xs
xsm
sm
md
lg

COVID-19 กับจุดจบของทุนนิยม?

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท


Paul Mason นักวิจารณ์ชาวอังกฤษ
การ “กักตัวเองเอาไว้ในบ้าน” แล้วตื่นขึ้นมา “อัพ-เดต” ติดตามตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ตาย เพราะเชื้อไวรัส “COVID-19” ว่าพุ่งพรวดๆ พราดๆ ไปถึงไหนต่อไหนแล้ว แบบชนิดวัน-ต่อวัน...ชักกลายเป็น “กิจวัตรประจำวัน” ของผู้คนทั้งหลาย ที่ไม่ใช่แค่เฉพาะบ้านเราเท่านั้น แต่น่าจะเป็นผู้คนในระดับทั่วทั้งโลกไปแล้วก็ว่าได้ ระดับส่งผลให้ผู้นำอเมริกัน ประเทศที่ได้กลายเป็น “จ้าวโรค” ไปแล้วในทุกวันนี้ ต้องออกมาระงับความตื่นเต้นตกใจของบรรดาอเมริกันชนทั้งหลายเอาไว้ก่อนล่วงหน้า ด้วยคำพูดคำจา ประมาณว่า “ระหว่างสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า ถือเป็นสัปดาห์ที่สาหัสที่สุด เพราะจะมีการเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก” โดยจะเป็นไปตามนั้น หรือไม่เป็นไปตามนั้น คงหนีไม่พ้นต้อง “อัพ-เดต” กันต่อไป...

แต่เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ หรือเพื่อฉีกกรอบ ฉีกแนวออกไปมั่ง แทนที่จะเอาแต่นั่งฟัง นั่งติดตามอะไรต่อมิอะไรแบบวัน-ต่อวัน วันนี้เลยคงต้องขออนุญาตเชิญชวน ให้ลอง “มองข้ามช็อต” มองถึงผลข้างเคียง หรือผลกระทบในระยะยาว ไม่ว่าเชื้อไวรัสตัวนี้ ท่านจะหมดฤทธิ์ หมดเดชลงไปเมื่อไหร่ ตอนไหน และอย่างไร? เหมือนอย่างที่นักคิด นักเขียน นักวิจารณ์หัวเอียงซ้ายชาวอังกฤษ “นายPaul Mason” ผู้เคยมีงานเขียนงานทางวิชาการออกมาเป็นเล่มๆ ไม่ว่าเรื่อง “Meltdown : The end of the Age of Greed” หรือ “Post-Capitalism: A Guide to our Future” ฯลฯ เป็นต้น ได้ไปหยิบยกเอา “ประวัติศาสตร์เชื้อโรค” หรือประวัติศาสตร์การแพร่ระบาดของ “ไข้ดำ” หรือ “กาฬโรค” (Black Death) เมื่อช่วง 600 เกือบ 700 ปีที่แล้ว หรือเมื่อปี ค.ศ. 1340 โน่นเลย มาอุปมาอุปไมยเทียบเคียงกับการแพร่ระบาดของ “ไข้ปอดอักเสบ” หรือ “ไข้โควิด” คราวนี้ เพื่อให้พอมองเห็นภาพของผลกระทบ หรือผลข้างเคียงหลังจากนั้น...ว่ามันจะหนักหนา สาหัสไปถึงขั้นไหน???

โดยสำหรับ “ไข้ดำ” ที่มีจุดเริ่มต้นจากเอเชีย หรือจากมองโกเลีย เมื่อระบาดเข้าสู่ยุโรปจนทำให้ประชากรล้มหายตายจากไปถึง 1 ใน 3 ของทั่วทั้งทวีป สิ่งที่ตามมานับจากนั้น ตามที่ “นายPaul Mason” แกสรุปไว้ย่อๆ ก็คือ... “การปฏิวัติได้เริ่มต้นขึ้น-ขณะที่สถาบันซึ่งเคยได้รับการยึดมั่นค่อยๆ พังทลาย-และระบบเศรษฐกิจทั้งระบบถูกกำหนดค่ากันใหม่” หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของผู้คนซึ่งเคยอยู่ในสังคมการเกษตร ที่ต้องอพยพเข้าไปหางานทำในเมืองกันเป็นสายๆ เกิดความสั่นคลอนของบรรดาผู้มีอำนาจทางการเมือง-เศรษฐกิจ หรือบรรดาพวก “อีลีท” ทั้งหลาย ที่ยังต้องการรักษาอำนาจ และสิทธิพิเศษต่างๆ เอาไว้ แต่ท้ายที่สุด...ระบบเศรษฐกิจแบบเจ้าที่ดิน หรือ “Feudal System” ก็หนีไม่พ้นต้องพังทลาย เปิดทางให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็น “ทุนนิยม” แบบเต็มสูบ เต็มด้าม...

