xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

COVID-19 MONEY แจกครบ จบแน่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้วันนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลงจากวันละหลักร้อยเหลือวันละ “หลักสิบ” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะกระหยิ่มยิ้มย่อง สบายใจไปได้ เพราะสถานการณ์ยังไม่พ้นขีดอันตราย และวันใดที่ “การ์ดตก” ทุกอย่างก็มีสิทธิกลับตาลปัตรได้ตลอดเวลาดังที่เกิดในหลายประเทศ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ก็คือ “ปัญหาปากท้อง” ของประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ยิ่งเวลาผ่านไปเท่าไร ความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่ได้ออกไปทำงาน ตกงาน ถูกเลิกจ้าง หรือไม่สามารถประกอบกิจการได้จะรุนแรงตามระยะเวลา

กรณีประชาชนบางส่วนที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่ฝ่าวงล้อมโควิด-19 มาทวงถามที่กระทรวงการคลังเมื่อวันก่อนคือ “หนังตัวอย่าง” ที่รัฐบาลต้องรีบแก้ไขโดยด่วน

ปัญหาเยียวยา 5 พัน บทเรียนสำคัญของ “ลุงตู่”
ไม่ไหวแล้ว... จะยอมอดตายหรือจะเสี่ยงตายจากโควิด-19

เป็นอาการของประชาชนคนไทยในยามนี้เมื่อความหวังจากมาตรการเยียวยาของรัฐบาลยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ ครอบครัวลูกหลานจะอยู่กินกันยังไง หนี้สินที่ดอกเบี้ยยังเดินไปเรื่อยๆ ไม่หยุด ชีวิตในช่วงสุดวิกฤตนี้จะทำอย่างไรกันดี

เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งหาทาง “จ่ายให้เร็ว จ่ายให้ครบ เพื่อให้จบสวย และต้องได้กันถ้วนหน้า” เพราะไม่เช่นนั้นจะยังมีเสียงร้องระงมไม่เลิกเพราะท้องมันหิว

วันนี้ประชาชนอาจกลัวโควิด-19 แต่หากวันหนึ่งไม่มีกิน ความกลัวจะเปลี่ยนเป็นความกล้าในการออกมาเรียกร้องหรือประท้วงกับรัฐบาล เมื่อนั้นจะ “ยุ่ง”

ชะตากรรมความทุกข์ยากของผู้คนที่มาพร้อมกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 คราวนี้ “ท่านผู้นำ” ของไทย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาปลุกปลอบใจคนไทยด้วยสีหน้าเศร้าหมอง เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า “....ผมเห็นใจและสงสาร ผมร้อนใจมากกว่าท่าน ...”

และบอกว่า รัฐบาลเป็นห่วงและให้ความสำคัญกับทุกอาชีพที่ได้รับผลกระทบ แต่เรามีแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบจำนวน 37 ล้านคน มีแรงงานอิสระ 9 ล้านคน แรงงงานในระบบประกันสังคม จำนวน 11 ล้านคน และเกษตรกรอีก 17 ล้านคน ยังไม่นับรวม นิสิตนักศึกษา ที่ได้รับกระทบดังกล่าวด้วย

ประชาชนที่บุกไปร้องเรียนปัญหาเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่กระทรวงการคลัง


การช่วยเหลือเยียวยาที่อยากให้ได้กันทั่วถึงนี้ นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า คณะกรรมการที่กำกับดูแลและติดตาม ได้บูรณาการข้อมูลตรวจสอบการเยียวยาเพื่อให้ทั่วถึง แต่ต้องยอมรับความจริงว่าเงินที่รัฐบาลจะนำมาเยียวยานั้นมาจากงบกลาง จำนวน 50,000 ล้านบาท เดิมจะเยียวยา 3 ล้านคน ซึ่งจะเยียวยาได้ 3 เดือน หรือ 15,000 บาทต่อคน แต่เมื่อขยายเป็น 9 ล้านคน ทำให้รัฐบาลมีเงินเยียวยาได้เพียงเดือนเดียว

