กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ 14 เมษายน ที่ผ่านมา
ทุกปีในช่วงเวลานี้ คือ ฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกเหนือเส้นศูนย์สูตร เป็นวาระการประชุมประจำปีของไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก ที่ผู้กำหนดนโยบายการเงิน การคลัง นักการเงินทั่วโลก จะไปพบปะชุมนุมกันที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ปีนี้การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องประชุมกันแบบเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์
รายงานฉบับนี้ระบุว่า การล็อกดาวน์ครั้งใหญ่เพื่อควบคุมการระบาด ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก เกิดภาวะชะลอตัว จะเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงที่สุดนับจากวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี 1930 และยังเป็นการถดถอยครั้งแรกภายหลังจากวิกฤตภาคการเงินโลกปี 2009 ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจชะลอลงเพียง 0.1% และพวกชาติตลาดเกิดใหม่รายใหญ่ยังคงเติบโตได้อย่างมั่นคง
The Great Depression หรือวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามทำให้ประเทศในยุโรปซึ่งเป็นสมรภูมิการสู้รบพังพินาศ มหาอำนาจทางเศรษฐกิจในเวลานั้น คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย เศรษฐกิจหยุดชะงัก คนตกงานหลายล้านคน
สหรัฐอเมริกาไม่ได้รับผลกระทบเลย เพราะเขารบกันที่ยุโรป หลังสงครามสิ้นสุดลงใหม่ๆ เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จึงเป็นเครื่องจักรที่ช่วยฉุดยุโรป และเศรษฐกิจโลกในขณะนั้น ให้ขยับไปข้างหน้าอย่างช้าๆ ด้วยการส่งความช่วยเหลือทั้งในรูปสินค้า และเงินไปให้ประเทศยุโรปตะวันตก
แต่หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปี การเก็งกำไรในตลาดหุ้นสหรัฐฯ นำไปสู่ภาวะฟองสบู่ ปรากฏการณ์วันอังคารทมิฬ (29 ตุลาคม 1929) นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ ซ้ำเติมเศรษฐกิจยุโรปที่ยังย่ำแย่ พลอยฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกให้ตกต่ำตามไปด้วย
ประเทศไทยในตอนนั้น ได้รับผลกระทบไปด้วย แม้ว่าโลกยังไม่รู้จัก “โลกาภิวัตน์” แต่ประเทศต่างๆ ทำมาค้าขายระหว่างกันมานานแล้ว เศรษฐกิจที่ตกต่ำในยุโรปลามมาถึงเอเชีย ส่งผลให้การส่งออกของไทยสะเทือนไปด้วย รายได้ที่ลดน้อยลง ทำให้รัฐบาลภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในขณะนั้น ต้องลดค่าใช้จ่าย ด้วยการเลย์ออฟ ข้าราชการซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มเดียวในเวลานั้น ทำให้เกิดความไม่พอใจ และเป็นชนวนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2547
สงครามไวรัสโควิด-19 ในตอนนี้ ไม่มีความเสียหายต่อทรัพย์สิน โรงงาน คนไม่ได้ตายมากเหมือนสงคราม แต่ผลที่เกิดขึ้นอาจไม่ต่างกัน คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดหมด โรงงานหยุดผลิต ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารหยุดขาย เครื่องบินจอดนิ่งทั่วโลก รถโดยสาร รถไฟหยุดวิ่ง คนว่างงาน ตกงานหลายสิบล้านคน
เครื่องจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกทั้งยุโรป สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ดับสนิท
กีตา โกพินาถ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า หากสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ และเศรษฐกิจเริ่มเดินเครื่องอีกครั้ง ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลกอาจฟื้นตัวในอัตรา 5.8% ในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม คณะผู้จัดทำรายงานยอมรับว่า การคาดการณ์อย่างแม่นยำท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในขณะนี้เป็นไปได้ยาก
ความสูญเสียสะสมของจีดีพีโลกในช่วงปี 2020-2021 จากวิกฤตโรคระบาดอาจสูงถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์ เท่ากับมูลค่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นและเยอรมนีรวมกัน หากการระบาดและการใช้มาตรการควบคุมยืดยาวออกไป หรือถ้ามีมาตรการปิดเมืองและการว่างงานเป็นเวลานาน ก็จะส่งผลกระทบกว้างขวางขึ้น และผลลัพธ์ต่อการเติบโตมีแนวโน้มยิ่งเลวร้ายลง
ช่วงที่เกิดเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน เศรษฐกิจโลกหดตัวราว 10% และ 16% สำหรับประเทศชั้นนำในช่วงระหว่างปี 1929-1932 สำหรับปีนี้ ไอเอ็มเอฟ คาดว่า เศรษฐกิจประเทศชั้นนำจะหดตัว 6%
เวลานี้รัฐบาลหลายประเทศก็กำลังเตรียมนำมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายขนาดใหญ่มาใช้ควบคู่กับที่ธนาคารกลางอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
ไอเอ็มเอฟ เชื่อว่า หลังจากวิกฤตสุขภาพผ่านพ้นไป ประเทศชั้นนำจะต้องออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังอย่างครอบคลุมอีกระลอก ซึ่งหากประเทศเหล่านั้นร่วมมือกัน มาตรการเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งช่วยหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่แล้วที่ประเทศต่างๆ เลือกใช้นโยบายพาณิชย์นิยม ที่ไร้ประโยชน์ และยังทำให้เศรษฐกิจโลกยิ่งตกต่ำกว่าเดิม
แน่นอนที่ว่า มาตรการใช้จ่ายอย่างใหญ่โตมโหฬารของชาติต่างๆ จะทำให้ยอดหนี้ของรัฐบาลพุ่งกระฉูด จากระดับเฉลี่ยปัจจุบันซึ่งอยู่ที่กว่า 80% ของจีดีพี และยังทำให้งบประมาณอยู่ในภาวะขาดดุลมากขึ้น
ไวรัสโควิด-19 สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ รุนแรงไม่แพ้สงครามโลกสองครั้งที่ผ่านมา