และอาจด้วยเหตุเพราะความเป็นพวก “หัวเอียงซ้าย” แถมหนักไปในแนว “ทรอตสกี้” อีกต่างหาก นักคิด นักเขียน และนักวิจารณ์อย่าง “นายPaul Mason” เลยอดไม่ได้ที่จะ “มองข้ามช็อต” ถึงขั้นว่า...เป็นไปได้หรือไม่ว่าการแพร่ระบาดของ “ไข้โควิด” หรือเชื้อไวรัส “COVID-19” ตัวนี้ จะเป็นตัวส่งสัญญาณให้เห็นถึง “จุดจบของระบบทุนนิยม” (Will Coronavirus signal the end of Capitalism?) อันเป็นข้อเขียน บทความ ชิ้นล่าสุด ที่แกได้เขียนและเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ สำนักข่าว “Al-Jazeera” เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ใครสนใจอยากรู้เหตุผล รายละเอียด เพื่อเอามาชั่งน้ำหนัก ว่าน่าเชื่อ-ไม่น่าเชื่อมากน้อยขนาดไหน ลอง “คลิก” เข้าไปหาอ่านดูเอาเอง แต่ก็มีหลายสิ่ง หลายอย่าง ที่น่าคิด น่าสะกิดใจอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าสำหรับผู้ที่อยากมองข้ามช็อต หรือมองแบบช็อตต่อช็อต ก็ตามที...

โดยเฉพาะการตั้งข้อสังเกตถึงกรรมวิธีในการรับมือกับ “ผลกระทบทางเศรษฐกิจ” ที่ไม่ว่าประเทศไหน รัฐบาลไหน มักหันไปอาศัยกรรมวิธีแบบเดิมๆ หรือแบบที่เคยใช้รับมือกับ “วิกฤตปี ค.ศ. 2008” ที่ถูกงัดออกมาใช้แบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งที่โดยฉากสถานการณ์ โดยเนื้อหาและรายละเอียด น่าจะผิดแผกแตกต่าง แบบคนละเรื่อง คนละม้วน หรืออย่างที่ “นายPaul Mason” แกเปรียบเทียบ อุปมาอุปไมย ว่า “วิกฤตปี ค.ศ. 2008” อาจพอๆ กับการพังทลายของ “หลังคา” ขณะที่รากฐานหรือโครงสร้าง ยังไม่ถึงกับล่มสลายตามไปด้วย การหาทางซ่อมหลังคา ด้วยการอัดฉีดทางเศรษฐกิจ การพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบ ฯลฯ จึงยังทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างพอดำเนินต่อไปได้ แต่สำหรับ “วิกฤต COVID-19” คราวนี้...ไม่ว่าจะอัด จะฉีดกันในระดับใดก็เถอะ แต่ถ้าหนีไม่พ้นต้องหาทางควบคุม บังคับไม่ให้ผู้คนออกนอกบ้าน ไม่ให้ออกไปประกอบกิจกรรมและกิจการ เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ เงินเดือน เอามาใช้ มาจ่าย มาบริโภค ตามแบบฉบับหรือตาม “ธรรมชาติของทุนนิยม” ทั้งหลาย โอกาสที่จะแก้ปัญหา หรือจะเดินหน้าตามแนวทางทุนนิยมต่อไป ยังไงๆ...มันน่าจะลำบากอยู่แล้วแน่ๆ ส่วนจะถึงขั้นส่งผลให้ระบบทุนนิยมทั้งระบบ ต้องถึงจุดจบ ถึงกาลล่มสลาย หรือถึงช่วง “พ้นยุคทุนนิยม” (Post-Capitalism) หรือไม่ เพียงใด? บรรดาผู้อ่านทั้งหลาย คงต้องเก็บไปนั่งคิด นอนคิดกันเอาเอง...