ส่วนเดือนต่อไปเงินจะมาจากไหน พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินจากหลายส่วน ส่วนแรก จากการเจียดเงินงบประมาณแต่ละกระทรวงร้อยละ 10 นั้น ต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตามขั้นตอนของการออกกฎหมาย คาดว่าประมาณเดือนมิถุนายน 2563 จะได้งบประมาณในส่วนนี้จำนวน 100,000 ล้านบาท ส่วนที่ 2 รัฐบาล เตรียมจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งตามขั้นตอนต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ และวุฒิสภา ใช้เวลาหลายเดือน แต่คาดว่าประมาณปลายเดือนเมษายน หรือเดือนพฤษภาคม 2563

“รัฐบาลยอมรับว่า เรามีแค่ตัวเลขในการเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ไม่มีเม็ดเงินที่แท้จริง จำเป็นต้องออกกฎหมายมารองรับในการนำมาใช้จ่ายเยียวยาประชาชน ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวล รัฐบาลจะดูแลคนไทยอย่างดีที่สุด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

สิ้นเสียงแสดงความห่วงใยของนายกรัฐมนตรีที่มีถึงคนไทยทุกคน ผลตอบรับกลับคล้ายตรงกันข้าม เพราะชาวประชาต่างกังขาและกังวลจะได้เงินช่วยเหลือเยียวยาไหม แล้วที่ว่าจะช่วย 3 เดือน จะเหลือเพียงเดือนเดียวหรือเปล่า เงินหมดแล้วนี่ เงินกู้ก็ยังต้องใช้เวลา เงินที่จะเจียดมาจากงบประมาณกระทรวงละ 10% ก็ต้องรอขั้นตอน ร้อนถึงใครต่อใครหลายคนออกมาช่วยอธิบายความ เรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา หนึ่งในนั้นคือ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ยืนยันว่า “...รัฐบาลพร้อมเยียวยาโควิดต่อเนื่อง ...”

“กรณีมีคำถามว่า รัฐบาลจะชดเชยเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เดือนละ 5,000 บาท เพียงเดือนเดียวหรือไม่นั้น ผมขอชี้แจงว่า รัฐบาลยังคงดำเนินมาตรการเยียวยาตามแผนเดิม พร้อมทั้งจะชดเชยให้ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องได้รับความช่วยเหลืออีกด้วย”

“ขุนคลัง” ยังแจกแจงว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้งบประมาณปี 2563 ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนตามมาตรการดังกล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว และจะช่วยเหลือต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เม็ดเงินจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท พ.ร.ก. ดังกล่าว เพิ่งผ่านมติครม.ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการตามขั้นตอน รัฐบาลได้เร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้เร็วที่สุด

สำหรับที่ผ่านมารัฐบาลได้ส่งเงินเยียวยาประชาชนไปแล้ว รวมกับอยู่ระหว่างการจ่ายจนถึงวันที่ 17 เมษายนนี้ รวมทั้งสิ้น 3.2 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินราว 16,000 ล้านบาท “ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่ารัฐบาล จะไม่มีการเยียวยาต่อเนื่อง ตามแผนมาตรการที่วางไว้ก่อนหน้านี้” นายอุตตม ยืนยันหนักแน่น

ประเด็นก็คือ ต้องอธิบายถึงข้อจำกัดว่า เหตุใดวันนี้จึงไม่สามารถช่วยเหลือได้ทุกกลุ่มก้อนว่า เป็นเพราะงบกลางที่ไม่เพียงพอ มีข้อจำกัด ไม่สามารถโอนงบหรือโยกงบได้ทันที เพราะต้องออกเป็น พ.ร.บ.โอนงบฯเข้าสภาผู้แทนราษฎรก่อน จนต้องออกพระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทแทนแล้ว ต้องชี้แจงด้วยว่า จะได้รับการช่วยเหลือทุกกลุ่ม

ต้องเล่าให้ประชาชนเข้าใจ มีความหวังที่จะรอ เพื่อไม่ให้ช่วงระหว่างนี้เกิดปัญหานี้ เพื่อให้มาตรการของรัฐในเรื่องการป้องกันโควิด-19 นี้ยังเป็นไปได้ด้วยดีต่อไป

