xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เงิน(กู)อยู่ไหน? ใครๆ ก็อยากได้เงินโควิด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คัดกรองกันเข้มสุดๆ แต่ที่หลุดได้รับรอบแรก 1 ใน 1.6 ล้านคน กลับเป็นผู้ที่ไม่เดือดร้อน แบบว่า...โพสต์อวดสถานะความมั่งมี เรียกทัวร์ลงถล่มนางแบบไม่ยั้ง พร้อมกับขุดรูปกินหรูอยู่เริ่ดออกมาแฉ จนนางต้องลบโพสต์แล้วตีเนียนก็แค่ประชดเท่านั้น!

หรือเสียงวิจารณ์ลั่นเมืองกับอีกหนุ่มที่โพสต์ขอบคุณลุง ได้แล้วค่าโบท็อก ว่า "กราบขอบพระคุณ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สำหรับเงิน 5,000. 6 เดือน ผมรักลุงครับ ลุงเป็นคนดีเสมอมา 55 ได้จริงไม่ติงนัง งงมาก ใครโอนเงินมาให้ตอนตี 1 คุณลุงนั้นเอง ตั้ลล้าคค อย่าดราม่านะครับ มันได้ของมันเอง ลงไว้เล่นๆ ไม่เคยที่จะหวังได้ มันโอนมาเองอ่ะจ้าาา ตรวจสอบอะไรยังไงอยากรู้จริง! #ขอบคุณสำหรับค่าโบท็อก #ปล.ตรวจสอบสถานะ

และยังมีรายการแฉพวกกินหรูอยู่สบาย โกหกก็ยังได้เฉย แถมบางคนก็ว่าเป็นข้าราชการซึ่งไม่อยู่ในเกณฑ์ก็ได้เช่นกัน ขณะที่พวกผิดหวัง เดือดร้อนจริง ก็ดรามาน้ำตาไหลรินกันสุดๆ

นี่มันสะท้อนอะไร ขณะที่รัฐบาลคิดหัวแทบแตกจะคัดกรองช่วยเหลือคนที่เดือนร้อนจริงๆ ได้อย่างไร ขณะที่คนเดือดร้อนทั่วบ้านทั่วเมือง แห่ลงทะเบียนกว่า 24 ล้านคน ลุ้นกันตัวโก่งว่าจะได้รับการช่วยเหลือหรือไม่ เพราะเป้าหมายที่รัฐบาลว่าจะช่วยขยายจาก 3 ล้านคน เป็น 9 ล้านคน และรอบแรกสุดจะให้ 1.6 ล้านคนก่อนเท่านั้น กลับมีคนที่ไม่ได้ คนไม่เดือดร้อนจริงสร้างสตอรี่แบบโนสนโนแคร์ หักหน้ารัฐบาล และคนไทยด้วยกันแบบโนสนโนแคร์ จนมีรายการเปิดวอร์ถล่มกันเละตั้งแต่วันแรกที่แจกเงิน

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เงิน 5 พัน หมุนไปใส่มือประชาชนคนที่เดือดร้อนรอบแรกแล้ว และนับจากวันที่ 8 เมษายน เป็นต้นไป รัฐบาลจะทยอยเช็กสิทธิ์จากผู้ที่ลงทะเบียนทั้งหมดแล้วคัดกรองให้ได้ตามเป้าหมาย 9 ล้านคน รับ 5 พัน เป็นเวลา 6 เดือน จากเดิมที่ว่าจะให้เพียงแค่ 3 เดือน ซึ่งมาตรการนี้ต้องใช้งบประมาณมากถึง 2.7 แสนล้านบาท

เรื่องที่ว่าคนบางคนที่กินหรูอยู่สบายมีรถขับได้ 5 พันนั้นสมควรหรือไม่ นั่นเรื่องหนึ่ง แต่อีกเรื่องที่ใหญ่ และเรียกทัวร์ลงไม่แพ้กัน นั่นก็คือ เบื้องหลังการยืดเวลาบรรเทาความเดือดร้อน จ่าย 5 พัน 3 เดือน เป็นจ่าย 5 พัน 6 เดือน นั้น เกิดคำถามตามมาอยู่ไม่น้อย เพราะเท่ากับว่า พวกที่ได้ก็ได้ยาว พวกที่เดือดร้อนเช่นกันแต่ไม่ได้ก็อดไปเลย

