xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์ ชี้ความมั่งคั่งเปลี่ยนมือ-แนะพัฒนาทุนมนุษย์หนุนโตยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนาหรือ ITD ได้ร่วมกับธนาคารโลกเผยรายงานล่าสุดหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงความมั่งคั่งแห่งชาติสู่การสร้างอนาคตที่ยั่งยืน (The Changing Wealth of Nation 2018 : Building a Sustainable Future) โดยนายเควนติน วอดอน ผู้แทนจากธนาคารโลกและหนึ่งในผู้จัดทำรายงานกล่าวว่า รายงานชิ้นนี้ได้นำเสนอตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ที่ได้ประมวลข้อมูลสถิติ 4 ด้านสำคัญมาพิจารณา ได้แก่ ทุนด้านการผลิต, ทุนจากทรัพยากรธรรมชาติ, ทุนมนุษย์ และการลงทุนทุนต่างประเทศ ซึ่งธนาคารโลกเห็นว่าสามารถแสดงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว และสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศออกมาได้ นอกเหนือจากการใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็นเครื่องมือชี้วัดเท่านั้น

ทั้งนี้ แนวโน้มโลกและภูมิภาคต่างๆ ระหว่างปี 2538-2557 พบว่า ความมั่งคั่งของโลกเพิ่มขึ้น 66% จาก 690 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปอยู๋ที่ 1,143 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของจำนวนประเทศรายได้ระดับกลางที่เพิ่มขึ้นจาก 19% มาอยู่ที่ 28% ซึ่งหลักๆ มาจากประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย หรือที่เรียกว่า ปรากฏการณ์ “ความรุ่งโรจน์แห่งเอเชีย (Rise of Asia)” ขณะที่ประเทศรายได้สูงมีสัดส่วนลดลงจาก 75% มาอยู่ที่ 65% แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านจากประเทศรายได้ต่ำมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางภายในหนึ่งชั่วอายุคน ยังต้องระวังการเกิดช่องว่างจากความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง

นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่า ทุนทรัพยากรเป็นทุนทรัพย์ที่สำคัญที่สุดของประเทศรายได้ต่ำ โดยในปี 2557 ประเทศรายได้ต่ำพึ่งพาทุนด้านนี้มากถึง 27% ขณะที่ประเทศร่ำรวยจะพึ่งพาทุนทางทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยลงเรื่อยๆ และประเทศรายได้ปานกลางจนถึงรายได้สูงจะมีการพึ่งพาทุนมนุษย์มากขึ้นถึง 70% ดังนั้น จะเห็นได้ว่าทุนมนุษย์จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในด้านการยกระดับความมั่งคั่งของประเทศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการศึกษา สาธารณสุข และการเพิ่มทักษะในการทำงาน และการแก้ไขปัญหา

“ในรายงานฉบับนี้เป็นครั้งแรกที่มีการนำทุนมนุษย์มาเป็นเครื่องชี้วัดถึงความมั่งคั่ง โดยพิจารณาจากมูลค่ารายรับรวมในอนาคตที่คาดว่าจะได้รับจากแรงงาน ตลอดอายุการทำงานของแรงงาน 1 คน ทั้งนี้ ในปี 2557 ทุนมนุษย์เฉลี่ยต่อคนมีมูลค่า 108,654 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงขึ้นจากปี 2538 ที่อยู่ในระดับ 88,874 ดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 2 ใน 3 ของความมั่งคั่งทั่วโลก นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า ทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ และมีฝีมือ จะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจระดับโลกอย่างยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวยังได้กล่าวถึงผลกระทบจากเทคโนโลยี เช่น หุ่นยนต์มาแทนที่มนุษย์ทำให้มีแนวโน้มที่ลดการพึ่งพาแรงงานมนุษย์มากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อศักยภาพของประเทศที่จะสร้างความมั่งคั่ง เพราะเทคโนโลยีทให้พึ่งพาแรงงานน้อยลง อีกทั้งค่าแรงโดยทั่วไปยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นเท่าที่ควร รวมถึงปัจจัยเรื่องอายุแรงงานที่เพิ่มขึ้นในหลายๆ ประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น