ที่สำคัญคือ ช่วงนี้พลาดไม่ได้แม้แต่เรื่องยิบย่อย ดูอย่างกรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท พอมีประเด็นปุ๊บ เจ้าของสโลแกนกระดุม 5 เม็ดอย่าง “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลรีบกระโดดตะปบทันควัน

“พรรคก้าวไกล” รีบดิสเครดิตรัฐบาล งัดวิชา “ตีกิน” เปิดเว็บไซต์ www.ทำไมไม่ได้ห้าพัน.com รับเรื่องร้องเรียนสำหรับคนที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาทันที เพื่อขยี้ประเด็นนี้ต่อเนื่อง ถึงขั้นมายื่นหนังสือกันถึงทำเนียบรัฐบาล

เรียกว่า เห็นช่องเมื่อไรใส่ทันที ตามคิวที่ช่วงนี้หาอดอยากปากแห้งไม่มีประเด็นขย่มรัฐบาล พอเจอเรื่องนี้จึงรีบเกาะกระแส แปรประเด็นโควิด-19 ไปสู่เรื่องการบริหารล้มเหลวตามสไตล์ถนัด

 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยามนี้น่าจะกลุ้มอกกลุ้มใจไม่น้อย

ชำแหละทุกมาตรการ...ใครได้ ใครเสีย
ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ยังไม่สามารถคลายลงได้ ด้วยสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจตราบใดที่ยังไม่มี “วัคซีน” ระหว่างนี้ ประชาชนคนหาเช้ากินค่ำ ลูกจ้าง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ยันนักธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลาง ฯลฯ ที่เจอคำสั่งจากรัฐบาลให้หยุดกิจการเพื่อลดผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 หรือพวกที่จำต้องหยุดไปโดยปริยาย จึงได้แต่รอความหวังจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่าน หลายกระทรวงได้ชี้แจงความคืบหน้าและทบทวนมาตรการเยียวยาที่ออกมากันอีกครั้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มให้ได้มากที่สุด

เริ่มจาก “กระทรวงการคลัง” ซึ่งตกเป็นเป้าเพราะการเอา "AI หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ฐานข้อมูลของภาครัฐ” มาคัดกรองผู้ที่ได้รับสิทธิ์เยียวยา 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน “ลอตแรก” นั้นมีปัญหามาก คนเดือดร้อนไม่ได้คนที่ได้กลับเป็นพวกอวดร่ำอวดรวยอีกต่างหาก

พอมาถึง “ลอตสอง” ก็ยังมาเจอดรามาซ้ำสอง ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไรในยามนี้ จะค้าขาย จะวินมอเตอร์ไซต์หรือแท็กซี่ แต่หากเคยมีชื่อลงทะเบียนเป็น “เกษตรกร” ระบบจะคัดกรองเข้าไปอยู่ในกลุ่มเกษตรกรทันที ซึ่งป่านนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังงงๆ อยู่ว่า ที่เปิดให้ขึ้นทะเบียนผ่านแอปฯ รับเยียวยา 15,000 บาทต่อครอบครัว จะได้หรือไม่ ขอรอหารือกับกระทรวงคลัง เสียก่อน กลุ่มเกษตรกรที่เดือดร้อนแบบบวกๆ ทั้งจากไวรัสฯทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หาตลาดไม่ได้ ส่งออกไม่ได้ ไหนจะเจอภัยแล้งซ้ำเติม ยามนี้จึงอยู่ในอาการลุ้นกันสุดตัว หน้าเหี่ยวแห้งรอความหวังกันไป

สำหรับมาตรการเยียวยา 5 พัน 3 เดือนนั้น นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง แจกแจงว่า นับจากเปิดลงทะเบียนมาได้ 18 วัน จากวันที่ 28 มีนาคมเป็นต้นมา มีคนมาลง 27 ล้านคนเศษ เริ่มแจกไปแล้ว 3 ล้านรายเศษ ส่วนที่เหลืออีก 5-6 ล้านราย ต้องขอข้อมูลเพิ่ม และมีอีกส่วนที่ปฏิเสธไป 12 ล้านราย

