xs
xsm
sm
md
lg

ประกันสังคมยอมจ่ายคนตกงาน 8พันไม่เกิน3เดือน คลังรับอุทธรณ์เยียวยา19เม.ย.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน 360 - บอร์ดประกันสังคม เห็นชอบการระบาด "โควิด-19" เป็นเหตุสุดวิสัย ยอมจ่ายเยียวยาผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ชงเข้าครม.วันนี้ (15 เม.ย.) เฉลี่ยคนละ 8 พันบาท ไม่เกิน 90 วัน มั่นใจเงินกองทุนว่างงานไม่ล้มเพียงพอดูแลคนตกงาน 8 แสนคน ขณะที่กลุ่มผู้ถูกตัดสิทธิ์รับเงินเยียวยา 5 พันบาท บุกคลังยื่นขออุทธรณ์ “ปลัดคลัง” วอนใจเย็นๆ ให้รออุทธรณ์ผ่านเว็บไซต์ 19 เม.ย. หรือ 22 เม.ย.นี้ ด้าน“ผอ.สศค.” เผยร่วมมือกับ มท. ส่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลอาชีพผู้ลงทะเบียน ขณะที่ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 34 ราย เสียชีวิต 1 ราย “วิษณุ” ชี้ยังมีเวลาอีก 15 วันทบทวยขยายเคอร์ฟิว

วานนี้ (14 เม.ย.) นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดสปส.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคมวันที่ 14 เม.ย. ได้มีการพิจารณาเรื่องมาตรการเยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยคณะกรรมการประกันสังคมมีมติรับทราบตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตน และได้เสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความคำว่าเหตุสุดวิสัยครอบคลุมไปถึงไหน

ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งว่า เหตุสุดวิสัยนี้ให้รวมถึงกรณีที่ผู้ประกอบการปิดตัวเองลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยโควิด-19 ด้วย ทางครม. จึงให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปปรับกฎกระทรวงแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรา 79/1 ของพ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้ครอบคลุมกรณีผู้ประกันตนม.33 จะได้รับการเยียวยาเงินว่างงานจากกองทุนประกันสังคม ในกรณีโควิด -19 หรือกรณีที่สถานประกอบกิจการปิดตัวเองลงด้วย

นายสุทธิ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้รวมถึงให้ทางสำนักงานประกันสังคมเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ และวินัยการเงินการคลังเสนอไปทางครม. ให้พิจารณา โดยกระทรวงแรงงานจะเสนอเข้าที่ประชุมครม.ในวันที่ 15 เม.ย.นี้ ทั้งนี้เดิมคาดว่าจะมีผู้ประกันตนมาลงทะเบียนรับเงินชดเชยว่างงานประมาณ 7-8 แสนคน โดยแยกเป็นตัวเลขจากการลาออก เลิกจ้างประมาณ 3-4 แสนคน และได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด -19 ประมาณ 3.5 แสนคน ซึ่งอัตราการจ่ายก็อยู่ที่ร้อยละ 62 ของค่าจ้าง ในระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณเดือนละ 8,000 บาท

ทั้งนี้ผู้ประกันตนและนายจ้างสามารถลงทะเบียนยื่นคำร้องไว้กับทางสำนักงานประกันสังคม ผ่านช่องทางออนไลน์ไว้ได้เลย แต่ให้ถือว่าเป็นผู้ประกันตนทุกกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการเยียวยา ส่วนกลุ่มที่โดนตัดเงินเดือนแต่สถานประกอบกิจการยังไม่ปิด ในส่วนนี้จะไม่ได้รับการเยียวยา เพราะยังไม่ใช่เป็นกรณีว่างงาน

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้เงินกองทุนว่างงานมี 1.62 แสนล้านบาท ส่วนจะพอหรือไม่นั้นขออย่าเป็นกังวล ให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมแก้ปัญหา ขณะนี้ขอให้กระทรวงได้นำเข้าเรื่องนี้เสนอให้ที่ประชุมครม.ได้พิจารณาก่อน ซึ่งจะมีการจ่ายเงินชดเชย 3 เดือน แต่กรณีดังกล่าวนี้จะให้ครั้งละเดือนซึ่งต้องพิจารณาว่ากระทบเดือนไหน ก็ให้รับเดือนนั้นๆ ไปก่อน และหากอีกเดือนสามารถกลับมาทำงานได้ก็หยุดรับเงินชดเชย