ประชาชนที่เดือดร้อนนั้นไม่ได้มีเพียง 9 ล้านคน ในกลุ่มอาชีพ ที่รัฐกำหนด

ยังมีกลุ่มที่รอการเยียวยาอยู่อีกเยอะ ทำไมไม่ขยายกลุ่มให้กว้างขวางขึ้น แทนการปรับเพิ่มรับเงินเยียวยาจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน

การยึดหลักเกณฑ์เดิมก่อน ส่วนจะขยายเพิ่มเติม หรือขยายไปสู่กลุ่มอื่นๆ ต่อไป หรือไม่ จะรอการประเมินสถานการณ์ข้างหน้าเสียก่อน ตามที่ “นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” ออกมายืนยันนั้น จะทำให้มีเสียงร้องระงมดังขึ้นไม่หยุดว่าสุดท้ายก็ทิ้งกัน ใช่หรือไม่ เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสฯ ที่สร้างความเดือดร้อนต่างก็เจอพร้อมหน้ากันแทบทั้งนั้น ตามที่มีเสียงบ่นระงมกันทุกตรอกซอกซอย พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่ แผงลอย พวกรับเหมาก่อสร้างรายเล็กรายย่อย อยู่ในส่วนไหนของการเยียวยา ทำไมไม่ได้กับเขามั่ง ช่างไม่เหมือนเมื่อ “ครั้งแรก” ที่รัฐบาลเคยประกาศว่าจะเงินคนละ 2 พัน ซึ่งเที่ยวนั้น ยังไม่ได้ทัน “คิด วิเคราะห์ แยกแยะอะไร ก็ด่าหน้ากันออกมาก่นด่ากันสนุกปาก

อารมณ์คนได้ตังค์เข้าบัญชีกับ “คนถูกทิ้ง” สะท้อนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่เปิดเมนู “ตรวจสอบสถานะ” ขึ้นมาเพื่อให้เช็กดูว่าได้ ไม่ได้ ที่กลายมาเป็นคำถาม ข้อสงสัย เสียงวิพากษ์วิจารณ์ กระทั่ง #เราไม่ทิ้งกัน และ #ดรามาไม่ทิ้งกัน พุ่งติดอันดับทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก กันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ เนื่องจากมีตัวเลขว่า ประเทศไทยมีแรงงานทั้งหมด 38.4 ล้านคน มีแรงงานนอกระบบอยู่ 18.7 ล้านคน โดยอยู่ในภาคบริการและภาคการผลิตที่กระทบเต็มๆ 9.5 ล้านคน เมื่อรวมกับแรงงานในระบบประกันสังคมที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์คุ้มครองการว่างงานอีก 5 ล้านคนเศษ นั่นคือ 14.5 ล้านคน ที่ควรได้รับการเยียวยา หากให้เพียง 9 ล้านคน เท่ากับทิ้งแรงงาน 5.5 ล้านคน ไว้ข้างหลัง

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ตัดพ้อต่อว่าจากคนเดือดร้อนที่ถูกทิ้งจึงดังระงมกลบ 9 ล้านเสียงซึ่งดีใจที่ได้ยาวถึง 6 เดือน เผลอๆ รัฐบาลจะเสียรังวัดเลือกปฏิบัติแบบกู่ไม่กลับเอาง่ายๆ ถ้ามาตรการเยียวยามาครบทุกเม็ดแล้วยังมีคนเดือดร้อนอยู่อีกเยอะไม่ได้รับการดูแล คล้ายๆ ฝนตกไม่ทั่วฟ้า เดือดร้อนเหมือนกัน คนหนึ่งเฮฮารับห้าพัน แต่อีกคนทนทุกข์สิ้นหวัง ทำนองนั้น
นั่นทำให้ “นายลวรรณ แสงสนิท" ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ออกมาย้ำกันใหม่อีกครั้งว่า ผู้ที่ลงทะเบียนผ่าน#เราไม่ทิ้งกัน ที่คุณสมบัติเข้าเกณฑ์ ยืนยันรับ 5,000 บาท 3 เดือนแน่นอน ส่วนจะขยายจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน หรือไม่ ต้องดูสถานการณ์และประเมินกันอีกที

