xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บุหรี่ไฟฟ้าในยุคโควิด -19 โยนบาปขี้ยาตัวแพร่เชื้อ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ท่ามกลางข่าวความสับสนว่าไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้าสามารถแพร่โรคโควิด-19 ได้หรือไม่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคยังคงเดินหน้าปราบปรามผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้นโดยระบุว่า

บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสาเหตุเพิ่มความเสี่ยงแพร่โรคโควิด -19 ได้ โดยอ้างคำแนะนำจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเร็วๆนี้ สคบ. จึงได้ร่วมมือกับตำรวจวางแผนเข้าจู่โจมจับกุมร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า 18 จุด ในย่านคลองถม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

ผลการปฏิบัติ จับกุมผู้ค้าได้ 9 คน พร้อมของกลาง บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยา และอุปกรณ์ต่างๆ ได้กว่า 10,000 รายการ

ขณะเดียวกับกลับมีข่าวคราวว่ามีการวิจัยและการทดลองเกี่ยวกับวัคซีนจากพืชในตระกูลยาสูบ รวมทั้งนิโคติน ที่อาจเป็นหนทางรักษาโรคโควิด-19 ได้ ซึ่งเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติในตอนนี้

พร้อมทั้งรายงานข่าวจากต่างประเทศที่เผยแพร่จุดยืนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ของสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่า ปัจจุบันนี้ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวแพร่โรคโควิด-19 ได้

เราจึงต้องกลับมาตั้งคำถามว่า แม้จะมีการห้ามนำเข้าและการห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบในประเทศมากว่า 5 ปีแล้วนั้น แต่ทำไมผู้บริโภคจำนวนมากยังคงต้องการบริโภค หรือใช้บุหรี่ไฟฟ้า

ทำไมเราจึงยังพบเห็นคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นจำนวนมากในที่ต่างๆ เหมือนเป็นสินค้าปกติที่ถูกกฎหมาย

การเติบโตของบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน(Heated Tobacco Product)ได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก จากประมาณ 7 ล้านคนในปี 2011 เพิ่มมาเป็น 41 ล้านคนในปี 2018 และในปี 2021 ตามข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าถึง 45 ล้านคนทั่วโลก

มีการคาดการณ์ว่า ตลาดทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 6 แสนล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 180% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกที่มีการใช้จ่ายสูงถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐไปกับผลิตภัณฑ์ไร้ควันและบุหรี่ไฟฟ้าในปี 2018

อีกกระแสที่กำลังมาแรงไม่แพ้กันคือ IQOS ซึ่งเรียกกันว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน(Heated Tobacco Products - HTP) ที่มีวางจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 2014 ถูกคิดค้นและผลิตขึ้นโดย บริษัท Philip Morris International Inc. เป็น ผลิตภัณฑ์ยาสูบทางเลือกที่ถูกพัฒนามาเพื่อลดอันตรายที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ปัจจุบัน IQOS วางจำหน่ายอย่างถูกต้องตามกฎหมายใน 53 ประเทศ ด้วยยอดขายกว่า 130,000 ล้านบาทในปี 2018

ปัจจุบันมีประเทศที่บุหรี่ไฟฟ้ายังผิดกฎหมายประมาณ 41 ประเทศทั่วโลก ซึ่งหากดูรายชื่อประเทศดังกล่าว ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศกำลังพัฒนาแทบทั้งสิ้น นั่นหมายความว่า ประเทศส่วนใหญ่ในโลก ไม่ได้ห้ามประชาชนในประเทศใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่ได้ปิดกั้นประชาชนจากทางเลือกที่ดีกว่า อันประชาชนพึงจะได้รับ

และหลายประเทศควบคุมให้ถูกต้องตามกฎหมายและส่งเสริมให้ประชาชนใช้เพื่อทดแทนบุหรี่ ดังเช่นตัวอย่างในประเทศอังกฤษที่กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดทางเลือกให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเครื่องมือในการช่วยเลิกการสูบบุหรี่แบบมวน

โดยที่อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในปี 2019 เท่ากับ 7.1% ของประชากรในประเทศ หรือเทียบเท่ากับจำนวน 3.6 ล้านคนโดยเติบโตขึ้นกว่าปี 2012 ถึง5 เท่าภายในระยะเวลาเพียง 7 ปี