ในส่วน 12 ล้านรายนี้มีลุ้นกันอีก โดยวันที่ 20 เมษายน คลังได้เปิดช่องขอทบทวนสิทธิ สามารถกรอกข้อมูลเพิ่มเติมและหากมีหลักฐานชัดเจน เช่น มีใบขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือมีใบอนุญาตนวดแผนไทย ก็จะได้สิทธิ แต่ถ้าหากประกอบอาชีพอิสระอย่างค้าขาย ถ้าอยู่ “ต่างจังหวัด” จะมี “กำนันผู้ใหญ่บ้าน” ช่วยลงไปตรวจสอบและใช้ระบบออนไลน์ส่งข้อมูล ส่วนใน “กทม.” จะมี “พนักงานแบงก์ออมสินหรือส่วนราชการอื่น”ไปตรวจ หลังจากนั้นจะรีบจ่ายเงินให้ต่อไป

ส่วนประเด็นข้อติดขัดยกตัวอย่างเช่น คนขับแท็กซี่ทำไมระบุว่าเป็นเกษตรกร หรือทำอาชีพอื่นแล้วเป็นเกษตรกร เพราะว่าในฐานข้อมูลจากเลขประจำตัวประชาชนคลังเอาไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากพบตรงกันก็จะระบุว่าเป็นเกษตรกร แต่หากมายืนยันตัวอีกครั้งพร้อมหลักฐานว่าประกอบอาชีพอื่นก็จะได้รับการเยียวยาส่วนนี้ แต่ในอนาคตสิทธิที่จะเยียวยาเกษตรกรที่กำลังจะออกมาก็จะไม่ได้รับ

ปลัดกระทรวงการคลัง ขีดเส้นว่า จะสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทั้งหมดในวันที่ 19 เมษายน จากนั้นจะแจ้งไปยังผู้ลงทะเบียนได้ทั้งหมด แต่มีอยู่กลุ่มหนึ่งมีจำนวน 6 ล้านคน ที่ขอข้อมูลเพิ่มเติม แต่มีส่งกลับมา 1.9 ล้านคนเท่านั้น ยังขาดอีก 4 ล้านคน และยังมีอีก 6 ล้านคน ที่หลุดออกจากระบบเลย เช่น อายุไม่เกิน 15 ปี แบบนี้จะตัดออกไป และสุดท้ายจะมีอีกกลุ่ม เช่น กรอกคำนำหน้าที่ทำให้การตรวจสอบเลขบัตรประชาชนกับชื่อในฐานข้อมูลไม่ตรงกันซึ่งมีอยู่ 5-6 ล้านราย ตรงนี้สามารถเข้าไปแก้ไขได้เลย เพราะสิทธิยังมีอยู่

สำหรับ “มาตรการด้านภาษี” นั้น ระยะแรก คลังดำเนินการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 1.5% โดยธุรกิจเอสเอ็มอี ให้หักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยหรือค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นได้ 2-3 เท่า ส่วนการขอคืนภาษีได้เร่งให้เร็วขึ้น ส่วนมาตรการทางการเงิน สำหรับกลุ่มเอสเอ็มอี คลังได้จัดวงเงินสินเชื่อ 150,000 ล้านบาทให้กับธนาคารของรัฐเพื่อให้มีสภาพคล่องปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอี และมีการพักชำระหนี้และดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบการและประชาชน

นอกจากนี้ กระทรวงคลังยังมองถึงปัญหาของผู้มีอาชีพอิสระหรือแรงงานที่เริ่มถูกลดเวลาทำงาน จึงจัดสินเชื่ออีก 70,000 ล้านบาท และช่วยลดค่าเช่าต่างๆ ที่ต้องจ่ายให้รัฐลดไปด้วย ส่วนโรงรับจำนำที่ยังเป็นที่พึ่งของประชาชนหลายกลุ่ม คลังจึงจัดวงเงินสินเชื่ออีก 2,000 ล้านบาท เพื่อให้สภาพคล่องลงไปถึงคนกลุ่มนี้ด้วย

