มาตรการจำกัดการบริการสถานประกอบการที่ต้องใช้เวลานาน ฯลฯ

นับตั้งแต่คลายล็อกเป็นต้นมา เราเห็นการจราจรในกรุงเทพมหานครเร่ิมติดมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ติดขัดเท่ากับก่อนมี COVID-19 สะท้อนให้เห็นว่าแม้นจะมีการคลายล็อกแล้ว แต่ประชาชนก็ยังไม่ได้ใช้ชีวิตเป็นปกติเสียทีเดียว ก็เพราะมาตรการทั้งหลายในการคลายล็อกของผู้ประกอบการนั้น คือข้อจำกัดและความยุ่งยากที่ทำให้ประชาชนยังไม่ไปใช้บริการเต็มที่ สถานประกอบการที่เปิดให้บริการส่วนใหญ่ที่เคยถูกปิดกิจการก่อนหน้านี้ยังคงไม่มีรายได้กลับมาเท่าเดิม แต่อาจมีค่าใช้จ่ายรายเดือนกลับมาเกือบเท่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าเช่าสถานที่ การจ้างงาน ฯลฯ

หลายมาตรการข้างต้นนั้นได้เคยถูกถกเถียงกันในช่วงแรกว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม หรือคำถามที่ถูกตั้งประเด็นว่ามาตรการดังกล่าวดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจะช่วยแก้ไขปัญหาการแพร่เชื้อ COVID-19 ได้จริงหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด และเวลาก็เป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงได้ว่าความคิดใดผิดและความคิดใดถูก

ด้วยเพราะ COVID-19 เป็นโรคไวรัสสายพันธุ์ใหม่ จึงไม่มีใครรู้ความจริงไปเสียทั้งหมด แม้แต่คนที่เรียกตัวเองว่าผู้เชี่ยวชาญก็ยังมีความคิดเห็นขัดแย้งกันสร้างความสับสนให้กับประชาชนอย่างมาก แต่ถึงกระนั้นก็ตามบทเรียนที่สอนให้เรารู้ในเรื่องการระบาดโรคใหม่คือ “มาตรการเพื่อความไม่ประมาท” ย่อม “ปลอดภัยกว่า” แต่จะคุ้มค่ากับเรื่องเศรษฐกิจ งบประมาณ และวิถีชีวิตหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ตัวอย่างเช่น ในขณะที่องค์การอนามัยโลกได้ออกคำประกาศให้มีการล้างมือบ่อยๆและการเช็ดถูมือด้วยแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นหนึ่งมาตรการสำคัญที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดโรคไวรัส COVID-19[1] แต่จำกันได้หรือไม่ว่าเคยปรากฏเป็นข่าวว่าผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทคาโอและเครื่องสำอางรายใหญ่ของญี่ปุ่นออกมาเตือนว่าการล้างมือบ่อยๆกลับจะทำให้เชื้อแบคทีเรียทั่วไปที่คอยปกป้องเชื้อโรคถูกกำจัดออกไปด้วยเปิดทางให้เชื้อโรคต่างๆเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น[2] แม้อาจจะสร้างความสับสนในช่วงแรก แต่ในที่สุดก็สามารถสร้างความตระหนักประชาชนชาวไทยล้างมือหรือเช็ดมือด้วยแอลกอฮอล์ได้เป็นการทั่วไป ความสำคัญดังกล่าวนี้ยืนยันด้วยคำแถลงของ พ.ญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2563 ว่า

“สิ่งสำคัญสำหรับคนไม่ป่วยคือ การล้างมือบ่อย ๆ เพราะเชื้อจะติดได้นั้น หลัก ๆ คือ การสัมผัส ดังนั้นการล้างมือจะช่วยได้ ไม่ว่าจะล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล”[3]

หรือแม้แต่กรณีหน้ากากอนามัยที่เคยมีข้อถกเถียงกันว่าควรจะให้เฉพาะผู้ป่วยหรือบุคคลากรทางการแพทย์สวมใส่ แต่เวลาก็พิสูจน์ผ่านงานวิจัยของนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฮ่องกงในหนูทดลองพบการเปรียบเทียบกับโอกาสของการติดเชื้อหนูทดลองที่อยู่ในกรงปลายลม ซึ่งได้รับลมจากต้นลมจากกรงของหนูทดลองติดเชื้อทดลองโดยไม่มีหน้ากากอนามัยกั้นลม ดังนี้