“.... หรือหากรัฐบาลต้องการนำเงินไปเยียวยานี้ไปช่วยคนที่ตกหล่นก็ทำได้ หรือ พม. ที่ต้องการดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ รัฐบาลก็จะเตรียมเงินจาก 6 แสนล้านบาทนี้ไปดำเนินการ แต่ก็ต้องมาดูว่าจัดสรรอย่างไร” โฆษกกระทรวงการคลัง ออกมาแตะเบรกเสียงวิจารณ์ให้สงบลง ซึ่งก็สอดคล้องกับที่ “อุตตม” ชี้แจงพร้อมเสริมด้วยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นรายครัวเรือนอีกด้วย

ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนไปแล้วร่วม 24 ล้านคนนั้น กระทรวงการคลังจะเคลียร์คัดกรองให้เสร็จในวันที่ 12 เมษายน โดยจะแยกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ผ่านเกณฑ์ กลุ่มไม่ผ่านเกณฑ์ และกลุ่มที่ต้องขอข้อมูลเพิ่ม แต่ที่แน่ๆ คือ 6 กลุ่มไม่เข้าเกณฑ์ ไม่ต้องรอให้เสียเวลา คือ กลุ่มอายุไม่ถึง 18 ปี, ไม่ได้ประกอบอาชีพ เช่นแม่บ้าน, ข้าราชการบำนาญ, ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม, นักเรียนนักศึกษา และเกษตรกร ซึ่งกลุ่มเกษตรกรกำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือ

ส่วนที่ควรได้หรือได้แน่ๆ ตามข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ป้อนให้กับคลังนั้น มีประมาณ 8 ล้านคน เป็นกลุ่มอาชีพอิสระตามมาตรา 39 และ 40 ประมาณ 5 ล้านคน และที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม 3 ล้านคน เช่น ค้าขาย อาชีพอิสระ รับจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว เป็นต้น ใครอยู่กลุ่มไหนก็ลุ้นกันไป และต้องติดตามกันต่อไปว่า คลังจะเยียวยาได้ถ้วนหน้า หรือไม่ แค่ไหน

#ประกันสังคมมีไว้ทำไม
แน่นอนว่า แนวโน้มว่าสถานการณ์เศรษฐกิจยังจะอยู่ในโหมดย่ำแย่ลง คนที่จะเดือดร้อน ก็ต้องมีเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ เห็นได้จากเวลานี้ จึงมีคำถามและเสียงเรียกร้องจากบรรดาแรงงาน พนักงานขององค์กรธุรกิจ ห้างร้านบริษัทต่างๆ หรือผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบ ไม่ถึงกับ “ว่างงาน” แต่ถูก “ลดเงินเดือน” หรือ “รายได้หาย” จากสถานการณ์วิฤตที่บีบบังคับให้ธุรกิจต้องลดค่าใช้จ่าย ลดเงินเดือนพนักงาน

กลุ่มคนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นกลุ่มใน 24 ล้านราย ที่ลงทะเบียนในเว็บ “เราไม่ทิ้งกัน” แต่น่าจะโดนคัดออก และที่ไม่ได้ลงทะเบียนอีกจำนวนมากยังเคว้งคว้าง เพราะไม่อยู่ในเกณฑ์ขอใช้สิทธิ์จากกระทรวงแรงงาน ที่ดูแลกองทุนประกันสังคม

ถ้าเป็นไปตามนโยบาย “เราไม่ทิ้งกัน” จริงๆ คนกลุ่มนี้ควรสามารถใช้สิทธิขอรับความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานประกันสังคม ซึ่งตอนนี้ ว่ากันว่ามีวงเงินอยู่กว่า 4 แสนล้านบาท ที่จะหยิบมาเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกจ้าง ซึ่งถึงเวลาสมควรที่จะนำมาเยียวยาช่วยเหลือกันแล้วใช่หรือไม่

ย้ำอีกที หากจะไม่ทิ้งกันจริง งานนี้ หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จาก “ค่ายลุงกำนัน” จะต้องเร่งรีบดำเนินการไม่ทางใดก็ทางหนึ่งได้แล้ว อย่าปล่อยให้แรงงาน ลูกจ้าง หน้าเหี่ยวแห้ง หมดแรงใจ เพราะไหนๆ เงินนั้นก็เป็นเงินของพวกเขา เมื่อเดือดร้อนก็ควรจะเอามาบรรเทาทุกข์แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากันไปก่อน

