ทศวรรษที่ผ่านมา แนวโน้มของ “การดำรงอยู่บนปรัชญาของความยั่งยืน” เริ่มเป็นกระแสที่มีการพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องจนเข้าถึงทศวรรษใหม่ในปี 2020 จากความชัดเจนของวิกฤติการปรับเปลี่ยนของภูมิอากาศที่เลวร้ายลง ทำให้ปรัชญาความยั่งยืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนของกิจการควบคู่กับแผนธุรกิจตามปกติของกิจการ
ผลการสำรวจของ www.eco-business.com จากบรรดาผู้นำภาคธุรกิจที่ยึดแนวคิด eco-minded เกินกว่า 100 ราย ถึงมุมมองของแต่ละคนในด้านปรัชญาการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนในทศวรรษที่จะถึงนี้ พบว่ามีข้อสรุปแนวโน้มที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1 การปรับเปลี่ยนสู่การผลิตพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล เพราะฟอสซิลหรือสาเหตุหลักหนึ่งต่อปัญหาภูมิอากาศราว 98% ของมลภาวะจากคาร์บอน
ปัจจุบันสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนได้เพิ่มสัดส่วนขึ้นจนไม่ต่ำกว่า 10% ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดพลังงานใหม่ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพลังงานโซลาร์และพลังงานลม รวมทั้งการเติบโตของการลงทุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าระดับเล็กตามครัวเรือน เพราะค่าใช้จ่ายที่อยู่เกณฑ์ที่แบกรับภาระไหว
ประเด็นที่ 2 การปรับลดการบริโภคพลังงาน จากความก้าวหน้าของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ยังคงขยายตัวและครอบคลุมพื้นที่ของการเดินทางและขนส่งในจุดต่างๆ ของโลกมากขึ้นทุกวัน หลอดไฟฟ้า LED ที่กลายเป็นหลอดไฟฟ้าแบบปกติในยุคนี้ การสร้างบ้านแบบ smart home อาคารที่ได้สัญลักษณ์ LEED ในอาคารเชิงพาณิชย์
ประเด็นที่ 3 การบริโภคอาหารที่เน้นพืชเป็นหลัก เป็นการบริโภคอาหารแบบไดเอทที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตและสัตว์ ด้วยการบริโภคพืชแทนเนื้อสัตว์ และช่วยบรรเทาปัญหาที่โลกมีป่าไม้สำหรับเป็นที่อยู่ของสัตว์ลดลง และควรจะเหลือพื้นที่สำหรับสัตว์ไว้ นอกจากนั้น การทบทวนได้พบว่า 1 ใน 3 ของพื้นที่บนโลกที่นำมาใช้ผลิตพืชผลเคยเป็นที่อยู่ของสัตว์มาก่อน
สิ่งนี้ทำให้เกิดอาหารรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า plant-based food ที่ปราศจากเนื้อสัตว์ ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 20% ในปัจจุบัน และเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชมาไว้ในห้องแล็ปแทน
ประเด็นที่ 4 วิธีเกษตรนิเวศ เป็นระบบเกษตรที่ใช้ความรู้เชิงนิเวศเพื่อใช้สำหรับการจัดการการผลิตทางการเกษตร การตลาด และการบริโภคที่เกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เช่น การใช้จุลินทรีย์/ปุ๋ยชีวภาพ อินทรีย์วัตถุในการบำรุงดิน การจัดการแมลง/วัชพืชโดยชีววิธี การจัดการผลิตหลากหลายอย่างที่ต่อเนื่องมาจากแนวโน้มการบริโภคอาหารกลุ่มพืชมากขึ้นข้างต้น
การดำเนินธุรกิจเหล่านี้เป็นล่ำเป็นสัน และมีการออกแบรนด์ที่รู้จักกันทั่วโลก อย่างเช่น Patagonia, Dr. Bronners และ Justin’s Nut Butters
ประเด็นที่ 5 ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ล้อมรอบไปด้วยหีบห่อพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งใหม่