ในระยะต่อไป กระทรวงคลัง ยังจะวนกลับมาดูใน 3 ส่วนที่เยียวยาไปก่อนหน้า คือ ผู้ประสบความเดือดร้อน ที่จะให้เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท อีกส่วนคือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่อาจมีปัญหาสภาพคล่องอีก ซึ่งกระทรวงคลังได้ประสานกับแบงก์ชาติออก พ.ร.ก.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท มาช่วยพยุง และสุดท้ายคือ ตลาดตราสารหนี้ที่เริ่มมีสภาพคล่องก็ให้แบงก์ชาติเข้ามาดูแลในจุดนี้เพื่อไม่ให้มีปัญหาลุกลามออกไป

ปลัดกระทรวงการคลัง ยังชี้แจงว่า ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ทั้ง 3 ฉบับตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจสอบร่างกฎหมายแล้ว ได้แก่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท, พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 5แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถเข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดีที่ครบกำหนดชำระ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ขั้นตอนหลังจากนี้ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มกระบวนการกู้เงินได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้

ในเบื้องต้นได้แบ่งเงินเป็น 2 ส่วน คือ วงเงินที่จะกู้สำหรับการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสฯ และเพื่อใช้ในการสาธารณสุข 6 แสนล้านบาท โดยกำหนดเป็นวงเงินสำหรับเยียวยาประชาชน 5.55 แสนล้านบาท ที่เหลืออีก 4.5 หมื่นล้านบาทจะใช้เป็นงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับการสาธารณสุข รวมถึงการจัดสรรไว้เป็นงบประมาณสำหรับวัคซีนโควิด-19 หัวละ 500 บาท

อีกกลุ่มใหญ่คือ “ เกษตรกร” ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการช่วยเหลือออกมา เช่น ลดหนี้ ธ.ก.ส. และพักชำระหนี้ต่างๆ แต่ที่เกษตรกรตั้งตารอกันทั้งประเทศก็คือการมาตรการเยียวยาที่จะใส่ลงไปครอบครัวละ 15,000 บาท ซึ่งเรื่องนี้ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงถึงกระแสข่าวว่ากระทรวงเกษตรฯ เปิดลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 15,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชันนั้น ว่าทางกระทรวงเกษตรฯ จะต้องประสานกับกระทรวงการคลัง และหาความชัดเจนก่อน

“เรายังเปิดรับขึ้นทะเบียนอยู่ ตรงนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่กระทรวงการคลังจะนำไปเป็นเครื่องมือในการเยียวยา แต่ยังไม่ถึงขั้นว่าขึ้นทะเบียนวันนี้แล้วจะได้รับเงิน 15,000 บาท และขอเชิญชวนให้ประชาชนที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกควรไปอัปเดตข้อมูลผ่านออนไลน์ หรือติดต่อเกษตรอำเภอได้ นอกจากนี้ ในระยะที่ 3 จะมีมาตรการออกมาดูแลชัดเจนขึ้น” คำตอบของปลัดกระทรวงเกษตรฯ บอกเป็นนัยว่าเรื่องยังไม่เรียบร้อย

สำหรับการเยียวยา “กลุ่มแรงงานในระบบประกันสังคม” ซึ่งถือเป็นอีกกลุ่มใหญ่ที่เดือดร้อนเช่นกันนั้น **นายสุทธิ สุโกศล** ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. … ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยถึงขนาดที่นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นการชั่วคราวและลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานไม่สามารถทำงานได้ และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ไม่ว่านายจ้างจะหยุดประกอบกิจการเองหรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ ให้ลูกจ้าง ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการแต่ไม่เกิน 90 วัน โดยจะเร่งออกกฎกระทรวงให้มีผลบังคับใช้เร็วที่สุด



ขณะนี้ สำนักงานประกันสังคม มีเงินในส่วนกองทุนว่างงานอยู่ 164,000 ล้านบาท ที่จะนำมาดูแลผู้ประกันตนตามมาตรา 33 คาดว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และได้รับเงินชดเชยประมาณ 1 ล้านคน โดยเงินชดเชยที่จะจ่ายให้เดือนละ 5,045-9,300 บาท คาดว่าในช่วง 3 เดือนนี้จะใช้เงินจากกองทุนประกันสังคมจ่ายชดเชยให้ผู้ว่างงาน ประมาณ 20,000 ล้านบาท