หน้ากากอนามัยดักไว้ที่กรงของหนูติดเชื้อ COVID-19 จะมีส่วนช่วยลดการแพร่เชื้อให้กับหนูที่ไม่ติดเชื้อในกรงถัดปลายลมได้มากที่สุดประมาณ 75% ส่วนหน้ากากอนามัยดักไว้ที่กรงหนูไม่ติดเชื้อที่ปลายลมลดการแพร่เชื้อจากกรงหนูที่ติดเชื้อต้นลมได้ประมาณ 50% [4]-[6]

ถึงแม้ว่าในงานทดลองข้างต้นจะใช้หน้ากากอนามัยสำหรับการผ่าตัด (สีเขียวหรือสีฟ้า) แต่ในชีวิตจริงแล้วคนไทยส่วนใหญ่สวมหน้ากากผ้า ซึ่งอาจจะไม่ได้มาตรฐานเหมือนกับงานวิจัยดังกล่าว แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าการสวมหน้ากากโดยรวมก็น่าจะมีส่วนในการลดการแพร่เชื้อได้

อย่างไรก็ตามการที่งานวิจัยข้างต้นเกิดขึ้น ก็เพื่อต่อยอดจากงานวิจัยก่อนหน้านี้ซึ่งมีการเปรียบเทียบหลายประเทศกับฮ่องกงในพื้นที่ซึ่งมีการปรับตัวเป็นชุมชนสวมหน้ากากอนามัยโดยรวมพบว่าชุมชนหรือประเทศที่มีการสวมหน้ากากอนามัยอาจช่วยลดการติดเชื้อได้ [7]


ผลงานวิจัยข้างต้นแสดงให้เห็นว่าในสังคมทั้งผู้ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อหากได้พร้อมใจสวมหน้ากากอนามัยจะมีส่วนในการลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อได้อย่างมากอย่างน้อยที่สุดจำนวนสารคัดหลั่งก็อาจจะน้อยลง ดังปรากฏคำสัมภาษณ์ของ นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย เมื่อคราวการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2563
“หน้ากากผ้า อย่างผ้าฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าสาลู กลุ่มนี้สามารถนำมาผลิตเป็นหน้ากากผ้าได้ ยิ่งซักยิ่งเล็ก เพราะใยจะออกมาเหลือประมาณ 1 ไมครอน โดยไวรัสโควิด-19 ขนาดอยู่ที่ 5 ไมครอน ซึ่งไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ได้ถึง 54-59%”[3]

โดยเฉพาะก่อนหน้านี้มีการนำเสนอจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางคนออกมาเรียกร้องว่าประเทศไทยควรใช้แนวทางการปล่อยให้มีการติดเชื้อเพื่อทำให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันรวมหมู่ (Inherd Immunity) มาถึงวันนี้คงได้พิสูจน์แล้วว่าประเทศที่เลือกแนวทางดังกล่าวนี้มีการระบาด ติดเชื้อ และเสียชีวิตอย่างมากมายมหาศาล อีกทั้งในทางเศรษฐกิจก็มีความเสียหายอย่างหนักมาก จึงนับว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยเลือกแนวทางการป้องกันรวมหมู่ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันรวมหมู่ล้มเหลวก็เพราะทำให้สังคมโดยรวมขาดความระวังในการแพร่เชื้อให้กับผู้สูงวัย หรือดูแลผู้สูงวัยและกลุ่มเสี่ยงไม่สามารถทำได้จริง อีกทั้งการวัดว่าสังคมมีภูมิคุ้มกันรวมหมู่เพียงพอหรือยังก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะจบลงเมื่อไหร่หากไม่มีการตรวจเลือดหาระบบภูมิคุ้มกันที่ชัดเจนได้ ในขณะที่การป้องกันรวมหมู่แม้ไม่สามารถตรวจเลือดหาผู้ติดเชื้อทุกคนได้หมดจริง แต่อย่างน้อยก็สร้างสังคมป้องกันรวมหมู่โดยรวมได้
มิพักต้องพูดถึงข่าวเก่าๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนออกมาหยุดความตื่นตระหนกว่าไม่ควรกลัวนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ การเดินตามห้างสรรพสินค้าไม่น่ากลัวขอเพียงทำความสะอาดเป็นประจำเท่านั้น และท่ามกลางความสับสน ถ้าประเทศไทยเลือกอีกเส้นทางหนึ่งป่านนี้ประเทศไทยก็อาจจะยังไม่เห็นตัวเลขของสถานการณ์แพร่เชื้อลดลงจนน่าจะควบคุมได้ดีกว่าอีกหลายประเทศดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะแนะนำให้มีการเว้นระยะห่าง แต่มาตรฐานของการเว้นระยะห่างของแต่ละประเทศอาจไม่เหมือนกัน [9] แต่อย่างน้อยก็ทำให้สังคมลดความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อยลง


