xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ธุรกิจยักษ์ปรับตัวระบบขนส่ง ช่วงประกาศ“เคอร์ฟิว”กันอย่างไร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัทข้ามชาติและในไทย หลายแห่งต้องปรับตัว โดยเฉพาเรื่องของการขนส่ง ในช่วงประกาศ “เคอร์ฟิว” ตามแนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

หลังจากรัฐบาล ในฐานะ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.63 จนถึงวันที่ 30 เม.ย.63 และต่อมาได้ประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) ลงวันที่ 28 เม.ย.63 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.63 จนถึงวันที่ 31 พ.ค.63

ที่บอกว่า บริษัทข้ามชาติและในไทย หลายแห่งต้องปรับตัว ให้อยู่รอดจากสถานการณ์ และเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร โดยเฉพาะ“ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่”

จากข้อมูลของ "สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" หรือสภาพัฒน์ ที่แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)ในไตรมาสแรกของปี 63 และแนวโน้มปี 63 เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว มีการระบุถึง การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน ลดลงร้อยละ 8.8 ตามการลดลงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ขณะที่ ปริมาณจําหน่ายรถยนต์นั่งลดลง ร้อยละ 24.8 เทียบกับลดลงร้อยละ 16.4 ใน Q4/2562

เช่นเดียวกับดัชนีการ ขายส่ง ขายปลีก และการซ่อมแซมยานยนต์และจักรยานยนต์ ลดลงร้อยละ 15.0 หมวดการขายยานยนต์ ลดลง 18.3% และหมวดการขายชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมของยานยนต์ ลดลง 7.7%

ทีนี้มาดูตัวอย่าง การปรับตัวของบริษัทจำหน่าย "รถยนต์รายใหญ่" แห่งหนึ่งที่มีฐานผลิตในประเทศไทย เป็นเรื่องการเร่งปรับตัวกับภาครัฐ หลังจากมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร

บริษัทจำหน่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ทำหนังสือถึงศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมาขอให้พิจารณา สั่งการผ่านไปยังศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง และมีการสั่งการด่วนไปยัง "ศบค. กระทรวงมหาดไทย" ซึ่งต่อมาก็มีหนังสือเวียน ส่งไปยังเครือข่ายมหาดไทย ทั่วประเทศให้อำนวยความสะดวก

"อนุญาต" ให้บริษัทแห่งนี้ ซึ่งจำเป็นต้องขนส่งชิ้นส่วนอะไหล่ และ"รถยนต์ใหม่" ตามห้วงเวลาห้ามออกนอกเคหะสถานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (ล่าสุด ศบค. เพิ่งปรับห้วงเวลา เป็นระหว่าง 04.00 น. ถึง 23.00 น.) เพื่อนำชิ้นส่วนอะไหล่และรถยนต์ใหม่ไปส่งมอบให้ "ผู้แทนจำหน่าย" ในเขตกรุงเทพมหานคร และอีก 17 จังหวัดทั่วประเทศ

ถ้าจัดส่งไม่ทัน ขาดทุนย่อยยับแน่ !!!

บริษัทฯ แจ้งเหตุผลในหนังสือถึงผอ.ศบค. ตอนหนึ่งว่า หากไม่สามารถดำเนินการขนส่งดังกล่าวได้จะเป็นเหตุทำให้บริษัทรวมถึงผู้แทนจำหน่ายได้รับความเสียหายทางธุรกิจ อาจถูกร้องเรียน หรือฟ้องร้องได้

อีกทั้ง การดำเนินการขนส่งรถยนต์หรือชิ้นส่วนอะไหล่ "ไป-กลับ"สถานที่ปลายทางในต่างจังหวัดที่ห่างไกลจากกรุงเทพมหานคร บริษัทย่อมมิอาจดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ทันภายในห้วงเวลาระหว่าง 04.01 น. ถึง 21.59 น.(ประกาศฉบับแรก) เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับระยะทางในการขนส่ง และหากมีความจำเป็นที่จะต้องจอดพักรถยนต์ขนส่งระหว่างทาง ย่อมอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนผู้ใช้ถนนสาธารณะ

