xs
xsm
sm
md
lg

ว่าด้วยแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสรอง (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท


เฮอร์แมน ดาลี
ลูกศิษย์ก้นกุฏิของ “จอร์เจสคู” ที่ว่าเอาไว้เมื่อวันวาน...ก็คือนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้มีนามกรว่า “เฮอร์แมน ดาลี” (Herman Daly) นั่นเอง ผู้ซึ่งเคยผ่านประสบการณ์ในระดับ “นักวิจัยอาวุโส” แห่งธนาคารโลก ผู้ก่อตั้งวารสาร “Ecological Economics” ผู้เคยได้รับรางวัล “Right Livelihood Award” รางวัล “Heineken Prize for Environmental Science” รางวัล “Sophie Prize” จากรัฐบาลนอร์เวย์ รางวัล “Leontief Prize” จากสถาบัน “Global Development and Environment Institute” แถมยังได้รับการยกย่องจากนิตยสาร “Adbusters” ของขบวนการ “ออคคิวพาย วอลล์สตรีท” ที่เคยหวิดๆ จะยึดอเมริกาทั้งอเมริกามาแล้ว ให้เป็น “บุคคลแห่งปี” ประจำปี ค.ศ. 2008 อีกด้วยต่างหาก ฯลฯ...

“เฮอร์แมน ดาลี” นั้น...ได้รับการถ่ายทอดดีเอ็นเอจาก “จอร์เจสคู” มาตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษา และเมื่อเข้ารับตำแหน่งเป็นอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยหลุยเซียร์นา ไปพร้อมๆ กับทำงานวิจัยให้มหาวิทยาลัยเยล ก็ได้เริ่มลงสู่ภาคสนามด้วยการทำวิจัยให้กับธนาคารโลก จนมีตำแหน่งเป็นถึงนักวิจัยอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อม และขณะที่ต้องคลุกคลีอยู่กับข้อมูล ตัวเลข สถิติต่างๆ ที่ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึง “การพัฒนาอันนำไปสู่ความฉิบหาย” ตามแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักไปด้วยกันทั้งสิ้น เขากับบรรดาพรรคพวก เพื่อนฝูง ที่มีทั้งนักปรัชญา นักเทววิทยา ไปจนถึงนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงได้ร่วมกันประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่สามารถนำไปใช้เป็นมาตรวัด “ความเจริญเติบโต” หรือ “การพัฒนา” ของสังคมต่างๆ ในแต่ละประเทศ ได้อย่างถูกต้อง สมบูรณ์ กว่าการอาศัย “Gross domestic product” หรือตัวเลข “GDP” เป็นตัววัด นั่นก็คือตัวเลขที่ถูกเรียกขานกันในนาม “ISEW” หรือ “Index of Sustainable Economic Welfare” หรืออาจเรียกว่า “ดัชนีแห่งความสุข” ก็คงพอได้ อันจะเป็นตัวบ่งชี้ถึง “ความเจริญเติบโตที่แท้จริง” และ “การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน” แบบที่นักเศรษฐศาสตร์เยอรมัน อย่าง “อี.เอฟ. ชูมัคเกอร์” ได้เพรียกหา เรียกหามานานแล้ว...