เมื่อถามว่า ผู้ที่ทำงานและส่งเงินประกันสังคมตามปกติ เขารู้สึกว่าเงินที่นำมาชดเชยเป็นเงินของทุกคน เรามีมาตรการแจกแจงอย่างไร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กองทุนประกันการว่างงาน เป็นกองทุนเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข หากยังไม่ทุกข์ยังมีงานทำ มีเงินเดือน ก็เฉลี่ยสุขไปให้คนที่เดือดร้อนกว่า ซึ่งเป็นหลักการของกองทุนประกันสังคมกรณีว่างงานอยู่แล้ว ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่กระทบกับเงินที่ผู้ประกันตนจะได้รับ เนื่องจากเป็นคนละกองทุนกัน ทั้งนี้กลุ่มแรกที่จะได้รับเงินเยียวยา กรณีรัฐสั่งปิดกิจการชั่วคราว ตนจะพยายามเร่งให้ได้รับเงินเยียวยาภายในวันที่ 17 เม.ย. นี้ และอย่างช้าไม่ควรเกิน 20-21 เม.ย.นี้.

ม็อบผู้ถูกตัดสิทธิ์5พันบุกคลัง

วานนี้ (14) ประชาชนที่ไม่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท จำนวนกว่า 100 คน ได้เดินทางมาที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กระทรวงการคลัง เพื่ออุทธรณ์สิทธิรับเงินตามมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่เจ้าหน้าที่เกรงจะกระทบต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดจึงได้ปิดศูนย์ฯ ดังกล่าว จึงได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนที่เดินทางมาร้องเรียนครั้งนี้

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงต่อประชาชนว่า ขอร้องให้ผู้ลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกันที่ยังไม่ได้รับเงิน หรือได้รับ SMS เพื่อแจ้งว่าไม่ผ่านเกณฑ์คัดกรองคุณสมบัติแล้วนั้น ควรดำเนินการอุทรณ์ผ่านเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน ซึ่งในวันที่ 19 เม.ย. หรืออย่างช้าไม่เกินวันที่ 22 เม.ย. นี้

กระทรวงการคลังได้เตรียมที่จะเปิดให้ผู้ที่มีปัญหาสามารถเข้ายื่นอุทรณ์ผลการตัดสินใหม่ได้พร้อมยังยืนยันด้วยว่าจะดูแลผู้ที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาทให้สามารถจะได้รับเงินตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยจะใช้เวลา 7 วันในการพิจารณาคำอุทรณ์

สำหรับผู้ลงทะเบียนที่ต้องการขอคำปรึกษาหรือร้องเรียนเรื่องใด แต่ไม่สามารถติดต่อผ่าน Call Center ได้ กระทรวงการคลังจะเปิดระบบให้ส่งคำถามผ่านเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน ทั้งนี้ ในระหว่างนี้กระทรวงการคลังจำเป็นต้องขอเวลาในการคัดกรองคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนอีก 27 ล้านคนให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

โดยในส่วนของผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์รับเงินเยียวยาเนื่องจากระบบมีการตรวจพบว่าเป็นเกษตรกรนั้น กระทรวงการคลังได้รับทราบแล้วว่าผู้ลงทะเบียนบางรายไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรจริง แต่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนครอบครัวเกษตรกรไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาก่อนหน้านี้เท่านั้น ทั้งนี้ กระทรวงการคลังขอให้ผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์คัดกรองคุณสมบัติจากเหตุผลดังกล่าวนี้ ทำใจให้เย็นๆ เนื่องจากกระทรวงการคลังมีนโยบายให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาโควิด-19 ทุกรายอยู่แล้ว

ปลัดกระทรวงการคลัง ยังชี้แจงกรณีปัญหาของผู้ที่มีอาชีพขับรถแท็กซี่ แต่ถูกตัดสิทธิ์นับเงินเยียวยาจากปัญหาถูกระบุอาชีพว่าเป็นเกษตรกรนั้น หากเป็นบุคคลที่ไม่เคยเป็นเกษตรกรมาก่อน แต่พ่อแม่ของตนเคยใส่ชื่อตนไว้ในฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกระทรวงเกษตรฯ สามารถยื่นขออุทรณ์ผ่านระบบ โดยให้แนบเอกสารหลักฐานใบอนุญาตขับแท็กซี่เพื่อใช้ยืนยันอาชีพที่แท้จริงมาด้วย