ส่วนผู้ว่างงานที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจ สํานักงานประกันสังคมได้กันเงินจ่ายชดเชยไว้ให้ 90,000 ล้านบาท สำหรับ 1.1 ล้านคน ในช่วงเวลา 2 ปีจากนี้ แบ่งออกเป็น ผู้ลาออก เพิ่มสิทธิ์รับเงินชดเชยจาก 30% เป็น45% ระยะเวลา 90 วัน ถูกเลิกจ้าง เพิ่มสิทธิ์จาก 50% เป็น 70% ระยะเวลา 200 วัน

สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ซึ่งไม่คุ้มครองกรณีว่างงานจะไม่ได้รับสิทธิว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยนั้น สามารถขึ้นทะเบียนขอรับสิทธิเยียวยาของกระทรวงการคลัง ได้ที่ เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com หากมีคุณสมบัติตามที่กำหนดก็จะได้รับสิทธิดังกล่าว

มาดูในส่วนของ “กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มเร่ร่อน” งานนี้ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะเข้ามาดูแลในส่วนของผู้ที่ใช้บริการโรงรับจำนำ โดยจะขยายอายุตั๋วจำนำจาก 4 เดือน กับ 30 วัน เป็น 4 เดือน กับ 120 วัน ส่วนลูกหนี้ใหม่ พม.ได้เงินกู้จากกระทรวงคลังมา 2 พันล้านบาท จะลดดอกเบี้ยเป็น 0.125% ส่วนการเคหะแห่งชาติ จะพักชำระหนี้ในส่วนที่อยู่อาศัยให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย 3 เดือน ส่วนผู้เช่าสถานที่ จะลดค่าเช่าลง 50%

 ผู้คนต่างนำ “ทอง” ออกมาขายที่ร้านทองย่านเยาวราชจนต้องเข้าแถวยาวเหยียดในขณะที่ทองคำในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น และมีความจำเป็นต้องนำเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน


กลุ่มผู้พิการ จะได้เงินรายเดือนเพิ่มขึ้นจาก 800 บาท เป็น 1,000 บาท กองทุนคนพิการก็อนุมัติให้จ่ายเงินพิเศษ 1,000 บาทเพื่อบรรเทาทุกข์ไปก่อน คาดว่าจะโอนเงินได้ในเดือนพฤษภาคม ส่วนกองทุนผู้สูงอายุที่กู้ยืมไปประกอบอาชีพก็พักหนี้ให้ ด้านสถานที่ที่อยู่อาศัย จะมีกลุ่มของผู้เดือดร้อนของกลุ่มคนเร่ร่อนไร้บ้าน หรือคนตกงานที่อาจจะเดือดร้อนจนไม่มีที่อยู่อาศัย ทางกระทรวงมีสถานที่ให้เข้ามาอยู่ชั่วคราวได้

สำหรับ กระทรวงพลังงาน ได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ ตามที่ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ชี้แจง เช่น ตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.6 บาทต่อหน่วย ถึงเดือนมิถุนายน 2563, ผ่อนผันกิจการเอสเอ็มอีหรือโรงแรม จากเดิมที่จ่ายค่าไฟในอัตราคงที่ให้เป็นจ่ายตามที่ใช้จริง และมีการลดค่าไฟ 30% กับโรงแรมหรือหอพักที่ปรับให้มาเป็นโรงพยาบาลสนาม, คืนค่าประกันมิเตอร์ที่มีผู้ขอเข้ามาแล้ว 10 ล้านราย, ให้ใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ใช้ที่ไม่ถึง 50 หน่วย, ปรับลดราคาน้ำมันลง 0.5 บาทในทุกประเภท สำหรับรถขนส่งหรือรถโดยสารจะตรึงราคาพลังงานไว้, ลดราคาก๊าซหุงต้ม, ผ่อนผันให้โรงงานที่ผลิตแอลกอฮอล์สามารถขายไปสำหรับผลิตแอลกอฮอล์ฆ่าเซื้อโรคได้