นอกจากนั้น “ดาลี” และบรรดานักเศรษฐศาสตร์กระแสรอง ได้ร่วมกันก่อตั้งองค์กรระดับนานาชาติ ชื่อว่า “International Society for Ecological Economic” เอาไว้เป็นกองบัญชาการในการขับเคลื่อนแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ในลักษณะนี้ รวมทั้งได้ออกวารสารขององค์กร ชื่อ “Ecological Economics” เพื่อแพร่ระบาดความคิดของกลุ่มก้อนตัวเอง อย่างเป็นกิจจะลักษณะและเพื่อต่อต้าน คัดค้าน แนวคิดของพวกนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ที่ถูกเรียกขานในนามพวก “Growthmania” หรือพวก “บ้าการเติบโต” อะไรประมาณนั้น โดยเฉพาะตัวของ “เฮอร์แมน ดาลี” ถึงกับ “ฟันธง” เอาไว้แบบเต็มผืน เต็มด้าม ว่าแนวคิดแบบ “บ้าการเติบโต” ที่ถูกนำไปครอบงำบรรดาประเทศต่างๆ มานับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 หรือนับตั้งแต่ยุค “ปฏิวัติอุตสาหกรรม” เป็นต้นมา คือแนวคิดที่นอกจากจะเป็นตัวล้างผลาญ ทำลายสภาวะแวดล้อมในระดับชีวมณฑลของโลกทั้งโลก ให้ต้องพังพินาศฉิบหายลงไปเป็นแถบๆ เขายังพยายามนำเสนอเอาไว้ด้วยว่า ตลอดช่วงระยะกว่า 200 ปี ของการเดินไปในแนวนี้ กำลังส่งผลให้บรรดามวลมนุษยชาติทั้งหลาย ต้องเผชิญหน้ากับการ “แก้แค้น-เอาคืน” ของธรรมชาติ ในรูปแบบต่างๆ จนอาจนำไปสู่การ “สูญพันธุ์” ของมวลมนุษย์เอาเลยก็ไม่แน่ ถ้าหากยังไม่คิดจะปรับเปลี่ยนแนวคิด ทิศทางเศรษฐกิจให้แตกต่างไปจากเดิม...

พูดง่ายๆ ว่า...ถ้าบรรดาประเทศต่างๆ ในโลกใบนี้ ยังมุ่งแต่จะหาทางทำให้ “ตัวเลข GDP” ของประเทศตัวเองสูงๆ ให้มากเข้าไว้ ความพังพินาศฉิบหายเท่าที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในทุกวันนี้ ก็ถือเป็นประจักษ์พยาน ให้เห็นได้อย่างชัดเจนและสามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ตามที่นักเศรษฐศาสตร์รายนี้ได้สาธยายออกมาเป็นข้อๆ ไม่ว่า “1.การก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนที่หาทางหยุดยั้งแทบไม่ได้ 2. เกิดการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ต่างๆ ในแต่ละสปีชีส์ 3. เกิดมลพิษและความแออัดของเมือง 4. เกิดความขัดแย้งภายในรัฐ หรือระหว่างรัฐต่อรัฐ อันเนื่องมาจากการแย่งชิงทรัพยากร 5. เกิดการขยายช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจน ประเทศรวย-ประเทศจน ฯลฯ” เป็นต้น โดยเราๆ-ทั่นๆ ทั้งหลาย จะผนวกรวมเอาการเกิดเชื้อโรคประหลาดๆ อย่างไวรัส “COVID-19” ที่กำลังแก้แค้น-เอาคืน มวลมนุษยชาติไม่ว่าประเทศไหนต่อประเทศไหน ไม่ว่ารวยหรือจน ไม่ว่าเผด็จการหรือประชาธิปไตย เข้าไปด้วยก็คงไม่ถึงกับผิดหลัก ผิดกติกา แต่อย่างใด...