และกรณีเป็นไปได้ยากอย่างยิ่งที่จะต้องหาพื้นที่จอดรถยนต์ขนส่งที่เหมาะสม เนื่องจากรถยนต์มีขนาดใหญ่ ประกอบกับการจอดรถยนต์ในพื้นที่ห่างไกลนั้น รถยนต์ที่ต้องทำการขนส่งอาจถูกโจรกรรมหรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นระหว่างทาง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของทั้ง พนักงานขับรถยนต์ บริษัท รวมไปถึงประชาชนที่ใช้ถนนสาธารณะ ซึ่งทั้งหมดถือว่า มีความจำเป็นอื่นๆ เพื่อ"ขอยกเว้น" ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 3) ข้อ 1 (7)

โดยบริษัทฯได้ยื่นแสดงเอกสารอนุญาต พร้อมเอกสารประกอบการเดินทาง ได้แก่ เอกสารรับรองจากบริษัทฯ ผู้บริหารระดับ"ประธานบริษัทแม่" เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ "มอบอำนาจ"ให้กับ "ผู้รับมอบอำนาจฝ่ายไทย"รวมถึงพยาน ลงรายมือชื่อ

ดูจาก ข้อมูลที่บริษัทส่งให้ ศบค. ตามข้อ 1(7) มีทั้งหนังสือขออนุญาต หนังสือมอบอำนาจ หนังสือรับรองอื่นๆว่าด้วยการจดทะเบียนบริษัทในประเทศไทย

ยังมีรายละเอียดผู้ขับขี่รถส่งรถยนต์ใหม่ พนักงานประจำรถ ชนิดและรายการสินค้า เส้นทางตำบลต้นทางและตำบลปลายทางควบคู่กับบัตรประชาชน หรือบัตรแสดงตนอย่างอื่นรวมถึงมาตรการควบคุมโควิด-19 สำหรับพนักงานขับรถขนส่งของบริษัท และทั้งหมด บริษัทฯก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำ ณ ด่านตรวจจุดคัดกรองเพื่อให้เกิดความปลอดภัยตามมาตรฐานสาธารณสุขต่อไป

ซึ่งล่าสุด เมื่อ ต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา "ศบค.กระทรวงมหาดไทย" ได้อนุญาตแล้ว โดยเร่งเวียนหนังสือให้กทม. และอีก16 จังหวัดรับทราบต่อไป


ตามข้อมูลของศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อเดือน เม.ย.63 ระบุว่าคณะอนุกรรมการโลจิสติกส์ ภายใต้คณะกรรมการบริหาร B.C.P.ส.อ.ท.ป้องกันภัย โควิด-19 ได้ดำเนินการยื่นเสนอแนวทางปฏิบัติที่ส.อ.ท.ดำเนินการ มีการยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ให้อุตสาหกรรมที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยประธานส.อ.ท.ได้ยื่นหนังสือฉบับดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 เม.ย.63

การกำหนดมาตรการสำหรับการขนส่งสินค้าที่ในขณะนี้แต่ละพื้นที่มีการประกาศระเบียบ เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ของแต่ละจังหวัดแตกต่างกันไป รวมถึงการมอบอำนาจให้ท้องถิ่นใช้มาตรการเพื่อจำกัดการแพร่ระบาด ทำให้เจ้าหน้าที่ในบางจังหวัดใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้รถขนส่งสินค้าเข้าไปส่งสินค้าในบางพื้นที่

เช่น โรงงานข้ามเขตจังหวัดหรือแรงงานที่อยู่คนละจังหวัดกับโรงงาน หากเจ้าหน้าที่ยิ่งใช้มาตรการเพิ่มมากขึ้น ก็จะส่งผลให้สินค้าเกิดการขาดตลาดเป็นวงกว้างการกำหนดระยะเวลาในการปิดถนนหรือเส้นทางขนส่งที่ไม่ชัดเจนทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถ ทราบถึงแนวทางปฏิบัติและวางแผนขนส่งได้

