xs
xsm
sm
md
lg

ความสุขหมายเลข 1 กับการสอบติดมหาวิทยาลัยโตเกียว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก https://toyokeizai.net/articles/
คอลัมน์ เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น โดย ซาระซั

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน มีท่านไหนบ้างไหมคะที่ถูกปลูกฝังมาแต่เด็กว่าถ้าอยากประสบความสำเร็จในชีวิตต้องตั้งใจเรียน จะได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยดังได้ และถ้าเรียนจบมหาวิทยาลัยดังก็จะได้งานดี ๆ ทำ แม้ว่าเมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่แล้วอาจจะค้นพบว่าความคิดนี้ไม่ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่กระนั้นการแข่งขันทางการศึกษาก็ไม่ได้ลดลงเลย คนญี่ปุ่นเองที่อยากก้าวขึ้นบันไดสู่ “ความสำเร็จ” ก็ต้องผ่านการเตรียมตัวทางการศึกษาอย่างหฤโหดเช่นกัน และบางทีอาจจะโหดกว่าบ้านเราเสียอีก

คนญี่ปุ่นที่อยากปั้นลูกให้เดินเส้นทาง elite (หรือจะเรียกว่า “ไฮโซ” ก็คงได้)​ ไม่ได้คิดแค่ว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งให้ได้เท่านั้น แต่คิดว่าก่อนหน้านั้นจะต้องจบจากโรงเรียนชั้นนำด้วย ทำนองว่าเป็นการ “สร้างแบรนด์” อย่างต่อเนื่องก็ว่าได้ เรื่องนี้อาจจะคล้ายบ้านเราส่วนหนึ่งรวมทั้งหลายประเทศในเอเชีย ที่คนพยายามส่งเสียให้ลูกได้เข้าเรียนโรงเรียนดี ๆ ไว้ก่อน แล้วเข็นกันให้เข้ามหาวิทยาลัยดังต่อไป

หลายท่านคงรู้จักมหาวิทยาลัยโตเกียว หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกกันสั้น ๆ ว่า “โทได”​ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น และเป็นความใฝ่ฝันของพ่อแม่หลายต่อหลายคน ว่ากันว่าถ้าอยากเข้ามหาวิทยาลัยนี้ให้ได้ต้องเตรียมตัวกันตั้งแต่อนุบาลหรือประถมเลยทีเดียว

“สอบผ่าน” ภาพจาก https://toyokeizai.net/articles/
ช่วงที่ผ่านมารายการโทรทัศน์ญี่ปุ่นมักนำเรื่องราวเกี่ยวกับการเตรียมตัวสอบเข้าโทไดมาให้รับชมอยู่เนือง ๆ แบบไม่รู้เบื่อกันเสียที ที่จำได้แม่นคือคุณแม่คนหนึ่งที่ถึงขนาดยอมอ่านหนังสือสอบเป็นเพื่อนลูก ผลปรากฏว่าคุณแม่สอบเข้าโทไดได้ ในขณะที่ลูกสอบติดมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของเอกชนซึ่งเป็นอันดับรองลงไปจากโทได


ว่าแต่การสอบติดโทไดคือความสุขหมายเลขหนึ่งอย่างที่คนจำนวนมากใฝ่ฝันกันจริง ๆ หรือ?

นักศึกษาปัจจุบัน อดีตนักศึกษา และอาจารย์ของโทไดจำนวนหนึ่งกล่าวคล้ายคลึงกันถึงความรู้สึก “พร่อง” และความหิวกระหาย “ความมั่นคงทางใจ” อย่างยิ่งของนักศึกษาโทได เช่น ในวัยเด็กเคยรู้สึกถึงความว่างเปล่าในใจ ไม่รู้ว่าคุณค่าของตัวเองอยู่ตรงไหน แต่จะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าหรือเป็นที่ยอมรับก็ต่อเมื่อทำอะไรได้ดีเด่นแล้วมีคนชม จนบางคนก็ยึดติดว่าคุณค่าของตนอยู่ที่การเป็นที่หนึ่งเหนือใคร ยิ่งคนไหนเคยเป็นที่หนึ่งในโรงเรียนธรรมดาหรือโรงเรียนต่างจังหวัด แล้วพอสอบติดโทไดมาเจอบรรดาหัวกะทิจากโรงเรียนอันดับต้น ๆ ของเมืองกรุงเข้า ที่เคยเชื่อว่าตนเก่งเป็นที่หนึ่งก็มลายหายไป เกิดความรู้สึกด้อยค่าขึ้นมาทันที