จึงเกิดคำถามว่าการสร้างภาพแยกโต๊ะกันเช่นนี้นอกจากจะเสียรายได้ของร้านอาหาร และเสียความรู้สึกของผู้รับบริการแล้วการสร้างภาพแยกโต๊ะกันเช่นนี้จะแก้ไขการระบาดโรค COVID-19 ได้อย่างไร?ซึ่งถ้าจะเอาคำตอบกันจริงๆก็คือการจัดแยกโต๊ะอาหารแบบนี้ แม้จะเกิดคำถามว่าไม่น่าจะใช่รูปแบบที่ทำให้การแพร่ระบาดลดลงได้ แต่ที่แน่ๆคือประชาชนยังไม่ถึงขั้นมีความสะดวกสบายที่จะกลับมาใช้ชีวิตที่มีการแออัดหรืออยู่รวมกันมากๆเหมือนเดิมเสียทีเดียว นั่นก็คือยังใช้เวลาอยู่กับบ้านมกขึ้น และเดินทางไปไหนมาไหนน้อยลง

เช่นเดียวกับหน้ากากอนามัยผ้าไม่ได้มาตรฐาน ยังมีจุดสัมผัสเสี่ยงที่คาดไม่ถึงอยู่หลายที่ ผู้แพร่เชื้ออาจยังอยู่ในสังคมแต่ยังไม่เคยได้รับการตรวจเชื้อ การกักตัว 14 วันของผู้เดินทางมาจากต่างประเทศอาจจะไม่ได้เป็นหลักประกันทั้งหมดว่าไม่มีผู้ติดเชื้อหลุดรอดไป การวัดไข้ตามสถานที่ต่างๆอาจจะไม่ได้เป็นหลักประกันทั้งหมดว่าคนเหล่านั้นไม่ใช่ผู้ติดเชื้อ การปิดร้านสะดวกซื้อหลัง 5 ทุ่มไม่ได้เป็นหลักประกันว่าคนจะไม่ไปแออัดก่อนหน้านั้น แต่ก็เชื่อว่าการมีมาตรการทำหลายๆอย่างพร้อมๆกันก็น่าเชื่อว่าช่วยลดความเสี่ยงให้ลดลงได้ และมีส่วนทำให้ความแออัดโดยรวมลดลงได้


การเดินทางและมีกิจกรรมของประชาชนที่ลดลงเพราะมาตรการของรัฐและความไม่สะดวกในยามที่เกิดการระบาด COVID-19 ย่อมส่งผลทำให้มลพิษทางอากาศลดลงในหลายประเทศ [9],[10] แต่การที่มลพิษทางอากาศลดลงก็อาจจะเป็นผลทำให้การระบาด COVID-19 ลดลงด้วยเช่นกัน ซึ่งรวมถึงปริมาณฝุ่นขนาดจิ๋ว ไม่ว่าจะเป็นการระบาดที่จีน [11] [12], อิตาลี [13], มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา[14]

โดยเฉพาะการศึกษาที่สหรัฐอเมริกาทั่วประเทศนั้นพบความสัมพันธ์ว่าฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว PM 2.5 เพิ่มความเสี่ยงอัตราการเสียชีวิตให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน[15]

จากผลการศึกษาจำนวนมากในหลายประเทศจากวิกฤติ COVID-19 ครั้งนี้ จึงเป็นหลักฐานที่แสดงชี้ชัดให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องให้น้ำหนักเรื่องการพึ่งพาตัวเองและลดน้ำหนักเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แล้วหันมาลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมในเมืองกับชนบท แล้วให้น้ำหนักเรื่องการฟื้นฟูเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิมได้แล้ว