คราวนั้น ส.อ.ท.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์ กรมการขนส่งทางบก เพื่อไม่ให้กระทบกับการขนส่งสินค้าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้สายการผลิตขนส่งสินค้าสะดุดและหยุดชะงักรวมถึงปัญหาอุปสรรคในการผลิตและขนส่งสินค้า

1) ผู้ขับรถต้องพกใบอนุญาตขับรถและบัตรประชาชน 2) เอกสารใบกำกับการขนส่ง ใบส่งของที่มีการระบุต้นทาง ปลายทาง 3) แบบฟอร์มสอบถามสุขภาพ ต.8-คค ทั้งผู้ขับรถและพนักงานติดรถ 4) สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาปฏิบัติงาน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการปฏิบัติงานอาจมีอุปสรรคจากความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ในแต่ละท้องที่ จึงขอให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามแนวทางของกรมการขนส่งทางบกและแสดงมติที่ประชุมของศบค. เพื่อให้เจ้าหน้าที่หน้างานรับทราบ

ต่อมาที่ประชุมศบค. เมื่อต้นเม.ย. มีการหารือในประเด็นข้อยกเว้นทั่วไป ประกอบด้วย ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ การธนาคาร การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตการเกษตร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ หนังสือพิมพ์ การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง การขนส่งพัสดุ ภัณฑ์ การขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าหรือส่งออก การขนย้ายประชาชนไปสู่ที่เอกเทศเพื่อกักกันตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ การเข้าออกเวรทำงานผลัดกลางคืนตามปกติ หรือการเดินทางมาจากหรือไปยังท่าอากาศยาน

โดยครั้งนั้นให้ปฏิบัติตามประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่องมาตรการเพื่อควบคุม โควิด-19 สำหรับผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลงวันที่ 3 เม.ย.63 ลงนามโดย อธิบดีกรมการขนส่งทางบก

ล่าสุด เมื่อ1 พ.ค.63 มีคำสั่งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านคมนาคมและการขนส่งทั่วราชอาณาจักร ที่ 1/2563 เรื่องข้อปฏิบัติในการขนส่งสินค้าทางถนนในสถานการณ์ฉุกเฉิน ระหว่างช่วงเวลาห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน

ข้อ 1.ให้บุคคลที่มีความจำเป็นในการขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน ได้แก่ผู้ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง ไปรษณียภัณฑ์ พัสดุภัณฑ์ หนังสือพิมพ์ หรือสินค้าเพื่อการนำเข้าหรือส่งออก จัดเตรียมใบอนุญาตขับรถ บัตรประจําตัวประชําชน บัตรประจําตัวพนักงานหรือหนังสือรับรองการทำงาน และเอกสารเกี่ยวกับสินค้าแบบแนบท้ายสั่งนี้ เพื่อใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ที่ทางราชกำหนด รวมถึงการยอมรับการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย

ข้อ 2. การขนส่งสินค้าข้อ 1 ให้หมายความรวมถึงการขนส่งเที่ยวเปล่าหรือ ตู้สินค้าเปล่า ในกรณีเดินทางไปรับสินค้าและเดินทางกลับภายหลังเสร็จสิ้น การขนส่งสินค้าเรียบร้อยแล้วด้วย โดยให้ผู้ขนส่งจัดเตรียมเอกสารตามข้อ 1 ไว้แสดงต่อเจ้าหน้าที่เช่นเดียวกัน

แต่ประเด็น "อนุญาต" ให้บริษัทรถยนต์ เพื่อขนส่งชิ้นส่วนอะไหล่ และ"รถยนต์ใหม่" ตามห้วงเวลาห้ามออกนอกเคหะสถานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ถือเป็นเรื่องใหม่



กำลังโหลดความคิดเห็น