ส่วน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด เช่น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การประปานครหลวง (กปน.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) โดย กฟน. และ กฟภ. มีมาตรการในการช่วยเหลือ ส่วนแรก คือ การลดค่าไฟฟ้า ร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เมษายน-มิถุนายน และขยายเวลาชำระหนี้ค่าไฟฟ้า คืนเงินประกันการใช้ไฟโดยงบที่จะคืนให้กับประชาชนอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้กรณีขอคืนเงินประกัน ประชาชนสามารถติดต่อได้ที่ระบบออนไลน์ และสามารถรับเงินคืนได้

สำหรับมาตรการของ กปน. และ กปภ. ช่วยเหลือในส่วนแรกคือ การลดค่าน้ำร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เมษายน-มิถุนายน ส่วนที่สอง คือ การขยายระยะเวลาในการชำระใบแจ้งหนี้การใช้น้ำในส่วนของประเภทธุรกิจโรงแรม กิจการให้เช่าที่พักอาศัย โดยงบประมาณที่จะคืนให้กับประชาชนอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท หากรวมกันทั้งสองส่วน จะใช้งบประมาณที่ 4.5 หมื่นล้านบาท

นอกจากการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสฯแล้ว ในส่วนของ บุคลากรทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเพิ่งได้รับอนุมัติอัตราข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข 45,684 ตำแหน่ง จาก ครม. เมื่อเร็วๆ นี้ ล่าสุด มติครม. เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ยังอนุมัติปูนบำเหน็จเพิ่มขึ้นเงินเดือน -สิทธิประโยชน์ ให้บุคลากรทางการแพทย์ -ตำรวจ -ทหาร มหาวิทยาลัย ท้องถิ่นที่ปฏิบัติหน้าที่สู้ศึกไวรัสโควิด-19 อีกด้วย

การปูนบำเหน็จกลุ่มปฏิบัติงานตรง เช่น แพทย์ พยาบาล 1,500 บาท ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงเดือนกันยายน และกลุ่มสนับสนุน 1,000 บาทเดือน ตามช่วงเวลาเดียวกัน และให้โควตาพิเศษ 2 ขั้น อายุราชการทวีคูณ ทั้งยังลดดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษในส่วนแบงก์กรุงไทยกับออมสินอีกด้วย

เห็นมาตรการต่างๆ ที่ออกมาแล้ว “ประชาชน” ก็คงต้อง “ใจเย็นๆ” เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นสงครามไวรัสโควิดที่ส่งผลกระทบไปทั้งโลก ไม่ใช่เรื่องจะแก้ไขให้บรรลุผลได้ในชั่วลัดนิ้วมือ อาจมีช่องว่างช่องโหว่บ้างก็ต้องสะท้อนออกมาให้เห็น

ที่สำคัญคือรัฐบาลไม่ควร “ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” มีแต่ต้องโอบอุ้มแจกไปให้ได้รับการเยียวยากันถ้วนหน้าเพราะเดือนร้อนกันทุกคนจริงๆ


คำแนะนำ-เสียงติติงที่ “ลุงตู่” ต้องรับฟัง
ความห่วงใยในพี่น้องประชาชน ทำให้มี “ข้อเสนอต่างๆ” มากมายจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลนำไปพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาประชาชนถ้วนหน้า หนึ่งในนั้นคือ ข้อเสนอจากพรรคกล้า ที่มี “นายกรณ์ จาติกวณิช” เป็นหัวหน้า ซึ่งเสนอ “7 โปรโควิด รัฐต้อง “กล้าทำ” ทันที” เช่น การลดราคาสินค้า, การลดค่าส่งไปรษณีย์ 10 กก.แรกครึ่งราคา ช่วยเกษตรกรระบายสินค้า, ลดค่าจีพีคอมมิชชั่นเดลิเวอรี่ กำหนดเพดานที่ 15% ช่วยธุรกิจร้านอาหาร, ลดค่าไฟทันที่ 30% เป็นเวลา 6 เดือน, พักต้น-พักดอก หนี้บัตรเครดิตทุกธนาคาร, ผันเงินค่าอาหารกลางวันเด็ก หัวละพันบาท มาชดเชยให้ผู้ปกครองช่วงเลื่อนเปิดเทอม

