xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อไทยจี้รัฐผ่อนคลายมาตรการให้ ปชช.ทำมาหากิน แนะตั้ง กก.สอบการบริหารเงินกู้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนแถลงการณ์พรรคเพื่อไทยถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีจะออกพระราชกำหนดเพื่อแก้ไขปัญหาอันเกิดจากสถานการณ์โควิด-19 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ว่า พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ขอเสนอความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความรอบคอบในการใช้เงิน โดยแยกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

รัฐบาลต้องมีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ให้เป็นรูปธรรมได้เท่าไร พรรคเพื่อไทยเคยเสนอให้รัฐบาลปรับปรุงงบประมาณที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 โดยตัดทอนหรือเลื่อนการใช้จ่ายเงินออกไปก่อน 10-15% น่าจะได้เงินกลับคืนมาเกือบ 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องโควิด-19 ได้ก่อน จะทำให้วงเงินที่จะต้องกู้ในส่วนนี้เหลือเพียง 5 แสนล้านบาทเท่านั้น หากรัฐบาลไม่สามารถปรับลดงบประมาณได้ตามเป้าหมาย 5 แสนล้านบาท ก็ควรมีคำอธิบายต่อพี่น้องประชาชนว่าพยายามในการปรับลดแล้วอย่างไรบ้าง ติดขัดตรงไหน และมีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างไร 

ขณะที่เงินในส่วนของมาตรการการเงิน 9 แสนล้านบาท แม้จะเป็นนโยบายทางการเงิน แต่หากมีการกำกับดูแลหละหลวมจนเกิดความเสียหายเกินความสามารถของธนาคารแห่งประเทศไทย ภาระในความรับผิดชอบดังกล่าวจะตกกับประชาชนทั้งประเทศ รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจึงควรดำเนินการด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง ตลอดจนมีการกำกับดูแลการใช้เงินดังกล่าวให้รัดกุม ทั่วถึง และเป็นธรรมต่อผู้ ประกอบการทั้งหมด

ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรดูแลพี่น้องประชาชนที่ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยารายละ 5,000 บาท อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ซึ่งต้องรวมถึงพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งจากโรคระบาดและภัยแล้ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติ รัฐบาลต้องใช้งบประมาณแผ่นดินและเงินที่จะกู้เพื่อแปลงวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการ โดยสนับสนุนสินเชื่อหรือยกเว้นภาษีเกี่ยวกับการนำเข้าเพื่อลงทุนเกี่ยวกับเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือเครื่องใช้ที่ปลอดภัยจากไวรัส เช่น เครื่องปรับอากาศ ฆ่าเชื้อ เป็นต้น รวมทั้งการจัดอบรมบุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรมบริการ ให้มีมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข


ส่วนการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ส่วนใหญ่ไม่อยู่ในระบบการกู้ยืมเงินผ่านธนาคารต่างๆ ตามปกติ จึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือ และแนวทางการฟื้นฟูที่แตกต่างจากกรณีปกติธรรมดา โดยผู้ประกอบการ SMEs ที่มีรายได้มากกว่า 25 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป ควรเน้นไปที่มาตรการด้านภาษี ความสะดวกหรือสิทธิพิเศษในการส่งออกหรือนำเข้า และการตลาด ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีรายได้ระหว่าง 10-25 ล้านบาทต่อปี ควรเน้นเรื่องสิทธิพิเศษ มาตรการทางภาษี แหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และการตลาด ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีรายได้ระหว่าง 1 แสน – 10 ล้านบาทต่อปี ควรเน้นที่แหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เข้าถึงง่าย และการตลาดเป็นสำคัญ 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการด้วยการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด จัดระเบียบ ลำดับความสำคัญ และพิจารณาลักษณะของธุรกิจว่าเป็นเช่นใด อนาคตจะสอดคล้องกับการประกอบการในยุคโควิด-19 เพียงใด ซึ่งจะต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ ไม่เลือกปฏิบัติ เป็นธรรม และนำไปสู่มิติใหม่ของวิสาหกิจดังกล่าว โดยสามารถใช้งบประมาณของผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวน 20 ล้านบาท ไปพลางก่อนได้

ในส่วนพระราชกำหนดให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลเสถียรภาพภาคการเงินวงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยจัดตั้งกองทุนรวมเสริมสภาพคล่องตราสารหนี้ภาคเอกชน เพื่อซื้อตราสารหนี้เอกชนคุณภาพที่ดีครบกำหนดชำระในช่วงปี พ.ศ. 2563-2564 ทั้งนี้ เพื่อรักษาหลักการของการเป็นธนาคารกลางของประเทศที่มีความน่าเชื่อถือไว้ จึงควรให้รัฐบาล บริษัท และธนาคารพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันศึกษาปัญหาตราสารหนี้ทั้งระบบให้ได้ราคาตราสารหนี้ที่ถูกต้องเป็นจริง

รัฐบาลต้องเร่งประกาศยุทธศาสตร์ เร่งทำแผนโครงการการใช้เงินให้มีความรอบคอบและรัดกุม เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยจะต้องเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ดูแลธุรกิจซึ่งรวมถึงภาคการเกษตรที่มีอนาคตและเกี่ยวข้องกับการจ้างงาน เพื่อไม่ให้เกิดการเลิกจ้าง การพักชำระหนี้ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้มีการลงทุนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลกภายหลังวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลต้องมีแนวทางและมาตรการการใช้เงินกู้อย่างโปร่งใส มีประสิทธิผลและตรวจสอบได้ โดยตั้งคณะกรรมการที่ครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อตรวจสอบแนวทางการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ จากนั้นต้องรายงานการใช้เงินให้สภาผู้แทนราษฏรทราบเพื่อการตรวจสอบทุก 3 เดือน รวมถึงการกำหนดแนวทางหรือมาตรการ และระยะเวลาที่จะชำระคืนเงินกู้จนครบถ้วน



นอกจากนี้ รัฐบาลควรผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้ประชาชนได้กลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และชีวิตประจำวันตามปกติโดยเร็วที่สุด ด้วยการจัดลำดับความสำคัญให้ผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ประสงค์จะดำเนินกิจการได้รับการตรวจเพื่อให้เป็นผู้ปลอดเชื้อ รวมทั้งมีอุปกรณ์และมาตรการป้องกันผู้มาใช้บริการอย่างปลอดภัย  นอกจากนี้ ในระยะแรกของการผ่อนปรน รัฐบาลจะต้องทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่า หากเกิดการเจ็บป่วยด้วยไวรัสดังกล่าว รัฐบาลจะสามารถดูแลรักษาได้ทั่วถึง โดยได้จัดสรรงบประมาณที่จำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรทางด้านสาธารณสุขอย่างเพียงพอ