ทุกครั้งที่ภาคธุรกิจมีปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจ หรือสภาวะอื่นใด จะต้องโอดครวญให้ภาครัฐเข้าอุ้มเสมอ และภาครัฐที่ว่านั้นจำต้องให้ประชาชนรับภาระในขั้นสุดท้าย ในด้านการเงิน ภาระติดพัน ทั้งๆ ที่ในระบบเศรษฐกิจเสรี ภาคธุรกิจต้องยอมรับความเสี่ยง
ในยามธุรกิจมีผลประกอบการดี มีกำไร ต่างขยายกิจการ ทั้งในประเภทธุรกิจเพื่อแสวงหาผลกำไร ไม่ได้แบ่งปันให้ประชาชนผู้ต้องรับแบกภาระในยามวิกฤต มีประชาชนส่วนหนึ่งยอมเสี่ยงเพื่อหวังผลตอบแทนเมื่อบริษัทออกหุ้นกู้โดยมีดอกเบี้ยในอัตราจูงใจ
“การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง” นั่นเป็นคำเตือนเสมอ เมื่อประชาชนซื้อหุ้นกู้ ได้รับผลตอบแทนต่ำเพราะผู้ออกหุ้นกู้ประเมินสถานการณ์ผิด บริหารงานไม่เข้าเป้า นักลงทุนในหุ้นกู้ก็ก้มหน้ารับผลตอบแทนต่ำ ถ้าบ่นด้วยความไม่พอใจ คนออกหุ้นกู้ช่วยอะไรไม่ได้
“การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง” คนออกหุ้นกู้ไม่ได้บังคับให้มาซื้อ เป็นเพราะความอยากได้อัตราดอกเบี้ยเป็นรายได้งาม เมื่อไม่ได้ดังใจ ก็ช่วยไม่ได้ ก็เสี่ยงกับการลงทุนหุ้นกู้จากรายอื่นๆ ต่อไป ถ้าเป็นสภาวะเช่นนี้ คงไม่มีใครเรียกร้องอะไรได้ เป็นธุรกิจลงทุน
แต่ที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ มีกองทุนบางแห่งมูลค่ารวม 3-4 แสนล้านบาทมีปัญหา เมื่อถึงเวลาครบกำหนดต้องไถ่ถอน ถ้าผู้ออกหุ้นกู้จ่ายคืนได้ ก็ไม่มีปัญหา ถ้ายังมีความน่าเชื่อถือ ก็อาจออกหุ้นกู้ใหม่ เอาเงินมาคืนให้นักลงทุนชุดเดิม หรือใช้วิธี roll over ดังว่า
นักลงทุนใช่ว่าจะมีเงินพร้อมซื้อหุ้นกู้ หรือรับกองทุนใหม่ ถ้าสภาวะไม่เอื้ออำนวย มีปัญหาสภาพคล่อง กำลังการซื้อของประชาชนต่ำ หุ้นกู้ใช่ว่าจะปล่อยออกได้ง่ายๆ
ถ้าความน่าเชื่อถือ หรือภาพลักษณ์ด้านความมั่นคงของผู้ออกหุ้นกู้น่าสงสัย มีผลประกอบการไม่ดี มีเงื่อนงำด้านความโปร่งใส มีข่าวไม่ดีมากมาย ก็ขายหุ้นกู้ได้ยาก
ครั้งนี้ดูสภาพแล้ว มีสัญญาณว่าผู้ออกหุ้นกู้ไม่อยู่ในสภาพไถ่ถอนคืนได้ เพราะสภาวะเศรษฐกิจของประเทศซึมเซามานาน แม้จะทุ่มเงิน “กระตุ้น” ด้วยวิธีต่างๆ มีแผนประชานิยมถมไม่เต็มหมดเงินหลายแสนล้าน ก็ไม่ได้ผลตามคำคุยฟุ้งของคนที่อ้างว่าเก่ง
ชาวบ้านยังจำได้ดีว่า “ผู้เชี่ยวชาญ หรือมือเซียนเศรษฐกิจของรัฐบาล” อ้างว่า “เศรษฐกิจกำลังอยู่ในระหว่าง take off” ผลก็คือ ถ้าเป็นเครื่องบิน ก็ไถลออกนอกทางวิ่ง และก็อ้างว่าต้อง “กระตุ้น” อีกรอบ ถ้าไม่เอาจากงบกลาง ก็กู้เงิน 4 แสนกว่าล้านทุกปี
ปีงบประมาณ 2562-63 ก็ยังกู้ และไม่มีวี่แววว่าจะสามารถทำงบสมดุลได้ แต่ปีนี้มีวิกฤตพิเศษ ทำให้มีจังหวะและโอกาสงามๆ ได้ ออก พ.ร.ก.ต้องหาเงินมา 1.9 ล้านล้านมาแก้วิกฤต มีหลายหลาก รวมทั้งอุ้มบริษัทธุรกิจ 5 แสนล้านและกองทุน 4 แสนล้านบาท
เหมือนกับคำอ้างว่า “ถ้าให้พวกนี้ล้ม จะทำให้ล้มทั้งระบบ” นั่นคือสถาบันการเงิน ถ้าไม่สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้คืนได้ ชาวบ้านจะแตกตื่นวิ่งโร่หาทางถอนเงินจากกองทุนอื่นๆ และก็จะล้มทั้งระบบ ดังนั้น นักกู้เงินช่วยเหลือผู้เดือดร้อนภาคเอกชนจึงเห็นโอกาสงาม
