สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT เปิดข้อมูล “5 SDG Mega Trend 2020” แนวโน้มสำคัญด้านความยั่งยืนที่กำลังเกิดขึ้นในโลก ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อม วิกฤตสังคม และล่าสุดวิกฤต Covid 19 ชี้เป็นความท้าทายใหม่ที่ธุรกิจในไทยต้องประเมินความเสี่ยงและเตรียมรับมือสำหรับอนาคต พร้อมสร้างกลไกความร่วมมือรัฐและเอกชนหนุนประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG)
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้จัดทำข้อมูล “5 แนวโน้มสำคัญเพื่อจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2563” หรือ “5 SDG Mega Trend 2020” ซึ่งเป็นแนวโน้มสำคัญด้านความยั่งยืนที่กำลังเกิดขึ้นในโลก เพื่อจะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจพลวัตและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการนำมากำหนดเป็นทิศทางขององค์กรธุรกิจในการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อม วิกฤตสังคม และล่าสุดวิกฤต Covid 19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั่วโลก
นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “5 SDGs Mega Trend 2020" ฉบับนี้หยิบเอาเรื่องเด่นเกี่ยวกับ SDGs 5 ข้อ ที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญ และจะเป็นอีกแรงหนึ่งที่ช่วยเสริม ให้เกิดความตระหนักถึงความเร่งด่วนของภารกิจอันสำคัญยิ่งนี้ ไม่เพียงแต่กับสมาชิกสมาคมฯ เท่านั้น แต่รวมถึงองค์กรอื่นๆ ในทุกภาคส่วน ผมรู้สึกยินดีและภูมิใจอย่างยิ่งที่เห็นองค์กรเอกชนจำนวนไม่น้อยผนวก SDGs ไว้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ และเป้าหมายทางธุรกิจ ขณะเดียวกัน SDGs เองก็ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับกิจการด้วย อาทิ การใช้พลังงานสะอาด หรือเทคโนโลยีที่อำนวยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ผมเห็นว่า การบรรลุ SDGs จึงเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจไปพร้อมกัน และที่สำคัญที่สุด ภารกิจนี้เป็นความรับผิดชอบของทุกคน”
สำหรับ “5 แนวโน้มสำคัญเพื่อจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2563” หรือ “5 SDGs Mega Trend 2020” ประมวลมาจากความเคลื่อนไหวระดับโลกและรายงานขององค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงความเคลื่อนไหวในประเทศไทย พบว่า ในประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนแนวโน้มสำคัญที่จะส่งผลกระทบกับธุรกิจสำหรับปีนี้ ประกอบด้วย
1) ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights) ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จะยังคงเป็นประเด็นความเสี่ยงของธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ ที่ระบบโลจิสติกส์และเทคโนโลยีทำให้ต้นน้ำถึงปลายน้ำของธุรกิจมีความห่างไกลและยากแก่การควบคุม และสำหรับประเทศไทย ปลายปี 2562 รัฐบาลไทยประกาศแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Right: NAP) ระยะที่ 1 (พ.ศ.2562 - 2565) ถือเป็นแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วย ‘ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน’ ฉบับแรกในเอเชีย
2) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Climate & Low Carbon Society) ความล้มเหลวจากการพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ในทศวรรษ (พ.ศ. 2553-2562) กลายเป็นทศวรรษที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่โลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ข้อมูลจากรายงานขององค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ยังเปิดเผยด้วยว่า เฉพาะในปี 2562 ปีเดียวอุณหภูมิโลกก็สูงกว่าช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.1 องศาเซลเซียสไปแล้ว ทำให้มีการประเมินกันว่า ผลกระทบจากภัยพิบัติของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปีนี้จะยิ่งรุนแรงและส่งผลกระทบกับธุรกิจมากขึ้น
3) พลาสติกและการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Plastic & Circular Economy) กระแส “ No Plastic Movement” เป็นอีกความเคลื่อนไหวสำคัญที่น่าจับตามากที่สุด โดยเฉพาะความตื่นตัวของผู้บริโภคในระดับโลก รวมถึงในประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมาซึ่งถือเป็น “วันประวัติศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม” เมื่อนโยบายงดให้ถุงพลาสติก ในห้าง สรรพสินค้า ซูปเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ มีผลบังคับใช้ ทำให้มีการประเมินกันว่า ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรสูงสุด จะได้รับการยอมรับจากภาคธุรกิจมากขึ้นเป็นลำดับ
4) การเงินและการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Finance and Investment) อีกแนวโน้มสำคัญด้านการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาท (ESG Investment) ได้รับความสนใจและเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากการประเมินขั้นต่ำสุดพบว่า ทรัพย์สินที่บริหารภายใต้การลงทุนตามแนวคิด ESG ทั่วโลกมีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นรวมถึงทิศทางการลงทุนในไทย
5) นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (Technological Innovation for Sustainable) มีคำกล่าวว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีจะเป็นจุดคานงัดของสร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญในระดับโลกในการแก้ปัญหาวิกฤตสังคมและสิ่งแวดล้อม ความคิดและนวัตกรรมเริ่มถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมของธุรกิจในหลายประเทศ เช่น การนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วิธีบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน โดยใช้ Carbon Capture and Storage เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เช่น Work From Home เพื่อรับมือกับสถานการณ์ Covid 19 ที่ทุกคนทั่วโลกต้องร่วมมือกันเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค โดยลดการมีปฏิสัมพันธ์กันโดยตรง
สำหรับความก้าวหน้าในการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย จากรายงานการศึกษา SDGs Development Report 2019 จัดทำโดย มูลนิธิแบร์เทลส์มันน์ (Bertelsmann Stiftung) ร่วมกับเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ระบุว่า ไทยอยู่ในลำดับที่ 40 จาก 162 ประเทศ ด้วยคะแนน 73 และคะแนนเฉลี่ยระดับภูมิภาค 65.7 โดยเป้าหมาย SDGs ที่มีความท้าทายในระดับสูงมี 4 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ เป้าหมายที่13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายที่ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล
นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปีนี้สมาชิกของสมาคมฯ ตื่นตัวอย่างมาก นอกจากสมาคมฯ จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลสำคัญเพื่อให้สมาชิกได้ทราบมุมมองใหม่เพื่อตามติดแนวโน้มกระแสโลกในฐานะผู้นำความยั่งยืนแล้ว ข้อมูล “SDG Mega Trend 2020" ยังเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของสมาคมฯ ที่จะเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนให้ประเทศไทย สามารถบรรลุ SDG โดยได้จัดทำขึ้นในปีนี้เป็นปีแรก และตั้งใจจะจัดทำเป็นประจำทุกปี