ดังเช่น อดีตนักศึกษาโทไดคนหนึ่งที่ชอบเล่นเปียโนมากและใฝ่ฝันอยากเป็นนักเปียโนมาแต่เด็ก ด้วยความที่ผลการเรียนของเขาดันเป็นที่หนึ่งของท้องถิ่นและของจังหวัด จึงทำให้คนรอบข้างพากันคาดหวังไปโดยปริยายว่าน่าจะสอบเข้าโทไดได้ เขายอมทิ้งความฝันเดิม หันมาตั้งใจเรียนเพื่อให้สอบได้ และเมื่อสอบติดถึงได้รู้ว่าที่เคยคิดว่าตนเป็นที่หนึ่งนั้น จริง ๆ ยังมีคนอีกมากมายที่เหนือกว่า

เมื่อความรู้สึกไร้ค่าเกิดขึ้น บวกกับการที่เขาไม่รู้ว่าอยากทำอะไรหลังจากได้เข้าเรียนที่โทได รวมทั้งความเสียใจที่ไม่ได้ทำตามความฝันที่อยากเป็นนักเปียโน ทำให้เขาไม่มีกะจิตกะใจจะเรียนหนังสือ พอถึงเวลาต้องเลือกวิชาเอกซึ่งมีการแข่งขันสูงนั้น เขาก็คะแนนไม่ถึง จึงอดเรียนวิชาเอกที่ต้องการ แม้ว่าเขาจะโหมกระหน่ำเรียนจนได้เรียนปริญญาโทในวิชาเอกนั้นในภายหลัง แต่สุดท้ายเขาก็เครียดมากจนเขียนวิทยานิพนธ์ไม่เสร็จ ต้องออกจากการเรียนกลางคัน จบลงด้วยการขอความช่วยเหลือจากศูนย์จัดหางานให้ช่วยหางานให้ไปอย่างน่าเสียดาย

ภาพจาก http://goodstory.biz/thinking/
ในทางตรงกันข้าม นักศึกษาโทไดอีกคนหนึ่งหันมาก่อตั้งธุรกิจของตัวเองตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา เขาให้ความเห็นว่า นักศึกษาโทไดจำนวนมากอยากเป็นในสิ่งที่สังคมให้การยอมรับ ซึ่งอย่างแรกก็คืออยากให้พ่อแม่ยอมรับ น้อยคนที่จะรู้ถึงคุณค่าของตนเองอย่างที่ตัวเองเป็นได้อย่างแท้จริง หรือตัดสินด้วยตัวเองได้ว่าสิ่งไหนดีไม่ดีสำหรับตน ได้แต่ทำตามที่พ่อแม่เห็นว่าดี

มักมีคนมาถามนักศึกษาคนนี้ว่าทำไมเขาถึงมาตั้งธุรกิจตัวเอง อุตส่าห์ได้เข้าโทไดทั้งที ทำไมไม่คิดจะไปทำงานบริษัทใหญ่ ๆ แม้พ่อแม่ของเขาเองจะไม่ได้พูดเช่นนี้ แต่พ่อแม่ของนักศึกษาโทไดหลายคนมองว่าถ้าลูกเดินตามกรอบที่สังคมให้คุณค่าถึงจะเรียกว่าดี ไม่ว่าจะเป็นการได้ทำงานกระทรวงฯ หรือบริษัทใหญ่ หรือเป็นหมอ ซึ่งตัวนักศึกษาโทไดเองที่คิดจะเดินตามรอยที่สังคมกำหนดแบบนี้ก็มีเป็นจำนวนมาก หาได้ยากที่จะเจอคนกล้าแหวกแนวคิดเดิม ๆ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคม

แม้ว่านักศึกษาโทไดอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนี้กันหมดทุกคน แต่ก็พอทำให้มองเห็นภาพราง ๆ ว่าคงจะมี “หัวกะทิ” จำนวนมากที่ไม่ได้ใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ เพราะแทนที่จะได้เป็นในสิ่งที่ตนอยากเป็น ใช้ความสามารถทำสิ่งที่ตนถนัด ก็ได้แต่เดินตามเส้นทางที่คนอื่นขีดไว้

แต่หากรู้จักตนเองดี มีเป้าหมายชัดเจน หรืออยากท้าทายความสามารถของตนเอง จึงพยายามเต็มที่ในการสอบเข้าโทได แบบนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง ต่อให้สอบไม่ติด เจ้าตัวก็คงจะเลือกหนทางดี ๆ อย่างอื่นที่มีอยู่ หรือสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้ตัวเองเป็น โดยไม่มองว่าการสอบไม่ติดโทไดหรือไม่ได้เป็นที่หนึ่งคือ "หายนะของชีวิต"

ภาพจาก http://blog.livedoor.jp/stakeid/
คนที่ฉันรู้จักคนหนึ่งเรียนจบจากโทไดโดยที่ทางบ้านไม่ได้เคี่ยวเข็ญให้ตั้งใจเรียน ไม่เคยไปเรียนกวดวิชา อาศัยว่าชอบศึกษาหาความรู้เป็นทุนเดิม จึงตั้งใจเรียนอยู่เป็นปกติ แต่ถึงเวลาเล่นก็เล่น เพิ่งจะมาอ่านหนังสือสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ตอนเรียนมัธยมปลายปีที่ 6 แล้ว สมัยยังเป็นนักศึกษาเขาเคยบอกว่าอยากทำงานด้านไหน ปัจจุบันเขาก็ได้ทำงานและเติบโตในด้านนั้นจริง ๆ และยังคงชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ นอกเหนือจากในงานอยู่ตลอดเวลา