เพื่อแก้ไขการตกค้างของพลาสติกในทะเล และกระทบต่อชีวิตสัตว์น้ำ ต่อคุณภาพน้ำในระยะยาว แนวโน้มการกำจัดหีบห่อพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งยังคงดำเนินต่อไปในอนาคตอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายความเข้มข้นของปรัชญาความยั่งยืน ทั้งส่วนของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนคู่ขนานกันไป
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมหีบห่อพลาสติกที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดได้ลดปริมาณพลาสติกที่ใช้ในการผลิตหีบห่อแบบใช้ครั้งเดียวลดไปตามลำดับ ขณะที่ครัวเรือนเกิดการตื่นตัวอย่างชัดเจนในเรื่องนี้เช่นกัน
ประเด็นที่ 6 การเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการใช้วัตถุดิบจากขยะซ้ำและการใช้แบบรีไซเคิล
แนวโน้มนี้ชัดเจนขึ้นหลังจากจีนแบนการนำเข้าขยะเพื่อรีไซเคิลจากทั่วโลก ทำให้แหล่งระบายขยะโดยอ้างว่านำไปรีไซเคิลหายไปแบบเฉียบพลัน และไม่มีทางหาแหล่งอื่นที่ใหญ่เท่าเทียมกันทดแทนได้
ทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการรีไซเคิลเองอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเน้น 3 แนวทางคือ
1.ปรับปรุงเทคโนโลยีสนับสนุนการแสวงหาวัตถุดิบใหม่จากขยะมาใช้แทนวัตถุดิบเดิม
2.ปรับปรุงผลดำเนินงานของกิจการในการผลิตที่ใช้การรีไซเคิลวัสดุซ้ำ เพื่อเพิ่มชื่อเสียงภาพลักษณ์และคุณค่าของแบรนด์
3.พัฒนาวัตถุปลายทางและผลิตภัณฑ์ที่สามารถเข้าไปสู่กระบวนการรีไซเคิลในรอบต่อไปได้ง่ายขึ้น
ประเด็นที่ 7 การบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเชิงนโยบายของภาครัฐ
ภาครัฐเป็นอีกหนึ่งของแนวโน้มความก้าวหน้าของปรัชญาการดำรงอยู่แบบยั่งยืน การเข้ามามีบทบาทเพิ่มเติมในการส่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน การป้องปราม เพื่อสนองตอบรับแนวคิดความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องและชัดเจน โดยยึดโยงกับการกำกับดูแลทั้งโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศของตน
ประเด็นที่ 8 ความตระหนักของผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมและเสียสละของคนหนุ่มสาว
ความหวังในส่วนนี้ส่วนใหญ่ตกอยู่กับคนรุ่นใหม่ (Next Gen) ในฐานะผู้บริโภค พลเมืองที่ทำสงครามกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ผ่านการกดดันภาคธุรกิจและรัฐบาลในลักษณะของ NGOs ทางโซเชียลมีเดีย
ประเด็นที่ 9 การเคลื่อนไหวสู่การใช้ชีวิตวิ่งตามแฟชั่นลดลง
ผลิตภัณฑ์แฟชั่นเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เกิดการปรับตัวทุกด้าน หลังจากถูกประณามว่าสร้างมลภาวะมากที่สุดสาขาหนึ่ง เพราะทำให้คนเสพติดการเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ทันแฟชั่น ใช้น้ำในการผลิตสิ่งทอจนเกิดน้ำเสียมหาศาล และแทบไม่สนใจการรีไซเคิลเสื้อผ้าเก่า ทำให้ทิ้งเป็นขยะไม่น้อยกว่า 92 ตัวต่อปี
ประเด็นที่ 10 การปรับตัวสู่วิถีการใช้สินค้าแบบใช้ซ้ำ (Reusability) หรือสินค้ามือสองในชีวิตประจำวัน เริ่มจากตลาดกระเป๋ามือสอง ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปีจากการยอมรับของผู้บริโภคมากขึ้นทุกปี