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางการทำงานในกระบวนการอุทรณ์การพิจารณาฯ ในครั้งนี้ จะไม่ใช่เป็นการตรวจสอบข้อมูลผู้ลงทะเบียนโดยการใช้ระบบ AI ดังเช่นที่ผ่านมา แต่กระทรวงการคลังได้ประสานงานกับกระทรวงมหาดไทยแล้วว่า จะส่งเจ้าหน้าที่ในระดับท้องถิ่นให้ลงพื้นที่เพื่อดูข้อเท็จจริงด้านอาชีพผู้ลงทะเบียนที่ระบบเคยชี้ว่าไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติแต่ละรายนั้น

ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยได้รายงานการตรวจสอบในพื้นที่จริงกลับมายังกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้วว่าสมควรได้รับสิทธิ์เยียวยาจริง กระทรวงการคลังจะเร่งดำเนินการคืนสิทธิ์และโอนเงินเยียวยา 5,000 บาทให้แก่ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์จากการตรวจสอบข้อมูลอาชีพที่มีความผิดพลาดของระบบ AI โดยทันที

ผู้ป่วยโควิดเพิ่ม 34 ราย-ตาย 1 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงข่าวประจำวัน ว่า วันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 34 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย กลับบ้านเพิ่ม 117 ราย ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยสะสมรวม 2,613 ราย กลับบ้านรวม 1,405 ราย เสียชีวิตรวม 41 ราย ยังรักษาตัวใน รพ. 1,167 ราย จากการที่มีผู้รักษาหายเพิ่มทำให้มีเตียงว่างมากขึ้นเช่นกัน สำหรับการป่วยยังคงกระจุกตัวใน กทม. เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง กลุ่มอายุที่ติดสูงสุด คือ อายุ 30-39 ปี 623 ราย อายุน้อยสุด 1 เดือน อายุมากสุด 97 ปี อายุเฉลี่ย 40 ปี

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายใหม่ คือ หญิงไทยอายุ 52 ปี อาชีพพนักงานขับรถ ขสมก.สาย 140 มีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง หัวใจโต มีประวัติไปสังสรรค์ดื่มสุราในวงกับเพื่อนๆ หนึ่งในเพื่อนสังสรรค์เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน โดยวงสังสรรค์นี้มีการติดเชื้อไป 10 ราย ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายนี้เริ่มป่วยวันที่ 26 มี.ค. ด้วยอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก เสมหะ ไปตรวจ รพ.แห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ แล้วกลับไปปฏิบัติงานตามปกติ ต่อมาวันที่ 3 เม.ย. มีอาการไข้ ถ่ายเหลว หายใจหอบเหนื่อย จึงไปเข้ารับการตรวจที่ รพ.แห่งหนึ่งในฝั่งธนบุรี จึงทำการส่งตรวจโควิด-19 โดยผลยืนยันว่าติดเชื้อ และอาการแย่ลงเรื่อยๆ และเสียชีวิตวันที่ 12 เม.ย.

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายใหม่ 34 ราย แบ่งเป็น 1. กลุ่มสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 27 ราย 2. คนไทยกลับมาจากต่างประเทศ คือ อิตาลี และ มาเลเซีย 2 ราย 3. ไปสถานที่ชุมชน 1 ราย 4. อาชีพเสี่ยง 1 ราย 5. รอการสอบสวนโรค 1 ราย และ 6. กลุ่มที่กักตัวหลังกลับจากอินโดนีเซีย 1 ราย ที่ จ.สตูล ซึ่งกลุ่มกลับจากอินโดนีเซียติดเชื้อ 61 ราย จากที่กลับมา 70 กว่าราย ซึ่งหากไม่มีการกักตัวที่ดี หากกลุ่มนี้กลับมาแล้วกระจายกลับบ้านไปจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยและในพื้นที่ ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ยังมาจาก 9 จังหวัด คือ กทม. 8 ราย ยะลา 6 ราย ปัตตานี ภูเก็ต 5 ราย นครศรีธรรมราช 4 ราย สมุทรปราการ 2 ราย เลย พังงา สตูล 1 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 1 ราย