อย่างไรก็ตาม...เรื่องของ “จุดจบทุนนิยม” หรือ “การล่มสลายของทุนนิยม” นั้น คงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะใครต่อใครเคยพูดๆ กันมานานแล้ว ไม่รู้กี่ต่อกี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยผู้ที่พูดถึงเรื่องนี้ได้อย่างเรียบง่ายและลึกซึ้งเอามากๆ น่าจะหนีไม่พ้นไปจากอดีตวิศวกรไฟฟ้า ผู้พลิกผันตัวเองมาเป็นนักคิด นักเขียน นักเคลื่อนไหว ผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการ “Occupy Wall Street” อันโด่งดังในระดับโลก ผู้มีนามกรว่า “Alex Knight” ที่ได้อรรถาธิบายระหว่างการให้สัมภาษณ์เรื่อง “จุดจบทุนนิยม” หรือ “The End of Capitalism” เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 2010 ไว้ดังนี้...

“ความสั่นไหวที่อยู่ภายใต้พื้นผิววิกฤตเศรษฐกิจโลกขณะนี้ มันมีความใหญ่โต หนักหน่วง รุนแรงยิ่งกว่าการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกที่เข้ามาปะทะกันเสียอีก ความโกลาหลวุ่นวายที่เกิดจากความไร้เสถียรภาพในระดับลึกๆ ของทุนนิยม มันมาจากการปะทะกันของมวลสารที่เป็นรากฐานของระบบนี้ คือระหว่างความต้องการที่จะเติบโตอย่างไม่บันยะบันยัง ไม่คิดผ่อนปรนกับขีดจำกัดของโลก และขีดจำกัดความเติบโต (Limits to Growth) ไม่ว่าในแง่สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ หรือความจำกัดของทรัพยากร ดังนั้น...เมื่อพลังแห่งทุนนิยมพุ่งเข้าปะทะกับพลังแห่งขีดจำกัดเหล่านี้ มันจึงนำมาซึ่งวิกฤตต่างๆ ไม่ว่าวิกฤตเศรษฐกิจ พลังงาน สภาพอากาศ อาหาร น้ำ ไปจนวิกฤตการเมือง ที่พุ่งพล่านออกมา จนกว่าทุนนิยมจะล่มสลายของมันไปเอง เพราะทุนนิยมนั้น...มันอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีการเติบโต เหมือนปลาฉลามที่ต้องเคลื่อนไหวถึงจะหายใจได้ เศรษฐกิจทุนนิยมจึงต้องสร้างอัตราการเติบโตให้ต่อเนื่องเข้าไว้ถึงจะอยู่รอด ตราบใดที่ยังมีความเป็นไปได้ในการเติบโต แม้แต่เพียงเล็กๆ น้อยๆ นักลงทุนก็ยังคงแสวงหากำไรจากการลงทุน แต่ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็จะไม่ลงทุน ไม่มีใครอยากสูญเสีย และเมื่อนักลงทุนหยุดลงทุน ธุรกิจย่อมไม่อาจขยายตัวต่อไปได้ ตำแหน่งงานจะสูญหาย การบริโภคจะหดตัว เงินกู้จะถูกหยุดยั้ง จนนำไปสู่วงจรแห่งความพินาศ แม้ว่ารัฐบาลทุนนิยมทั้งหลาย จะพยายามกอบกู้ความเสียหายด้วยการกระตุ้นการลงทุน แต่การอัดฉีดของรัฐบาลคือทางออกแค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เพราะตราบใดที่ตลาดยังไม่สามารถฟื้นตัวเองกลับสู่ความเติบโตอย่างเป็นปกติ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเข้าสู่ภาวะ Game Over” แต่โดยคำพูดเหล่านี้ ถึงจะพูดมาแล้วเกือบสิบปี สุดท้าย...ทุนนิยมก็ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ แม้จะล้มลุกคลุกคลานเพียงใดก็ตาม จนกระทั่งเชื้อไวรัส “COVID-19” ต้องออกมาพูดแทนนั่นแหละ ถึงชักเริ่มมีน้ำหนักแห่งความเป็นไปได้ขึ้นมาบ้างแล้ว ไม่ว่ามากหรือน้อยก็ตามที...
กำลังโหลดความคิดเห็น