อย่างที่ฝรั่งว่า “Too big to fail” ใหญ่เกินกว่าที่จะให้ล้ม โดยไม่ให้มีการช่วยอุ้ม ไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจเสรีที่ใครล้มเหลว อ่อนแอก็ต้องให้ล้ม เป็น “moral hazard”
ป่านนี้นักกู้คงแทบจะปูผ้าขาวกราบ “โคโรนาไวรัส” ทุกเวลาหลังอาหาร เพราะได้เปิดช่องทางให้สวมรอยหาเงินช่วยพวกกองทุน ทั้งๆ ที่พวกนี้มีปัญหาก่อนโควิด-19 ระบาด แล้วจะไม่ให้เรียกว่าวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสทองเพื่อช่วยอุ้มกองทุนเน่าๆ ได้ไง
และใช่ว่าวิกฤตครั้งนี้จะไม่ใช่โอกาสทองสำหรับพวกนักฉกฉวยโอกาสอื่นๆ ข่าวฉาวโฉ่เรื่องจัดซื้อหน้ากาก การหาประโยชน์จากไข่ หรือเรื่องอื่นๆ และยังมีชาวบ้านสงสัยว่าเงินขนาด 1.9 ล้านล้านบาท บางส่วนน่าจะเป็น “ลาภลอย” มีเศรษฐีใหม่แจ้งเกิดอีก
เพราะการช่วยเหลือชาวบ้านหัวละ 5 พันบาท เริ่มมีเสียงโวยวายแล้วว่ามีคนโดนตัดสิทธิเพราะถูกจัดว่าเป็น “เกษตรกร” ควรรอความช่วยเหลืองวดต่อไป ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เกษตรกร ส่อเค้าน่าสงสัยว่ามีการตรวจสอบข้อมูลเพียงใด หรือมีใครเริ่มคิดไม่ซื่อแล้ว
จะเข้าข่าย “บัญชีผี” สั่งจ่ายเงินให้คนอื่นๆ แต่เจ้าตัวไม่ได้รับ แต่เงินถูกผันไปเข้ากระเป๋าในรูปแบบของ “กาลักน้ำ” หรือไม่ นี่เป็นประเด็นให้รัฐบาลต้องตรวจสอบ
ต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่ามีความโปร่งใส ตรวจสอบโดยคณะกรรมการอิสระประกอบด้วยหลายฝ่าย ไม่ใช่ตั้งมีแต่คนของรัฐบาลในแบบ “ชงเอง กินเอง” ตามคำครหา
อย่าให้ใครเสนอหน้ามาย้อนถาม “ไหนละหลักฐาน” ชาวบ้านธรรมดาไม่ได้อยู่ในระบบภาครับ จะไปเอาข้อมูลหรือหลักฐานมาจากไหน นอกจากผู้ที่โวยวายว่าโดนตัดสิทธิไม่ได้รับเงินเพราะโดนยัดให้มีอาชีพ “เกษตรกร” ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำไร่ไถนาทั้งชีวิต
ถ้าใจซื่อมือสะอาด ไม่มีนักงาบแฝงเร้นฉวยโอกาสจากโครงการนี้ ก็ต้องมีคำอธิบายให้ชัดเจน และชาวบ้านอยากรู้ด้วยว่า เงินที่จ่ายไปนั้น ให้ใคร มีหลักฐานชัดตามคำอ้างหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าประชาชนต้องแบบรับภาระใช้คืนหนี้ทั้งหมด
ใครยังคิดจะเถียงอีกว่ากลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี และหุ้นกู้กองทุนต่างๆ มีปัญหาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาด และไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนี้ คนอื่นๆ แทบทุกระดับก็รับรู้ว่าเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในสภาพ “ตายซาก” นานแล้ว ปลุกผีเน่าอย่างไรก็ไม่ฟื้น
คำชี้แนะเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ได้ซึมลึกเข้าถึงกะโหลกผู้มีอำนาจ ลำพองแต่ในเรื่องจะกู้เงินสร้างหนี้สินให้แผ่นดินและประชาชนต้องรับภาระ วิกฤตโควิด-19 ได้ลากเอาระดับบนลำบากอย่างสาหัส ไม่ใช่ระดับกลางและล่างตามที่จะเป็นก่อนหน้านี้
เพียงแต่ว่าคนระดับกลางและล่างต้องรับภาระในการอุ้มทั้งกลุ่มผู้ไม่อยู่ในระบบภาษีและระดับธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะผู้มีอำนาจอ้างต้องจำเป็นอุ้มระบบไม่ให้ล้มครืน
ไม่มีรัฐบาลใด “ใหญ่เกินกว่าใครจะล้มได้” ถ้าประชาชนทนการโกงไม่ได้!