“ภาพรวมผู้ป่วยรายใหม่ยังคงขึ้นๆ ลงๆ ดังนั้น การจะบอกว่าตัวเลขลดลงแล้วจะผ่อนคลายทำตัวตามสบายหน่อยนึงคงไม่ได้ เพราะตัวเลขในวันนี้เป็นผลมาจากเมื่อ 7 วันก่อน ดังนั้น หากวันนี้เราหย่อนลงผลไม่ได้เกิดทันที แต่จะเกิดขึ้นในอีก 7 วันข้างหน้า ถ้าเรายังทำเข้มขึ้นจะบอกอนาคตได้คือตัวเลขลงได้ ถ้าผ่อนคลายก็จะไม่เป็นอย่างที่ว่า” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังเชิงรุก

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 5/ 2563 ว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศทุกคนจะต้องกักกันตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด (State/ Local Quarantine) เพื่อให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงกลาโหมจัด State Quarantine และร่วมกับกระทรวงมหาดไทยจัด Local/ Home Quarantine ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการวางระบบการกักกันตัวผู้เดินทาง ซึ่งถือเป็นผู้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด 19 รวมถึงกรอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลพิจารณาให้การสนับสนุน

ทั้งนี้ ให้กรมควบคุมโรคซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ ปรับรายละเอียดกรอบค่าใช้จ่ายตามคำแนะนำของคณะกรรมการฯ เพื่อเสนอศูนย์บริหารจัดการโควิด-19 (ศบค.) หรือคณะรัฐมนตรี พิจารณาตามที่เห็นสมควรต่อไป

นนทบุรี ยกเลิกประกาศ 'ผ่อนปรน' เปิดสถานที่เสี่ยงแล้ว

นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ลงนามในประกาศฉบับที่ 10 ยกเลิกคำสั่งฉบับที่ 9 ที่แจ้งผ่อนปรนสถานที่ฯ ลงมติให้เปิดได้เฉพาะศูนย์บริการโทรศัพท์มือถือหรือระบบสื่อสาร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด19 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ตามที่ เมื่อวานนี่ 13 เมษายน 2563 จังหวัดนนทบุรีได้ออกคำสั่งที่ 9/2563 ซึ่ง จังหวัดนนทบุรี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีเป็นผู้ลงนาม และเป็นผู้รับผิดชอบในคำสั่งดังกล่าว

เมื่อได้รับเสียงสะท้อน จากพี่น้องประชาชน และหลายภาคส่วนร่วมแสดงถึงความห่วงใย และขอให้ทางจังหวัดทบทวนคำสั่งฯ วันนี้จึงได้มีการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อฯ เพื่อทบทวนคำสั่งดังกล่าวโดยนำข้อคิดเห็น คำแนะนำ และความห่วงใย ของพี่น้องประชาชนชาวนนทบุรี มาประกอบการพิจารณา

จึงได้มีคำสั่งที่ 10/2563 ลงวันที่ 14 เมษายน 2563 ปรับปรุงคำสั่งเดิมให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น โดยสรุปคือ ที่ใดที่เคยปิดอยู่ก่อนหน้านี้ให้ปิดต่อเนื่องไป ยกเว้น ศูนย์บริการโทรศัพท์มือถือและระบบสื่อสารในห้างสรรพสินค้า เปิดได้ในวันที่ 15 เมษายน นี้

“วิษณุ”อุบขยาย-ไม่ขยายเคอร์ฟิว

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงแนวทางการบังคับใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)ที่จะหมดอายุในวันที่ 30 เม.ย.นี้ว่า หากมีการขยายออกไปอีกต้องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน 1 สัปดาห์ ส่วนจะขยายอีกกี่วัน ก็ไม่สามารถตอบได้ เพราะยังมีเวลาอีก 15 วัน

นายวิษณุ ยังกล่าวถึง ขั้นตอนการเสนอร่าง พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบในหลักการไปแล้วว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 14 เม.ย. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็จะส่งเรื่องมายังที่ประชุม ครม.ให้ทราบอีกครั้ง จากนั้นก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ และหลังจากการโปรดเกล้าฯ ก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเปิดประชุมในวันที่ 22 พ.ค.นี้ โดยจะไม่มีการเรียกประชุมสมัยวิสามัญก่อน ซึ่งการพิจารณากฎหมายก็ขึ้นอยู่กับสภาผู้แทนราษฎรจะใช้เวลานานเท่าใด แต่ทั้งนี้ พ.ร.ก.ดังกล่าวมีผลตั้งแต่ประกาศแล้ว แต่หากสภาฯไม่เห็นชอบเรื่องนี้ก็ตกไปและหยุดปฏิบัติ แต่ที่ผ่านมาก็สมบูรณ์ดี


กำลังโหลดความคิดเห็น