xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ จับมือ สวทช.ถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงสู่ SMEs ไทย ตั้งเป้าสนับสนุน 30 รายต่อปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามความร่วมมือ “การดำเนินงานเครือข่ายของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม” (Innovation and Technology Assistance Program : ITAP) ตั้งเป้าสนับสนุน SMEs ไม่น้อยกว่า 30 รายต่อปี

โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อเป็นการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) โดยมีศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานและบริหารจัดการ

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การดำเนินงานโครงการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์แก่ SMEs ภายใต้การดำเนินงาน ‘เครือข่ายโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ หรือ ‘เครือข่าย ITAP จุฬาฯ’ เป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการเพิ่มโอกาสให้ทรัพยากรบุคคลของจุฬาฯ ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ สวทช. ในการนำองค์ความรู้ด้านวิชาการและเทคโนโลยีชั้นสูงถ่ายทอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและ SMEs เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เกิดการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs อันจะเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดแก่ผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถพึ่งพาตนเองและมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี

“การร่วมมือกันจะช่วยสร้างกลไกการทำงานของมหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์ความต้องการจากภาคเอกชนได้อย่างชัดเจนและครบวงจรมากขึ้น บันทึกข้อตกลงฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 และมีเป้าหมายที่จะร่วมดำเนินการสนับสนุน SMEs ได้ไม่น้อยกว่า 30 รายต่อปี”


ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สวทช.สนับสนุนงบประมาณการบริหารจัดการในการดำเนินงานเครือข่าย ITAP จุฬาฯ รวมทั้งผลักดันการนำงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดย สวทช. และจุฬาฯ จะช่วยกันส่งเสริมให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยทำโครงการวิจัยพัฒนาที่ตอบโจทย์ภาคเอกชนและสามารถนำไปใช้ประโยชน์สู่เชิงพาณิชย์ได้ เพื่อสนับสนุนให้ SMEs จำนวนมากขึ้นได้รับการส่งเสริมสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีและเติบโตบนเศรษฐกิจฐานความรู้ พร้อมทั้งสามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Tap) ของประเทศ อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศต่อไป โดยทาง สวทช.จะให้ความรู้และถ่ายทอดวิธีการสนับสนุน SMEs โดยใช้โปรแกรม ITAP แก่เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถให้การสนับสนุนผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“โปรแกรม ITAP สวทช.จะมีที่ปรึกษาเทคโนโลยีทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการเทคโนโลยีกับผู้ใช้เทคโนโลยีในรูปแบบของการจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในการพัฒนาเทคโนโลยี การแก้ปัญหาทางด้านเทคโนโลยี รวมทั้งยกระดับเทคโนโลยีการผลิต โดยผู้เชี่ยวชาญจะเข้าไปให้คำปรึกษาเชิงลึกและแก้ไขปัญหาถึงในโรงงาน ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการดูแลและประสานงานรายโครงการจากที่ปรึกษาเทคโนโลยี รวมถึงมีการประเมินผลและการวัดผลกระทบของโครงการเมื่อโครงการเสร็จสิ้น เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบการจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.ณรงค์กล่าว

ทั้งนี้ สวทช.เริ่มดำเนินโปรแกรม ITAP มาตั้งแต่ พ.ศ. 2536 โดยให้การสนับสนุน SMEs ไปแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ราย ปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมดำเนินงานอยู่ไม่น้อยกว่า 1,500 ราย และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในการขยายผลโครงการ ITAP ในช่วงปี 2559-2563 เพื่อสนับสนุนจำนวน SMEs ให้เพิ่มขึ้นจาก 400 รายต่อปี เป็นประมาณ 2,000 รายต่อปี

ข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรม ITAP สวทช.สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://itap.nstda.or.th/th
** * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุดและร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!!* * *
SMEsmanager



กำลังโหลดความคิดเห็น