แต่กระนั้นตัวเขาเองกลับบอกว่าถ้ามีลูกก็ไม่อยากให้ลูกเอาแต่เรียน ไม่คิดจะเคี่ยวเข็ญให้ลูกต้องเข้าโรงเรียนดี ๆ หรือไปเรียนพิเศษ เขาว่าโลกนี้มีสิ่งให้เรียนรู้อยู่รอบด้านเต็มไปหมด ความรู้ไม่ได้อยู่แต่ในหนังสือหนังหา นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญและดีต่อเด็กก็ไม่ใช่เรื่องของการเป็นที่หนึ่งด้านการศึกษาด้วย

เพื่อนฉันอีกคนก็หัวกะทิแบบหาตัวจับยาก เคยทำงานองค์กรระดับสูง และปัจจุบันผันตัวมาเป็นหมอ เธอเคยพูดทำนองนี้เหมือนกันว่า ไม่คิดจะให้ลูกต้องเรียนหนักหรือขีดเส้นทางชีวิตให้ลูก และยินดีที่จะให้ลูกประกอบอาชีพอะไรก็ได้ในอนาคตตามที่ลูกอยากจะเป็น


เพื่อน ๆ ที่เรียนเก่งหลายคนพากันสรุปความเห็นออกมาคล้าย ๆ กันว่า การศึกษาไม่ได้ช่วยให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเสมอไป มันอาจเพิ่มโอกาสให้ชีวิตมากขึ้นก็จริง แต่มันไม่ใช่สูตรสำเร็จว่าคนไหนเรียนเก่ง จบสูง จบมหาวิทยาลัยดัง แล้วจะประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างแน่นอน

“ยินดีด้วยที่สอบติดมหาวิทยาลัยโตเกียว”  ภาพจาก http://blog.livedoor.jp/
แถมคนที่เคยชินกับการเดินอยู่ในเส้นทางของ “ความมั่นคง” ว่าต้องอย่างนี้ต้องอย่างนั้น เช่น ต้องเรียนจบสถาบันนี้ ได้เข้าทำงานที่นั้น ฯลฯ บางคนอาจปรับตัวยากเมื่อชีวิตไม่ได้เป็นไปตามแผนหรือมีความเปลี่ยนแปลง เช่น ไม่กล้าเสี่ยงที่จะลองทำสิ่งใหม่ ๆ หรือไม่กล้าก้าวออกจากจุดที่ยืนอยู่ กลัวความผิดพลาด เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่ได้โดดเด่นด้านการเรียนหลายคนกลับปรับตัวได้ดีเมื่อสถานการณ์ในชีวิตเปลี่ยนไป กล้าลองผิดลองถูกมากกว่า หากมีความเปลี่ยนแปลงด้านการงานหรือในชีวิตโดยรวม ก็สามารถตั้งหลักหันมาสร้างอาชีพใหม่ให้ตัวเองสนุกหรือมีรายได้ที่ดีต่อไปได้ โดยไม่ได้ยึดติดกับชื่อองค์กร ตำแหน่ง หรือลักษณะงาน

สิ่งเหล่านี้ทำให้ฉันนึกย้อนไปถึงประโยคที่เคยอ่านเจอที่ไหนสักแห่ง เขียนไว้ประมาณว่า วามรู้ไม่ใช่สติปัญญา ความรู้ช่วยให้คุณมีอาชีพ แต่สติปัญญาช่วยให้คุณมีชีวิตที่สมบูรณ์”

โดยสรุปแล้ว จะประสบความสำเร็จอย่างมีความสุขในชีวิตไหม น่าจะอยู่ที่เจ้าตัวเองมากกว่าชื่อสถาบันที่สอบติดหรือเรียนจบมา การรู้จักตัวเอง ใช้สติปัญญา หมั่นพัฒนาตนเอง และสู้ชีวิตไม่ถอย น่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้คนคนหนึ่งก้าวกระโดดไปสู่จุดที่ดีสำหรับตัวเองได้ แล้วความภูมิใจในตนเองและความพอใจในชีวิตก็น่าจะตามมาเอง เพราะรู้ชัดถึงคุณค่าและเป้าหมายในชีวิตตนโดยไม่ต้องรอให้ใครมากำหนดให้

นี่อาจเป็นความสุขหมายเลขหนึ่งที่ยั่งยืนกว่าการตามล่าหาความสุขด้วยการพยายามไปสู่จุดที่ค่านิยมสังคมบอกว่าดี โดยที่ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วอะไรแน่ที่ดีและเหมาะสำหรับตนเสียอีกก็เป็นได้

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.




กำลังโหลดความคิดเห็น