xs
xsm
sm
md
lg

บล. เอเซีย พลัส ชี้หุ้นไทยไตรมาส 3 ยังผันผวนสูง แนะจับตาดอกเบี้ยขาขึ้น-เลี่ยงหุ้นสงครามการค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บล. เอเซีย พลัส มองทิศทางตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 3 ปี 2561 ยังผันผวนสูง โดยปัจจัยกดดันหลักมาจากความกังวลผลกระทบจากสงครามการค้าโลก ที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง สร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจโลก ขณะที่ดอกเบี้ยโลกเข้าสู่ขาขึ้น หนุนเงินไหลออก กลยุทธ์การลงทุนจึงให้ทยอยสะสมหุ้นที่ SET Index ต่ำกว่า 1,700 จุด โดยเน้นหุ้นปลอดภัยจากดอกเบี้ยขาขึ้น และเลี่ยงหุ้นที่ถูกกระทบจากสงครามการค้าโลก

นางภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส กล่าวว่า ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น จากสงครามการค้าโลกที่ขยายวงกว้าง โดยขณะนี้ไม่ใช่แค่สหรัฐฯ กับจีนเท่านั้นที่เป็นคู่พิพาทกัน แต่สหรัฐฯ ยังเปิดศึกการค้ากับยุโรป เม็กซิโก และแคนาดา ทำให้หลายประเทศดังกล่าวตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เช่นกัน หลังจากสหรัฐฯ ได้ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมทั่วโลกไปก่อนหน้านี้

จากการศึกษาของธนาคารโลก (World Bank) ประเมินว่า การกีดกันทางการค้าทุกๆ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จะกระทบต่อการค้าโลกปี 2561 หดตัวราว 9% ขณะที่วงเงินกีดกันการค้าจากสหรัฐฯ อาจขึ้นไปแตะ 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ผลกระทบรุนแรงขึ้น และไม่ได้กระทบเฉพาะผู้ผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น แต่ผู้ผลิตสินค้าสนับสนุนการส่งออก (Supply Chain) กระทบด้วย

ขณะที่ผู้บริโภคจะกระทบจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นตามมาด้วยแรงกดดันเงินเฟ้อ และกระทบเศรษฐกิจโลกในท้ายที่สุด ทั้งนี้ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก (GDP Growth) ปี 2561-2562 ตามคาดการณ์ของ IMF อยู่ที่ 3.9% เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้าเป็นการเติบโตจากฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป

นางภรณี กล่าวอีกว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้ กระแส Fund Flow ยังไหลออก เนื่องจากสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด นับตั้งแต่ต้นปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ต่างชาติขายสุทธิหุ้นภูมิภาคเอเซียกว่า 1.93 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยหุ้นไทยถูกขายมากสุดในกลุ่ม TIP (ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) อย่างไรก็ตาม มองว่าจากนี้ไปแรงขายหุ้นภูมิภาคน่าจะจำกัด สะท้อนจากการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2561 อยู่ที่ 23.2% รวมกับการถือผ่าน NVDR อีก 7.01% เป็น 30.20% ถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับสูงสุดที่ 36.88% เมื่อสิ้นเดือน มี.ค. 2555 สอดคล้องกับสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบว่าไตรมาส 3 ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยเฉลี่ยเล็กน้อย 771 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิ 5 ใน 10 ปี

“ไตรมาสที่ 3 และช่วงครึ่งปีหลัง เรื่องสงครามการค้าโลกจะรุนแรงมากขึ้น กลายเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เรื่องดอกเบี้ยก็เช่นกัน สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด เงินทุนก็จะยังไหลออก สองเรื่องนี้จะเป็นประเด็นหลัก ที่กดดันตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงหุ้นไทย”

ขณะที่ภาพรวมกำไรสุทธิตลาดในไตรมาส 2 ปี 2561 จะอ่อนตัวลงจากไตรมาสแรก แต่กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมัน และปิโตรเคมี อาจได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน ทำให้มีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน ขณะที่ฝ่ายวิจัยปรับลดคาดการณ์กำไรตลาดปี 2561 มาอยู่ที่ 1.10 ล้านล้านบาท คิดเป็น EPS 110.70 บาทต่อหุ้น จากประมาณการเดิมที่ 1.12 ล้านล้านบาท และ EPS 112.39 บาทต่อหุ้น

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยช่วงที่ผ่านมามีการปรับฐานเกิดขึ้น ทำให้ระดับ Expected P/E ลงมาอยู่ที่ราว 15 เท่า และมี upside ประมาณ 7% โดยอิง P/E 16 เท่า ทำให้ได้ SET Index เป้าหมายที่ 1,771 จุด ดังนั้น ฝ่ายวิจัยฯ จึงเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเป็น 40% ของพอร์ต จากเดิม 30% โดยกลยุทธ์การลงทุนเน้น Domestic Play ใน 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์, กลุ่มปลอดภาระหนี้, กลุ่มมีหนี้กับสถาบันการเงินน้อย, กลุ่มมีภาระดอกเบี้ยจ่ายอัตราคงที่, กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่จะได้ประโยชน์จากความคืบหน้าการลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน ที่มีสัญญาณดีขึ้น ขณะที่ให้หลีกเลี่ยงหุ้นที่อาจกระทบจากสงครามการค้า อย่างไรก็ตาม มองว่าช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นตอบรับความกังวลจากประเด็นสงครามการค้าไประดับหนึ่งแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น