ส่วนการเยียวยา 5,000 บาท นั้น นายกรณ์ แนะว่าต้องทบทวนใหม่ทั้งระบบควรให้ครบ 24 ล้านคน โดยยึดหลัก UBI รายได้พื้นฐาน ต้องครอบคลุม-ทั่วถึง-ครบถ้วน เพิ่มสิทธิแก่เกษตรกร-คนพิการ-คนสูงอายุ-แม่เด็กเกิดใหม่รวมถึง คนในระบบประกันสังคมที่รายได้น้อย และอาชีพอิสระที่ตกหล่นจากระบบคัดกรอง “... กลุ่มคนเหล่านี้กระทบอย่างหนัก ตอนนี้ไม่ใช่เวลาจะมาคัดคนออกอย่างเข้มข้นครับ หากไม่เร่งทำ ปัญหาเรื้อรังในอนาคตจะตามมาหนักกว่านี้” นายกรณ์ เน้นย้ำ

ทางด้าน “18 อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการ 5,000 บาท ที่มีการคัดกรองยุ่งยาก ล่าช้า ตกหล่น โดยหันมาใช้วิธีการที่ทั่วถึง เป็นธรรม และรวดเร็วกว่า

นั่นก็คือ การจ่ายเงินช่วยเหลือประมาณ 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ในเวลา 3 เดือนเป็นขั้นแรกให้กับประชากรทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ยกเว้นบุคลากรของภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจ และผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ซึ่งมีกลไกดูแลอยู่แล้ว เพื่อให้มาตรการครอบคลุมคนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร แรงงานนอกระบบ จนถึงนักเรียนนักศึกษา ซึ่งจะแก้ปัญหาการแจกเงินของรัฐบาลที่ไม่สามารถคัดกรองผู้ที่เดือดร้อนได้ครบถ้วน โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 440,000 ล้านบาท สำหรับเวลา 3 เดือน

นอกจากนั้น ขอให้รัฐบาลจัดให้มีการแจกจ่ายอาหารและปัจจัยเพื่อการดำรงชีพโดยตรงแก่กลุ่มคนเปราะบางทุกกลุ่ม ซึ่งบางส่วนอาจเข้าไม่ถึงมาตรการข้างต้น เช่น กลุ่มคนไร้สัญชาติ คนไร้บ้าน ฯลฯ รวมทั้งแรงงานต่างด้าวที่ตกงานและตกค้างในไทย คาดว่า งบประมาณที่จำเป็นสำหรับการจัดถุงยังชีพให้แก่ประชากรเปราะบาง 2 ล้านคนเป็นระยะเวลา 3 เดือนในขั้นแรกจะคิดเป็นจำนวน 7,800 ล้านบาท

จากการคำนวณข้างต้นพบว่า ต้นทุนทางการคลังจากมาตรการทั้งสองจะอยู่ภายใต้วงเงินของ (ร่าง) พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

ขณะเดียวกัน ยังขอเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายพิเศษห้ามการไล่-รื้อทุกประเภทในตลอดช่วงเวลาของวิกฤตครั้งนี้ รวมทั้งพิจารณาออกมาตรการสนับสนุนแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ลดหรือยุติการเก็บค่าเช่า เช่น การอนุญาตให้นำมาลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่า

อีกทั้งยังขอให้แบงก์ชาติ กำหนดให้สถาบันการเงินยุติการคำนวณดอกเบี้ยในสินเชื่อคงค้างของบุคคลและนิติบุคคลขนาดเล็กในตลอดช่วงเวลาของวิกฤตครั้งนี้ ให้คิดดอกเบี้ยได้เฉพาะต่อสินเชื่อใหม่เท่านั้นและในอัตราผ่อนปรน รวมทั้งระงับการฟ้องคดีล้มละลายต่อทั้งบุคคลและนิติบุคคลขนาดเล็กในตลอดช่วงเวลาแห่งวิกฤต ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในช่วงวิกฤตอย่างเท่าเทียมมีศักดิ์ศรี และจะช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็กรักษากิจการตัวเองไว้ได้ เข้มแข็งพอที่จะพลิกฟื้นหลังวิกฤตผ่านพ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น