ตามไปดูสถานะกองทุนประกันสังคม ซึ่งเริ่มจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2534 ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2562 ตามงบการเงิน กองทุนมีเงินสะสม จำนวน 2,177,473 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนใหญ่กว่า 94% หรือประมาณ 2,055,040 ล้านบาท ถูกนำไปหาผลตอบแทนด้วยการลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ

ขณะที่ฟากฝั่งเอกชนในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งมี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธาน กกร. ได้ประชุมหารือผลกระทบเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยรอบนี้ กกร.ประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยอาจมีมูลค่าสูงถึงหลักล้านล้านบาท และกระทบการจ้างงานหลายล้านคน คาดว่าจะตกงานถึง 7 ล้านคน ใน 2 เดือนนี้ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีประมาณ 6 ล้านคน ที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน จากแรงงานทั้งระบบของประเทศไทย 38 ล้านคน

ตัวเลขคนตกงานตามที่ กกร.คาดการณ์ถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานกลุ่มศูนย์การค้าและค้าปลีก คาดว่าจะตกงาน 4.2 ล้านคน, ธุรกิจก่อสร้าง 1 ล้านคน, กิจการโรงแรม 9.78 แสนคน ร้านอาหาร 2.5 แสนคน, สปา ร้านนวดนอกระบบ 2 แสนคน, ธุรกิจสิ่งทอ 2 แสนคน แต่หากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ลากยาวจนถึงปลายปีนี้ จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจและคนตกงานมากยิ่งขึ้น และจะเริ่มลามไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ เป็นต้น

“ที่ผ่านมา กกร.ได้ลดเป้าจีดีพีเหลือโต 1.5-2% คงตัวเลขการส่งออกที่ - 2 ถึง 0% และเงินเฟ้อ 0-0.5% แต่เมื่อดูจากสภาพการณ์ต่างๆ แล้วเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจหดตัวลงทั้งส่งออก ท่องเที่ยว การลงทุน จีดีพีปีนี้อย่างไรก็คงจะติดลบแต่จะมากน้อยเพียงใดเราขอดูมาตรการรัฐที่ออกมาต่อเนื่องในภาพรวมก่อน เพราะหลายมาตรการก็น่าจะเป็นผลดีต่อธุรกิจและเศรษฐกิจไทย” นายสุพันธุ์ กล่าวอย่างมีความหวัง

ในการหารือกันรอบนี้ กกร.ยังยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญต่อรัฐบาล หลัง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บังคับใช้ระหว่างวันที่ 20 มีนาคม-30 เมษายน 2563 และมีมาตรการขอความร่วมมือปิดสถานประกอบการในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อควบคุมการระบาดที่เข้มข้นขึ้นตามลำดับ ทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ

โดยข้อเสนอใหม่ที่ขอให้รัฐบาลพิจารณา อย่างเช่น มาตรการด้านผู้ประกอบการ ได้แก่ ขอให้รัฐสั่งปิดกิจการของรัฐให้แก่ผู้ประกอบการโรงแรมหรืองานบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าข่ายกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการของรัฐ และพนักงานจะได้เงินชดเชยตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด ขอให้ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศ จัดสรรงบจ้างงาน ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศในราคาที่เหมาะสม เป็นต้น

ดรามาเงิน 5,000 พันที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงระบบตรวจสอบข้อมูลภาครัฐ
มาตรการด้านการขนส่ง ปัจจุบันแต่ละจังหวัดประกาศมาตรการไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดปัญหา กกร.จึงขอเสนอให้ ศบค.ประกาศมาตรการจากส่วนกลางเพื่อปฏิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ โดยขอให้ กกร.มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้

มาตรการด้านแรงงาน เช่น ขอให้ภาครัฐออกมาตรการเพิ่มเติมให้แรงงาน ลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคมได้รับการชดเชยรายได้ โดยพนักงานที่เข้าระบบ Leave without pay จะไม่สามารถได้รับเงินชดเชยการหยุดกิจการของสถานประกอบการชั่วคราวจากคำสั่งของรัฐ และไม่เข้าหลักเกณฑ์เยียวยา 5,000 บาท ดังนั้น ควรมีมาตรการชดเชยช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคม โดยจ่ายเงิน 50% ของค่าจ้าง ตามที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม

นอกจากนี้ ควรอนุญาตให้มีการจ้างงานรายชั่วโมงเพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 325 บาทต่อวัน คิดเป็นชั่วโมงละ 40-41 บาท ต่อการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง และไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน (ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน) ลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง จาก 4% เหลือ 1% ให้เท่ากับผู้ประกันตน ให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาทโดยยังได้รับ เงินเดือน 75% และไม่ตกงาน ฯลฯ

ในส่วนผลกระทบต่อการจ้างงานนั้น ในวันก่อนหน้า นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมไทย เผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มานานกว่า 2 เดือน เริ่มส่งผลกระทบรุนแรงต่อการจ้างงาน คาดว่านับจากเดือนมีนาคม ต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน จะมีคนตกงานไม่น้อยกว่า 6.5 ล้านคน และตัวเลขจะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยต้องรอดูว่าการแพร่ระบาดจะจบเร็วหรือไม่ ถ้าจบเร็วภายในหนึ่งเดือน ธุรกิจน่าจะฟื้นตัวได้เร็ว แต่ถ้าลากยาวการฟื้นตัวจะลำบากมากขึ้น ตอนนี้ภาคท่องเที่ยวหายไปเกือบหมด ขณะนี้โรงงานผลิตรถยนต์ 6 ค่าย ประกาศปิดตัวหนึ่งเดือน ถ้ายังจะไม่จบจะกระทบกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อะไหล่ชิ้นส่วนก็ต้องปิดตัวตามโรงงานผลิต คนตกงานจะสูงกว่าที่ประเมินไว้

ยืนยันตัวเลขตกงานพุ่งจากนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน ที่ระบุว่า จากตัวเลขลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบและส่งเงินสมทบประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน เพื่อลงทะเบียนใช้สิทธิกรณีว่างงานออนไลน์ ผ่าน https://empui.doe.go.th ภายใน 30 วันหลังจากถูกเลิกจ้าง พบว่าในช่วงเดือนมีนาคม 2563 มีผู้มาลงทะเบียนใช้สิทธิกรณีว่างงานแล้ว 144,861 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ที่มีผู้มาขึ้นทะเบียน จำนวน 84,177 คน และเดือนมกราคม จำนวน 74,775 คน คิดเป็น 41.89 % และ 48.38 % ตามลำดับ

สำหรับการชดเชยการว่างงานหรือถูกเลิกจ้างในระบบประกันสังคม ยังจะได้รับค่าชดเชยที่แตกต่างกัน เมื่อฟังจาก ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แจกแจงว่า ประชาชนที่ว่างงานจากการถูกเลิกจ้างซึ่งได้รับผลกระทบจนทำให้นายจ้าง/สถานประกอบการต้องปิดกิจการ จะได้รับเงินชดเชย 70% ของค่าจ้างที่เคยได้รับ โดยระยะเวลาที่จ่ายจะไม่เกิน 200 วัน

หากเป็นการว่างงานจากการลาออกเองจะได้รับเงินในอัตรา 45% ของค่าจ้างที่เคยได้รับ โดยระยะเวลาที่จ่ายจะไม่เกิน 90 วัน แต่หากเป็นกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ได้แก่ กรณีนายจ้างไม่ให้ทำงานเพราะต้องกักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อและกรณีหน่วยงานภาครัฐสั่งให้ปิดสถานประกอบการชั่วคราวจะต้องลงทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกับสำนักงานประกันสังคม

ชำแหละ พ.ร.ก.กู้ 1.9 ล้านล้าน
เอาเป็นว่าถึงตอนนี้ประชาชนคนเดือดร้อนอย่าเพิ่งสิ้นหวัง อดทนรอกันอีกหน่อย เพราะกำลังจะมีเงินก้อนใหญ่หมุนลงไปอีก โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา เพิ่งอนุมัติงบ แบบเดินหน้าสู้ กู้ไปด้วยกัน วงเงิน 2 ล้านล้านบาท รอบนี้น่าจะได้กันถ้วนหน้า หรือไม่ ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด เพราะไม่ใช่มารอบเดียวจบ แต่จะทยอยมาเรื่อยๆ จนถึงปีหน้า เพราะว่ากรอบเวลาให้กู้แก้วิกฤตเปิดไว้ยาวโดยกู้กันเป็นคราวๆ ไป

ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงหลังประชุม ครม. คือ ครม.อนุมัติ ออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้าน, ออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ ดึงงบกระทรวงมากองรวมไว้ที่งบกลาง อีก 1 แสนล้านบาท, อนุมัติออก พ.ร.ก. 2 ฉบับ ให้อำนาจปล่อยกู้ซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาท คิดดอกเบี้ย 2% ช่วยเอสเอ็มอี 1.7 ล้านราย และตั้งกองทุน 4 แสนล้าน เข้าซื้อตราสารหนี้เอกชน เพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดเงิน รวมๆ ก็ประมาณ 2 ล้านล้านบาท

“.... เรื่อง พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 จะต้องนำเสนอที่ประชุมครม. และเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในต้นเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อจะเอาเงินตรงนี้โอนเข้ามาที่งบกลาง.... ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว และยังบอกว่า

“.... เงินก้อนที่กู้มาจำนวน 1 ล้านล้านบาทนี้ จะปรับโอนไปมาได้ ถ้ารวมกับเงินที่ได้จาก พ.ร.บ.โอนงบประมาณที่คาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายนนี้ ก็น่าจะมีเงินงบกลางใช้ประมาณ 1 ล้านล้านบาทเศษ... ”

ส่วนมติ ครม. ที่เห็นชอบ พ.ร.ก.ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 2 ฉบับ ตรงนี้ไม่ได้เป็นการกู้เงิน แต่เป็นการบริหารการเงินการคลังของแบงก์ชาติ ซึ่งมีวงเงินประมาณ 9 แสนล้านบาท ส่วนการออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาทนั้น จะเป็นงบประมาณด้านสาธารณสุข 6 แสนล้านบาท และที่เหลืออีก 4 แสนล้านบาท จะนำไปใช้ฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แจกแจงในส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท คลังจะกู้ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท แหล่งเงินกู้จะเป็นสกุลบาทเป็นหลัก โดยกู้เป็นช่วงๆ ตามความต้องการใช้งบประมาณ กรอบเวลาการกู้จะให้เสร็จภายใน 30 กันยายน 2564

ส่วนการใช้เงินจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ แผนงานดูแลด้านสาธารณสุขและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 วงเงิน 6 แสนล้าน เช่น เยียวยาลูกจ้าง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เดือนละ 5,000 เป็นเวลา 6 เดือน รวมทั้งจะมีการเยียวยากลุ่มเกษตรกร ซึ่งจะประกาศมาตรการกันต่อไป

และอีกกลุ่มงานด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท เน้นสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ เป็นต้น คาดว่าภายในเดือนเมษายน จะคลอดเป็นกฎหมาย และการกู้เงินจะเริ่มในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ โดยเปิดให้เสนอโครงการเข้ามาตั้งแต่บัดนี้

“ขุนคลัง” บอกว่า การออกพ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท จะทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มเป็น 57% ซึ่งไม่เกินกรอบวินัยการเงินการคลังที่ 60% และหากจำเป็นขยายเพดานเงินกู้เพิ่ม จะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการวินัยทางการเงินการคลัง ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ต่อไป

สำหรับ พ.ร.ก.ให้อำนาจแบงก์ชาติ ออกเงินกู้สินเชื่อพิเศษเพื่อดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก หรือ เอสเอ็มอี วงเงิน 5 แสนล้านบาท นั้น นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย แจกแจงว่ามีอยู่ 4 มาตรการ เช่น เลื่อนเวลาชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้เอสเอ็มอี 1.7 ล้านราย ยอดหนี้ 2.4 ล้านล้านบาท 6 เดือน, สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ไม่เกิน 2% ต่อปี

ประชาชนเข้าคิวถอนเงิน 5,000 บาท ซึ่งรัฐบาลจ่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จากโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ยาวเหยียด

ส่วนพ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพตราสารหนี้ภาคเอกชน วงเงิน 4 แสนล้านบาท จะจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (BSF) ระยะเวลาดำเนินการปี 2563-64 จะเป็นแหล่งเงินสำรองในการเข้าไปดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนในกรณีที่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งขณะนี้ยอดตราสารหนี้ภาคเอกชนคงค้าง 3.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของจีดีพี

“... เมื่อเราเห็นจุดเปราะบางตรงไหน เราก็พยายามดับไฟให้ทัน และป้องกันไม่ให้ลุกลาม” นายวิรไท กล่าว และบอกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง กำหนดเงื่อนไขการเข้าซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน เป้าหมายของกองทุน BSF ไม่ใช่การดูแลตราสารหนี้ของเอกชนเป็นรายๆ แต่เป้าหมายสำคัญคือจะดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งระบบ

