เอเอฟพี - ‘ไอเอ็มเอฟ’ ชี้ การระบาดของไวรัสโคโรนา กำลังดึงเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ โดยจะทำให้ผลผลิตของโลกหดตัวลง 3% ในปีนี้ หรือมีมูลค่าเท่ากับ 9 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ มีเพียงเศรษฐกิจจีน และ อินเดีย เท่านั้น ที่ได้รับการคาดหมายว่า จะรอดพ้นจากภาวะถดถอย แต่ก็จะมีอัตราเติบโตเพียง 1% กว่าๆ
จิตา โกปินาธ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวขณะนำเสนอรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (เวิลด์ อีโคโนมิก เอาต์ลุก) ฉบับล่าสุด ในวันอังคาร (14 เม.ย.) ซึ่งระบุว่า หากสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ และเศรษฐกิจเริ่มเดินเครื่องอีกครั้ง ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลกอาจฟื้นตัวในอัตรา 5.8% ในปีหน้า
กระนั้น คณะผู้จัดทำรายงานยอมรับว่า การคาดการณ์อย่างแม่นยำท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในขณะนี้เป็นไปได้ยาก
ไอเอ็มเอฟเตือนว่า การชัตดาวน์เศรษฐกิจทั่วโลก ท่ามกลางความพยายามในการควบคุมไวรัสและป้องกันไม่ให้ระบบการรักษาพยาบาลล่ม ทำให้มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่อาจนำไปสู่ผลลัพธ์เลวร้ายที่สุด สืบเนื่องจากความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับความเข้มแข็งในการฟื้นตัว
โกปินาธแจงว่า ความสูญเสียสะสมของจีดีพีโลกในช่วงปี 2020-2021 จากวิกฤตโรคระบาดอาจสูงถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่ามูลค่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นและเยอรมนีรวมกัน
ไวรัสโคโรนาจนถึงเวลานี้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อเกือบ 2 ล้านคนทั่วโลก และเสียชีวิตเฉียด 120,000 คน การคมนาคมสัญจรหยุดชะงัก ขณะที่ ธุรกิจ ร้านค้า และร้านอาหารจำนวนมากต้องปิดกิจการ หรือปิดบางส่วนเป็นระยะเวลาแรมเดือน
รายงานสำทับว่า หากการระบาดและการใช้มาตรการควบคุมยืดยาวออกไป หรือถ้ามีมาตรการปิดเมืองและการว่างงานเป็นเวลานาน ก็จะส่งผลกระทบกว้างขวางขึ้น และผลลัพธ์ต่อการเติบโตมีแนวโน้มยิ่งเลวร้ายลง
รายงานฉบับนี้ที่เผยแพร่ออกมาก่อนที่จะมีการประชุมช่วงฤดูใบไม้ผลิระหว่างไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก ซึ่งครั้งนี้ต้องจัดแบบเสมือนจริง พวกผู้แทนไม่สามารถเดินทางมาเจอะเจอกันได้จริงๆ ยังระบุว่า การล็อกดาวน์ครั้งใหญ่ อันหมายถึงภาวะชะลอตัวทั่วโลก จะเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงที่สุดนับจากวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี 1930 และยังเป็นการถดถอยครั้งแรกภายหลังจากวิกฤตภาคการเงินโลกปี 2009 ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจชะลอลงเพียง 0.1% และพวกชาติตลาดเกิดใหม่รายใหญ่ยังคงเติบโตได้อย่างมั่นคง
สำหรับปีนี้มีเพียงเศรษฐกิจจีนและอินเดียเท่านั้น ที่ได้รับการคาดหมายว่า จะรอดพ้นจากภาวะถดถอย แต่ก็จะมีอัตราเติบโตเพียง 1.2% และ 1.9%
ช่วงที่เกิดเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน เศรษฐกิจโลกหดตัวราว 10% และ 16% สำหรับประเทศชั้นนำในช่วงระหว่างปี 1929-1932 สำหรับปีนี้ ไอเอ็มเอฟ คาดว่า เศรษฐกิจประเทศชั้นนำจะหดตัว 6%
รายงานของไอเอ็มเอฟยังทำนายว่า เศรษฐกิจอเมริกาปีนี้ว่า จะติดลบ 5.9% แต่ฟื้นตัว 4.7% ในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์เหล่านี้อยู่ภายใต้สมมติฐานว่า โรคระบาดซาลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ไอเอ็มเอฟยังมองว่า เศรษฐกิจฝรั่งเศส จะดิ่งลง 7.2% และ 6.5% สำหรับอังกฤษ ซึ่งถือว่า ดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของประเทศเหล่านี้เองที่คาดว่า จีดีพีจะติดลบ 8% และ 13% ตามลำดับ
รายงานเสริมว่า การชะลอตัวรุนแรงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่มาตรการทางการคลังและการเงินอย่างมีเป้าหมายสำคัญจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้
เวลานี้รัฐบาลหลายประเทศก็กำลังเตรียมนำมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายขนาดใหญ่มาใช้ควบคู่กับที่ธนาคารกลางอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินเพื่อป้องกันเศรษฐกิจล่ม
กระนั้น โกปินาธ เชื่อว่า หลังจากวิกฤตสุขภาพผ่านพ้นไป ประเทศชั้นนำจะต้องออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังอย่างครอบคลุมอีกระลอก ซึ่งหากประเทศเหล่านั้นร่วมมือกัน มาตรการเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งช่วยหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่แล้วที่ประเทศต่างๆ เลือกใช้นโยบายพาณิชย์นิยม ที่ไร้ประโยชน์ และยังทำให้เศรษฐกิจโลกยิ่งตกต่ำกว่าเดิม
แน่นอนที่ว่า มาตรการใช้จ่ายอย่างใหญ่โตมโหฬารของชาติต่างๆ จะทำให้ยอดหนี้ของรัฐบาลพุ่งกระฉูด จากระดับเฉลี่ยปัจจุบันซึ่งอยู่ที่กว่า 80% ของจีดีพี และยังทำให้งบประมาณอยู่ในภาวะขาดดุลมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม โกปินาธ สำทับว่า หากการฟื้นตัวเริ่มต้นขึ้นในปีหน้าโดยที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก จะช่วยดึงระดับหนี้ชะลอลงในระยะเวลาหนึ่ง
แต่สำหรับบางประเทศอาจต้องการการพักการชำระหนี้
ในอีกด้านหนึ่ง รัฐมนตรีคลัง และ ผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่ม จี7 รับรองเมื่อวันอังคาร (14) แผนการอนุญาตให้ประเทศยากจนที่สุดพักชำระหนี้ชั่วคราว หากกลุ่ม จี20 เห็นด้วย โดยคาดว่า จี20 ที่ครอบคลุมชาติตลาดเกิดใหม่รายใหญ่อย่างจีนและรัสเซียด้วยนั้น จะออกคำแถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ในวันพุธ (15)