ทิศทางการพึ่งพาตนเองและเศรษฐกิจพอเพียงคือแนวทางที่ชัดเจนว่าจะสามารถนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยที่ยั่งยืนได้อย่างแน่นอน

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง:
[1] World Health Organization, Coronavirus disease (COVID-19) advice for the public, Last updated 29 April 2020
https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/advice-for-public

[2] ผู้จัดการออนไลน์, แพทย์เตือนล้างมือมากเกิน ยิ่งเสี่ยงติดเชื้อ,
เผยแพร่: 28 ก.พ. 2563 12:46
https://mgronline.com/japan/detail/9630000020235

[3] hfocus, กรมอนามัยชี้หน้ากากผ้าป้องกันเชื้อได้ 54-59% ย้ำมาตรการหลักคือต้องล้างมือ,Wed, 2020-03-04 21:03
https://www.hfocus.org/content/2020/03/18632

[4] The University of Hong Kong Fight COVID-19, HKU hamster research shows masks effective in preventing Covid-19 transmission
May 18, 2020.
https://fightcovid19.hku.hk/hku-hamster-research-shows-masks-effective-in-preventing-covid-19-transmission/

[5] South China moring Post, Coronavirus: hamster research shows effectiveness of masks ‘huge’ in Covid-19 battle, Hong Kong scientists say., 17 May 2020.
https://www.scmp.com/news/hong-kong/health-environment/article/3084779/coronavirus-hamster-research-proof-effectiveness

[6] ผู้จัดการออนไลน์, “หมอมนูญ” เผยงานวิจัยจากฮ่องกงเรื่องหน้ากากอนามัย หลังทดลองกับหนู ยัน ป้องกันโควิด-19 ได้จริง,เผยแพร่: 25 พ.ค. 2563 15:15 ปรับปรุง: 25 พ.ค. 2563 17:04
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000054304

[7] Vincent Chi-Chung Cheng, et al., The role of community-wide wearing of face mask for control of coronavirus disease 2019 (COVID-19) epidemic due to SARS-CoV-2, Journal of Infection, April 30 2020.
https://www.journalofinfection.com/article/S0163-4453(20)30235-8/pdf

[8] Nerys Williams, Social Distancing in the Covid-19 Pandemic, Occup Med (Lond). 2020 May 2 : kqaa072.
Published online 2020 May 2. doi: 10.1093/occmed/kqaa072
PMCID: PMC7197539

[9] Yichen Wang,et al., Changes in air quality related to the control of coronavirus in China: Implications for traffic and industrial emissions, Sci Total Environ. 2020 Aug 20; 731: 139133.Published online 2020 May 6. doi: 10.1016/j.scitotenv.2020.139133

[10] Susanta Mahato, et al., Effect of lockdown amid COVID-19 pandemic on air quality of the megacity Delhi, India, Science of The Total Environment, Volume 730, 15 August 2020, 139086

[11] Yongjian Zhau, et al., Association between short-term exposure to air pollution and COVID-19 infection: Evidence from China, Science of The Total Environment Volume 727, 20 July 2020, 138704

[12] Antonio Frontera, et al., Regional air pollution persistence links to COVID-19 infection zoning, Published:April 10, 2020DOI:https://doi.org/10.1016/j.jinf.2020.03.045

[13] Daniele Fattorini, Francesco Regoli, Role of the chronic air pollution levels in the Covid-19 outbreak risk in Italy, Environ Pollut. 2020 May 4 : 114732.
doi: 10.1016/j.envpol.2020.114732 PMCID: PMC7198142
PMID: 32387671

[14] Muhammad Farhan, et al., Correlation between environmental pollution indicators and COVID-19 pandemic: A brief study in Californian context, Environmental Research, Volume 187, August 2020 https://doi.org/10.1016/j.scitotenv.2020.139086

[15] Xiao Wu, et al.,Exposure to air pollution and COVID-19 mortality in the United States: A nationwide cross-sectional study. Posted April 27, 2020,doi: https://doi.org/10.1101/2020.04.05.20054502

กำลังโหลดความคิดเห็น