ไวรัสโควิด-19 ได้แพร่ระบาดในประเทศไทย โดยมีการพบผู้ติดเชื้อคนแรกในเดือนมกราคมที่ผ่านมา และถ้านับเวลาจากวันนั้นถึงวันนี้ 4 เดือนกว่า มีผู้ติดเชื้อรวมแล้ว 3,000 กว่าคน รักษาหายแล้ว 2,000 กว่าคน และเสียชีวิต 50 กว่าคน ซึ่งนับได้ว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีการแพร่ระบาดในระยะเวลาใกล้เคียงกับประเทศไทย ทั้งนี้อนุมานได้ว่าเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. บุคลากรทางการแพทย์มีศักยภาพในการทำงาน ทั้งในด้านการตรวจหาผู้ติดเชื้อ และในด้านการรักษาเยียวยาผู้ป่วย
2. ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ระบาด โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และปฏิบัติตามคำสั่งของฝ่ายปกครองอย่างเคร่งครัด
3. การประกาศปิดเมือง และควบคุมการเข้า-ออก โดยการตั้งจุดคัดกรองภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้การแพร่เชื้ออยู่ในวงจำกัด ง่ายต่อการค้นหาผู้ติดเชื้อ และการควบคุมการแพร่ระบาด
ถึงแม้ว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีการใช้มาตรการเข้มงวด จะได้ผลดีในการควบคุมการแพร่ระบาด แต่ก็มีผลกระทบในทางเศรษฐกิจ และทางสังคม ก่อให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แก่ผู้มีรายได้น้อยเนื่องจากว่าผู้ประกอบการธุรกิจหลายประเภท เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง และธุรกิจให้บริการในรูปแบบต่างๆ อาทิ ร้านตัดผม เป็นต้น ต้องปิดกิจการชั่วคราว ส่งผลให้มีการเลิกจ้างพนักงานหรือไม่เลิกจ้าง แต่จ่ายค่าจ้างน้อยลง ทำให้คนเหล่านี้ซึ่งปกติก็เดือดร้อนจากรายได้ไม่พอจ่ายอยู่แล้ว ต้องเดือดร้อนหนักขึ้น เนื่องจากไม่มีเงินออม และบางรายแถมมีหนี้สินด้วย
จากวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ ทำให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ปัญหาความยากจนในประเทศไทยที่รัฐบาลจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้พยายามแก้ไข โดยการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบของประชานิยม และประชารัฐมิได้หมดไปตามที่ผู้รับผิดชอบในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้บอกไว้ว่าในปี พ.ศ. 2560 คนจนจะหมดไปจากประเทศไทย
แต่ในความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่นอกจากไม่หมดไปแล้ว จำนวนคนจนยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก ทั้งนี้จะเห็นได้จากคนจนที่ไปลงทะเบียนขอรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท เป็นตัวอย่าง
ดังนั้น วิกฤตโควิด-19 จึงทำให้มองเห็นความล้มเหลวในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกัน ทำให้มองเห็นจุดเด่นของประเทศไทยในด้านประเพณี และวัฒนธรรม ซึ่งมีพื้นฐานมาจากคำสอนของศาสนาพุทธ ที่ว่าด้วยการให้หรือทาน ทั้งนี้จะเห็นได้จากการบริจาคเงิน และสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ทั้งการให้แก่ผู้เดือดร้อนโดยตรง และให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ โดยผ่านทางสื่อและสถานพยาบาลโดยตรง อันเป็นการช่วยผู้ป่วยทางอ้อม
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบทั้งทางลบ และทางบวกต่อประเทศไทย ในสายตาคนต่างชาติ
ส่วนว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไรหลังภัยโควิด-19 จบ ดูเหมือนจะเป็นประเด็นสำคัญกว่าการต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะปัญหาคนจนที่เดือดร้อน และรัฐต้องแบกรับภาระในการให้ความช่วยเหลือ โดยการให้เงิน 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน และถ้าหลังจาก 3 เดือนแล้วพวกเขายังไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ รัฐบาลจะช่วยต่อไปไหม และถ้าช่วยจะหาเงินจากไหน ถ้าไม่ช่วยรัฐบาลก็จะต้องเจอปัญหาการเมือง อันเกิดจากการชุมนุมของคนเหล่านี้ โดยมีการเมืองฝ่ายตรงข้ามเข้าร่วมด้วย รัฐบาลจะแก้ไขอย่างไร
ดังนั้น ทางออกทางเดียวที่เหลืออยู่ก็คือ รัฐบาลจะต้องรีบสร้างงานเพื่อรองรับคนเหล่านี้ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อลดจำนวนคนว่างงานให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ มิฉะนั้นแล้วคนจนจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการชุมนุมขับไล่รัฐบาลแน่นอน
แต่ถ้าจะให้ปัญหาความยากจนได้รับการแก้ไขอย่างถาวร รัฐบาลจะต้องนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางให้คนจนนำไปศึกษาทำความเข้าใจแล้วถือปฏิบัติ เริ่มจากการทำให้คนเหล่านี้มีกิน มีใช้ตามอัตภาพ และไม่มีหนี้แล้วค่อยๆ ก้าวไปสู่ความมั่งคั่งด้วยการนำหลักโภควิภาค 4 ของพุทธศาสนามาใช้ โดยการแบ่งรายได้ออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน หรือเท่ากับส่วนละ 25% โดยส่วนแรกหรือ 25% ของรายได้เลี้ยงครอบครัว และตนเอง ส่วนที่สองและสามหรือ 50% ใช้เป็นทุนทำมาหากิน และส่วนสุดท้ายหรือ 25% ที่เหลือเป็นเงินออมไว้ใช้ในคราวจำเป็น
ถ้าทำได้ ความยากจนก็จะค่อยๆ ลดลง และความมั่งคั่งก็จะเกิดขึ้น เงินออมของประเทศก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็จะค่อยๆ เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