เช่นเดียวกับในประเทศไทย จากงานวิจัยเมื่อปี 2557 ของอาจารย์อุ่นกัง แซ่ลิ้ม อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่าในประเทศไทยมีการเติบโตของตลาดบุหรี่ไฟฟ้าและยาสูบแบบไร้การเผาไหม้ใต้ดิน ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 6 พันล้านบาท และยังเติบโตอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 100 ทุกปี

มีการคาดการณ์ว่าปัจจุบันมีผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ไร้ควันมากกว่า 400,000-500,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งหากประมาณการจนถึงปัจจุบัน มูลค่าตลาดใต้ดินรวมของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวคงมีมากกว่าหมื่นล้านบาทขึ้นไป

ประเทศไทยกับแนวทางควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่สวนทางกับนานาชาติ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 และคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 9/2558 ห้ามขาย หรือห้ามให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า

โดยประกาศและคำสั่งดังกล่าวเกิดจากการร้องขอจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แม้จะเคยออกมายอมรับว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่า แต่กลุ่มรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ในประเทศไทยยังสนับสนุนให้มีการแบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป โดยอ้างว่ายังไม่มีผลการศึกษาในระยะยาวและเป็นการทำเพื่อจำกัดการเข้าถึงของเยาวชน

แม้ว่าผลการศึกษาระยะยาวยังคงต้องมีการติดตามต่อ แต่จากประโยชน์ที่เห็นอย่างเด่นชัดคือ การลดความเสี่ยงตามแนวคิด “การลดอันตรายจากการสูบบุหรี่”(Tobacco Harm Reduction)ให้แก่ผู้ที่ยังไม่สามารถเลิกหรือยังไม่ต้องการเลิกผลิตภัณฑ์ที่ให้นิโคติน หรือผู้ที่ต้องการตัดปริมาณการสูบบุหรี่ หรือผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ ด้วยการตัดการเผาไหม้ที่เป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ออกไป

มีการพูดถึงว่า ประเทศไทยกำลังสูญเสียโอกาส จากการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า การสูญเสียที่สำคัญ คือการสูญเสียโอกาสด้านการคุ้มครองเด็กและเยาวชน ทุกวันนี้เด็กและเยาวชนสามารถซื้อบุหรี่ไฟฟ้าได้ตามแหล่งจำหน่ายที่ผิดกฎหมาย ทั้งจากออนไลน์ เฟซบุ๊ก หรือตามตลาดมืดทั่วไป โดยไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปควบคุมหรือจัดระเบียบได้

ตรงกันข้ามกับในต่างประเทศ ซึ่งกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย ซึ่งสามารถจำกัดการเข้าถึงของเยาวชนได้ โดยการกำหนดอายุขั้นต่ำผู้ซื้อ หรือการห้ามโฆษณา ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์ทางด้านสาธารณสุขสูงสุด

การสูญเสียโอกาสด้านการป้องกันการคอร์รัปชัน การแบนบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบัน ทำให้เกิดปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมาย กลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐรีดไถ จับกุมผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเพียงผู้บริโภคที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพให้กับตัวเอง

การสูญเสียโอกาสด้านการจัดเก็บรายได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้ากลุ่มบุหรี่ไฟฟ้าด้วย ทำให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากบุหรี่ไฟฟ้าได้แล้ว

แต่ปัจจุบันเนื่องจากการแบนทำให้ตลาดใต้ดินเติบโต โดยไร้การจัดเก็บภาษีซึ่งควรเป็นเม็ดเงินที่นำเข้ารัฐได้เป็นจำนวนมาก

การจัดการเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ จะตั้งด่านกักกั้นอย่างเดียวคงไม่ได้ ดังนั้นการจะแก้ปัญหาต้องขึ้นอยู่กับการยอมรับความจริง เป็นสิ่งที่สำคัญ และควรมองเห็นผลได้ผลเสียอย่างมีเหตุมีผล โดยเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ก็จะมีทางออกที่ดีกว่าใช้วิธีการไม่ยอมรับและค้านอย่างหัวชนฝา


กำลังโหลดความคิดเห็น