"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
นับตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีการรายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เป็นรายแรกในประเทศไทย มาถึงวันนี้ครบ 100 วันพอดี ของสงครามไวรัสโควิด-19 ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน น่าจะพูดได้แล้วอย่างมั่นใจว่า เราสามารถควบคุม และลดการระบาดของไวรัสได้เป็นอย่างดี จน “เอาอยู่” แล้ว
เพจ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิค-19 หรือ ศบค.ได้โพสต์ข้อความ “100 วันแห่งการต่อสู้ สดุดีทีมแพทย์ไทย” ความว่า
“นับตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2563 วันที่มีการรายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เป็นรายแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน และเป็นผู้ป่วยโควิด-19 นอกประเทศจีนเป็นรายแรก นับถึงวันนี้ 22 เมษายน นับเป็นเวลา 100 วันแล้ว ที่ทีมบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล นักวิจัย รวมถึงไป อสม.ทั่วประเทศกว่า 1 ล้านคน ได้ทำหน้าที่เป็นนักสู้แนวหน้า เสียสละ ทุ่มเทแรงกายแรงใจ เพื่อช่วยกันดึงกราฟยอดผู้ติดเชื้อให้ตกลงมาจนประสบความสำเร็จ จากที่สูงสุด 188 รายในหนึ่งวัน (22 มี.ค. 63) จนลดลงมาเรื่อยๆ วันนี้เหลือ 15 ราย
นอกจากนั้น ทีมแพทย์ไทย ยังสามารถรักษาผู้ป่วยทั้งไทยและต่างชาติ จนมีผู้รักษาหายดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วันนี้มีผู้หายดีมากถึง 244 ราย มากกว่ายอดผู้ติดเชื้อถึงมากกว่า 16 เท่า ทำให้ยอดของผู้หายดีสูงถึง 2,352 เข้าใกล้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,826 ราย เข้าไปทุกที เหลือผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ 425 ราย จากที่เคยขึ้นสูงสุด 1,472 ราย (5 เม.ย.63)
เราเคยหวั่นกลัวว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยจะขึ้นไปถึง 20% หรือ 30% อย่างในบางประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดสภาวะที่ทำให้คนป่วยล้นโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งเราเคยมีบางวันที่อัตราการเพิ่มนั้นถึงไปสูงถึง 45% (22 มี.ค. 63) แต่ด้วยความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ของไทย รวมทั้งความร่วมมือของประชาชนส่วนใหญ่ ทำให้เหตุการณ์เช่นนั้นไม่เกิดขึ้น และค่อยๆ ลดลง จนเหลือเพียงเลขหลักเดียว จนวันนี้อัตรานั้นต่ำกว่า 1% แล้ว
ในวันนี้ที่ครบ 100 วันของการต่อสู้กับโรคร้าย โควิด-19 เพจ ศบค.ขอสดุดีและขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล อสม. และทุกคนที่เสียสละ อดทนร่วมกันจนมาถึงวันนี้ค่ะ”
ตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 23 เมษายน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียง 13 คน รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2,839 คน รักษาหายแล้ว 2,430 คน รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 359 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 50 ราย
เมื่อแนวรบด้านโรคระบาดใกล้สงบ ด้วยประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขไทย ความทุ่มเท อุทิศตัวของบุคลากรทางการแพทย์ กลไกการควบคุมในท้องถิ่น คือ อสม.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนความร่วมมือของประชาชน ในการหยุดอยู่บ้าน แนวรบต่อไปที่จะต้องผจญก็คือ แนวรบด้านเศรษฐกิจ
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั้งโลก กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่างต้องยุติลง เครื่องบินหยุดบิน กีฬาหยุดแข่ง อีเวนท์ทั้งใหญ่ทั้งเล็กเลื่อนไม่มีกำหนด ร้านอาหาร สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้าปิด เมื่อชีพจรเศรษฐกิจอ่อนแรงจนแทบจะหยุดเต้น ลมหายใจของผู้คนก็รวยระริน นานไปกว่านี้ก็อาจช้าเกินกว่าจะกอบกู้ชีวิตไว้ได้
เงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบรายละ 5 พันบาทเป็นเวลา 3 เดือน ที่ตั้งงบประมาณไว้ 2.1 แสนล้าน สำหรับประชาชน 14 ล้านคน ค่าชดเชยการว่างงานสำหรับผู้อยู่ในระบบประกันสังคมอีกจำนวนหนึ่ง เป็นเงินต่ออายุชั่วคราว ประทังชีวิตในยามที่เครื่องจักรเศรษฐกิจถูกปิดสวิตช์ดับสนิท ต่อจากนี้ทำอย่างไรเครื่องจักรเศรษฐกิจจึงจะติดเครื่องขึ้นมาใหม่ และเมื่อติดเครื่องแล้ว จะเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น ไม่ดับๆ ติดๆ หรือไม่
เงินเยียวยา 2 แสนล้านบาท บวกกับเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่จะตามมาไม่มากนัก แต่ก็น่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจฐานรากขับเคลื่อนไปได้ระยะหนึ่ง หลังจากนั้น ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง จะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจขยับต่อไปได้อีก เพราะเป็นผู้จ้างงานรายใหญ่ หากเอสเอ็มอีฟื้น เกิดการจ้างงาน คนมีรายได้ มีการจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจจะหมุนเวียนต่อไปได้
แต่อย่างไรเสีย ก็จะไม่เหมือนตอนก่อนโควิด เพราะก่อนหน้านั้น เราพึ่งกำลังซื้อจากต่างประเทศ คือ การท่องเที่ยวมานานนับสิบปี หลังการระบาดลดน้อยลง จนถึงขั้นควบคุมได้ การเดินทางไปมาหาสู่กันคงถูกจำกัด เพราะการระบาดที่เกิดขึ้นมากับคนที่เดินทางมาทางเครื่องบิน จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันนั่นแหละ การท่องเที่ยวจึงจะกลับมาอีก อย่างเร็วที่สุดก็ต้นปีหน้า
แนวรบด้านสาธารณสุขนั้น เอาชนะได้ เพราะมีวิธีการรบที่ชัดเจน รู้ว่าต้องทำอะไร มีนักรบที่เข้มแข็ง มีประสบการณ์ แนวรบด้านเศรษฐกิจ แม้เป้าหมายจะชัดเจน แต่ยากกว่าหลายเท่า วิธีการนั้นหลากหลาย ไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องลองจึงจะรู้ นอกจากนั้น หากไม่สามารถรวบรวมสรรพกำลังให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เหมือนการต่อสู้กับโรคระบาดแล้ว แนวรบด้านเศรษฐกิจก็จะเต็มไปด้วยความยากลำบาก ในการฝ่าฟันไปสู่ชัยชนะ
ความหวังฝากไว้ที่แม่ทัพใหญ่ว่า จะตัดสินใจเลือกใช้กลยุทธ์ได้ถูกต้อง และตัดสินใจได้เด็ดขาด