ส่วนอีกมาตรการคือ ลดการนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จากระดับ 0.46% ต่อปีบนฐานเงิน ให้เหลือ 0.23% ต่อปีบนฐานเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินนำเงินนำส่งที่ลดลง ไปลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับประชาชนและธุรกิจทันที ซึ่งธปท.หวังว่าแบงก์พาณิชย์จะลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงไม่น้อยกว่า 0.23%

ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ย้ำว่า การออก พ.ร.ก. 2 ฉบับดังกล่าว ไม่ใช่ พ.ร.ก.กู้เงินฯ แต่เป็นการให้อำนาจธปท.เข้าไปบริหารสภาพคล่องให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มเอสเอ็มอี และการดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน รวมทั้งสร้างกลไกในการให้รัฐบาลเข้ามาร่วมชดเชยความเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน

เมื่อเป็นเงินเยอะก้อนใหญ่ ซ้ำยังเป็นเงินกู้เพื่อสู้วิกฤตแม้เสียงส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วย เพราะหลายประเทศทั่วโลกก็ทุ่มไม่อั้นเพื่อบรรเทาเยียวยาความเดือดร้อนและพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดหนักลงไปมากกว่านี้ แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกต วิเคราะห์ วิจารณ์กัน เพราะนี่เป็นเดิมพันอนาคตของประชาชนและประเทศไทย

อดีตขุนคลัง อย่างเช่น นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์เฟซบุ๊ก “Korn Chatikavanij เสนอความเห็นเพิ่มเติมว่า พ.ร.ก.SoftLoan ช่วยเหลือ SME ต้องกำกับให้ถึงผู้ประกอบการขนาดเล็กให้ได้เพราะบางรายมีวงเงินกู้กับแบงก์น้อยหรือไม่มีเลย และการพักชำระหนี้ทั้งต้นทั้งดอก 6 เดือน ต้องทำทันที

ส่วน พ.ร.ก.รับซื้อคืนตราสารหนี้เอกชน ที่กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ออกมา เช่น บริษัทที่ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนต้องชำระดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราตลาด ฯลฯ สะท้อนความระมัดระวังของแบงก์ชาติที่จะหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหาเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย

สำหรับ พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้าน ส่วนแรก 6 แสนล้านยิงตรงถึงประชาชนต้องถึงมือคนเดือดร้อนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ส่วนอีก 4 แสนล้าน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยังไม่เห็นแผนชัดเจน ซึ่งนำมาซึ่งความกังวลว่าเป็นการใช้ในโครงการราชการต่างๆ ที่เดิมควรอยู่ในระบบงบประมาณปกติ (ที่ตรวจสอบได้) มากกว่าหรือไม่

ที่น่าห่วงคือ “พ.ร.บ.โอนงบปี 63 ดูเหมือนขาดความจริงจังเป็นอย่างยิ่ง! จากข่าวก่อนหน้านี้ที่บอกว่าจะมีการโอน 20% เพื่อให้ได้งบประมาณ 640,000 ล้าน เหลือแค่จะโอนเพียง 80,000-100,000 ล้าน และยังไม่ได้ระบุว่า งบส่วนนี้จะนำไปใช้อย่างไร”

แต่ก็ใช่จะมีเพียงเสียงทักท้วง เสียงเชียร์รัฐบาลก็มีมา อย่างเช่นความเห็นของ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง ที่ปรึกษาศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ยกมือเชียร์ “รัฐบาลลุงตู่” ว่ามาตรการชุดใหญ่ที่ออกมาดูแลเศรษฐกิจในช่วงนี้นั้น มาถูกทางแล้ว แต่ยังบอกไม่ได้ชัดเจนว่าจะเพียงพอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้หรือไม่ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด

“.... เชื่อมั่นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่รอบนี้จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะเห็นการเติบโตอีกครั้งคงต้องรอภาวะเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวรอบใหม่” นายสมชาย กล่าว

รอลุ้นมาตรการเยียวยาถ้วนหน้าจากรัฐบาลกันไป หาทางรอดกันไป ทั้งการเอาชีวิตให้รอดพ้นการติดเชื้อไวรัสไควิด-19 และการเอาตัวให้รอดจากวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสกันทั่วทั้งโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น