xs
xsm
sm
md
lg

ละเมิดกฎหมายเพราะไร้ศีลธรรม : บ่อเกิดปัญหาสังคม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง



มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Social Animal) ตามนัยแห่งคำจำกัดความของวิชาสังคมศาสตร์ โดยมีคำอธิบายให้เหตุผลว่า มนุษย์มีการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ในทำนองเดียวกันกับสัตว์ซึ่งอยู่รวมกันเป็นฝูง

ถึงแม้ว่ามนุษย์อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เฉกเช่นสัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นฝูง แต่เหตุแห่งการอยู่รวมกันของมนุษย์แตกต่างจากสัตว์ ซึ่งเป็นไปตามนัยแห่งวิชาจริยศาสตร์ Ethics ที่ว่าด้วยความแตกต่างระหว่างคนกับสัตว์ 2 ประการคือ

1. ทางด้านโครงสร้างของร่างกาย

คนมีโครงสร้างของร่างกายสูงขึ้นทางแนวดิ่งของพื้นผิวโลก แต่โครงสร้างทางด้านร่างกายของสัตว์ยาวไปตามแนวนอนขนานกับพื้นผิวของโลก

2. ทางด้านจิตใจ

คนมีเหตุผลควบคุมพฤติกรรม แต่สัตว์ไม่มีเหตุผลควบคุมพฤติกรรมมีเพียงสัญชาตญาณเท่านั้นในการควบคุมพฤติกรรม

โดยนัยแห่งความต่างในข้อ 2 จึงอนุมานได้ว่า การอยู่ร่วมกันของคนขึ้นอยู่กับเหตุผล เช่น เพื่อป้องกันการรุกรานจากศัตรู การช่วยเหลือเกื้อกูลในการทำมาหากิน และการทำกิจกรรมร่วมกันในด้านต่างๆ เช่น ในด้านบันเทิง เป็นต้น

เนื่องจากการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มของมนุษย์ขึ้นอยู่กับเหตุผล ดังนั้น เมื่อกาลเวลาผ่านไป การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มในรูปแบบของชนเผ่าต่างๆ ในยุคแรกๆ จึงได้วิวัฒนาการเรื่อยมาจากการอยู่รวมกัน และเร่ร่อนไปได้กลายมาเป็นการตั้งถิ่นฐานแน่นอน และครอบครองที่ดิน โดยการแบ่งเขตเป็นแคว้น เป็นประเทศ และมีผู้ปกครองซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้คน

จากจุดนี้เอง สังคมมนุษย์ได้เจริญก้าวหน้าทางวัตถุมากขึ้น และจากความเจริญทางวัตถุนี้เอง ทำให้ความเชื่อ ความศรัทธาในคำสอนของลัทธิและศาสนาเสื่อมถอยลง ประกอบกับจำนวนของผู้คนมีมากขึ้น จึงได้มีการออกระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการปกครองควบคู่ไปกับคำสอนของศาสนา ทั้งนี้เพื่อให้สังคมมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเกิดสันติสุขในการอยู่รวมกัน

แต่ไม่ว่าจะมีการออกกฎหมาย และมีการบังคับใช้โดยมีบทลงโทษผู้ล่วงละเมิดอย่างเข้มงวดกวดขันขนาดไหนก็ตาม ก็จะยังคงมีผู้กระทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. กฎหมายจะลงโทษผู้กระทำผิดได้ต่อเมื่อมีหลักฐานมัดตัวผู้กระทำผิดเพียงพอ ให้กระบวนการยุติธรรมพิจารณาพิพากษาลงโทษได้เท่านั้น

2. ไม่ว่ากฎหมายที่ออกมามีผลบังคับใช้จะรอบคอบรัดกุมมากขนาดไหน ถ้าผู้รักษากฎหมายและมีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายไม่มีความยุติธรรม จะด้วยถูกความโลภหรือถูกความกลัวครอบงำ โอกาสที่ผู้กระทำผิดซึ่งมีอิทธิพลเหนือผู้คนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหนือเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และเหนือโจทก์ผู้เสียหาย จะหลุดรอดจากการถูกลงโทษเป็นไปได้มาก

ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการข้างต้น จะเห็นได้ในสังคมไทยในปัจจุบันที่ผู้กระทำผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้กระทำผิดคดีอาญาประเภทประสงค์ต่อทรัพย์ เช่น จี้ ปล้น เป็นต้น และจากปรากฏการณ์ทางสังคมที่เป็นเช่นนี้ อนุมานได้ว่ากระบวนการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่มีทางแก้ปัญหาสังคมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้นำประเทศจะได้หันมาทบทวนกระบวนการเรียน กระบวนการสอน โดยการปลูกฝังคุณธรรมควบคู่ไปกับการเรียนรู้วิชาการทางด้านต่างๆ เพื่อให้คนในชาติมีคุณธรรมมากขึ้น แทนที่จะเติบโตเพียงด้านร่างกาย แต่จิตใจไร้คุณธรรม วันใดคนเหล่านี้กลายเป็นผู้นำประเทศ วันนั้นประเทศจะตกต่ำ อาชญากรรมเกลื่อนเมือง ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการมุ่งเน้นการพัฒนาในด้านวัตถุมากกว่าทางด้านจิตใจ จึงทำให้สังคมเติบโตไปในทิศทางที่ไม่สมดุลระหว่างวัตถุกับทางด้านจิตใจ ตัวอย่างเห็นได้ชัดเจนการเกิดโรคระบาดโควิด-19 และมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่มีคนส่วนหนึ่งฝ่าฝืน และไม่ให้ความร่วมมือซึ่งเกิดจากการขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อตนเอง และสังคมโดยรวม ซึ่งมีรากฐานมาจากการปลูกฝังคุณธรรม

จึงได้แต่หวังว่าจากนี้ไป ผู้นำประเทศจะได้ทบทวนการศึกษาให้มีการเรียน การสอนวิชาการด้านต่างๆ ควบคู่ไปกับการปลูกฝังคุณธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น