แต่ก็นั่นแหละ...การปรับเปลี่ยนแนวคิด ทิศทางเศรษฐกิจ การ “ลด-ละ-เลิก” วิธีนำเอาความเจริญเติบโต การพัฒนามาผูกติดไว้กับการขึ้นๆ ลงๆ ของตัวเลข “GDP” มันจะมีสิทธิเป็นจริง เป็นจัง ขึ้นมาได้ ไม่ได้เป็นเพียงความฝัน ความเพ้อ แบบพวกโรแมนติกทั้งหลาย แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์กระแสรอง อย่าง “เฮอร์แมน ดาลี” ก็หนีไม่พ้นที่ต้องยอมรับอย่างตรงไป-ตรงมา ว่าต้องอาศัยบทบาทของ “รัฐ” อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธ และนั่นเองที่ทำให้เขาจำต้องหาทางยกระดับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์จาก “เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ” ของ “ชูมัคเกอร์” และ “เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม” ของ “จอร์เจสคู” มาเป็น “Steady-state Economy” หรือเศรษฐศาสตร์ที่ต้องอาศัยบทของรัฐ เข้าไปทำให้เกิดความยั่งยืน ความยืนยงคงที่ ความพอดี หรือความสมดุล ในลักษณะต่างๆ ด้วยการจัดตั้งสถาบันหลักๆ เช่น สถาบันที่ทำหน้าที่กำหนดสัดส่วน “ความพอดี” ระหว่างผู้มีรายได้สูงสุดและต่ำสุด สถาบันที่ทำหน้าที่ควบคุม “ความสมดุล” ระหว่างการใช้ทรัพยากรกับจำนวนประชากร หรือสถาบันที่ทำหน้าที่บริหาร “ทุน” ให้เป็นไปตาม “ความเหมาะสม” หรือ “ความมีเหตุมีผล” ฯลฯ ฯลฯ...

บรรดาแนวคิดทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้...คงต้องยอมรับว่า ฟังไป-ฟังมาแล้วออกจะคล้ายๆ หรือออกจะมีกลิ่นอายไม่ต่างอะไรไปจาก “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ล้นเกล้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ของหมู่เฮาทั้งหลาย ท่านเคยทรงชี้แนะ ชี้นำ เอาไว้ตั้งแต่เมื่อประมาณ 30-40 ปีที่แล้ว อยู่บ้างเหมือนกัน และคงต้องถือเป็นเรื่องไม่แปลก...ที่เหตุใด? ไม่ว่า “เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ” ของ “ชูมัคเกอร์” “เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม” ของ “จอร์เจสคู” ไปจนแม้กระทั่ง “เศรษฐศาสตร์ยืนยงคงที่” ของ “เฮอร์แมน ดาลี” จึงไม่ได้ไปไหนซักกะที เพราะแม้แต่ “พระราชดำรัส” และ “พระราชดำริ” ของผู้ที่เป็นเสมือน “จิตวิญญาณ” ของประเทศไทย ก็ยังไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกนำเอาไปใช้ในภาคปฏิบัติ อย่างเป็นเนื้อ เป็นหนัง ยังคงเป็นแค่ “ยันต์กันผี” ของใครต่อใครต่อไปเรื่อยๆ หรือยังไม่ได้ช่วยให้เกิดการ “ลด-ละ-เลิก” วิธีนำเอาความเจริญเติบโต และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ มาผูกติดไว้กับ “ตัวเลข GDP” แบบไม่คิดจะไปไหนต่อไหนเอาเลยแม้แต่น้อย เมื่อไหร่ที่ตัวเลขเหล่านี้เกิดอาการหัวตกขึ้นมา เป็นอันต้องถูกกระตุ้น ถูกอัดฉีดกันแบบไม่คิดจะบันยะบันยัง แบบพร้อมนั่ง “เฮลิคอปเตอร์” แล้ว “โปรยมันนี่” ออกมาเป็นสายๆ เพื่อให้เกิดจำนวนและปริมาณ “การบริโภค” ให้มากๆ เข้าไว้...

ด้วยเหตุนี้นี่เอง...เลยคงต้องหันไปมองเชื้อไวรัส “COVID-19” ในแง่บวกเอาไว้มั่ง เพราะแม้มันจะน่าเกลียด น่ากลัว อำมหิต โหดร้าย เพียงใดก็ตาม แต่การที่มันได้ช่วยจำกัดการเติบโต ลดระดับการเติบโต หรือทำให้การเติบโตเป็นศูนย์ ไปพร้อมๆ กับทำให้ “ธรรมชาติ” มีโอกาสพักหายใจ หายคอ ได้บ้าง ก็อาจถือเป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ในอีกลักษณะหนึ่ง อย่างมิอาจปฏิเสธได้...


กำลังโหลดความคิดเห็น