xs
xsm
sm
md
lg

ธพว. เผยมีลูกค้ากว่าหมื่นรายได้รับผลจากโควิด-19 เร่งพาเข้าโครงการ "พัก-ขยาย-เติม" ให้จบใน มี.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"กรรมการผู้จัดการ ธพว." เผยพบลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก “โควิด-19” แล้วมากกว่า 1 หมื่นราย คิดเป็นภาระหนี้กว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยเบื้องต้น มีผู้ที่ต้องการสภาพคล่องเพิ่มเติม 565 ล้านบาท ย้ำภายในเดือน มี.ค.63 เร่งดึงลูกค้าทุกรายเข้าสู่มาตรการ “พัก-ขยาย-เติม” ให้เสร็จสิ้น หวังช่วงบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่าย เพิ่มสภาพคล่อง ประคองธุรกิจให้ก้าวผ่านภาวะฉุกเฉินได้อย่างเข้มแข็ง

น.ส.นารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ามาตรการ “พัก-ขยาย-เติม” เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า ข้อมูลนับถึงวันที่ 5 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ลูกค้าธนาคารได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว จำนวน 11,894 ราย คิดเป็นภาระหนี้ จำนวน 20,469 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง นอกจากนั้น เบื้องต้น ลูกค้ามีความต้องการขอวงเงินสินเชื่อใหม่เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง ประมาณ 565 ล้านบาท

ทั้งนี้ ธพว. ได้ทำงานเชิงรุก ส่งพนักงานสาขาทั่วประเทศสำรวจข้อมูลผลกระทบ ดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ลงพื้นที่เข้าเยี่ยมกิจการ หรือติดต่อสอบถามผ่านโทรศัพท์ รวมถึงส่งจดหมายแนะนำเชิญชวนเข้าสู่มาตรการ “พัก-ขยาย-เติม” เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนและคลายความกังวลให้แก่ลูกค้า ธพว. ทุกราย

น.ส.นารถนารี ยังย้ำด้วยว่า ธพว. เร่งพาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเข้าสู่มาตรการ “พัก-ขยาย-เติม” อย่างต่อเนื่อง กำหนดต้องคลี่คลายปัญหาของลูกค้าทุกรายที่ได้รับผลกระทบให้เบ็ดเสร็จภายในเดือน มี.ค.63 นี้ ซึ่งความช่วยเหลือของ ธพว. ครอบคลุมทั้งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางตรง ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ภัตตาคาร ธุรกิจนำเที่ยว ร้านขายของฝากของที่ระลึก และธุรกิจได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น ธุรกิจ Supply Chain หรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางตรง เป็นต้น

“ธพว.ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ พร้อมช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดโควิด-19 ผ่านมาตรการ “พัก-ขยาย-เติม” เพื่อให้ลูกค้ามีภูมิคุ้มกันทางธุรกิจ ลดภาระค่าใช้จ่ายและมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น รวมถึงป้องกันการตกชั้นของลูกค้า ซึ่งนอกเหนือจากที่ลูกค้าจะติดต่อสมัครเข้าร่วมมาตรการด้วยตัวเองแล้ว ธนาคารเพิ่มความสะดวกสบาย ลงพื้นที่ไปแนะนำมาตรการและติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด” น.ส.นารถนารี กล่าว

สำหรับลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการ “พัก-ขยาย-เติม” สามารถเลือกใช้สิทธิต่างๆ ได้ ประกอบด้วย 1.มาตรการ “พัก” ชำระหนี้เงินต้น สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางตรง นานสูงสุด 12 เดือน และลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม นานสูงสุด 6 เดือน เพื่อช่วยลดภาระการชำระหนี้และมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยเริ่มพักชำระนับจากเดือนถัดไปที่ได้รับการอนุมัติพักชำระหนี้เงินต้น

2.มาตรการ “ขยาย” เวลาชำระหนี้ ให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ธุรกิจ และสำหรับลูกค้าที่ใช้ บสย.ค้ำประกันเดิม (โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะที่ 5-7 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ทำหน้าที่เป็นหลักทรัพย์ช่วยค้ำประกันให้ผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่มเข้าถึงสินเชื่อได้คล่องตัวขึ้น) สามารถขยายระยะเวลาค้ำประกันออกไปได้อีก 5 ปี โดยลูกค้าไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ

และ 3.มาตรการ “เติม” ทุนดอกเบี้ยถูกเสริมสภาพคล่อง เพื่อให้ลูกค้ามีเงินทุนไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจ คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ นิติบุคคล 3% ต่อปีใน 3 ปีแรก วงเงิน 1 ล้านบาทต่อราย และบุคคลธรรมดา 5% ต่อปีใน 3 ปีแรก วงเงิน 5 แสนบาทต่อราย ระยะเวลาผ่อนนานสูงสุด 7 ปี

ด้าน นายภูปกรณ์ พริ้งทองฟู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนน์ ทู แบ๊กส์ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจรับจ้างทำของ จัดทำสินค้าพรีเมียม กล่าวว่า บริษัทได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด “โควิด-19” ส่งผลต่อยอดสั่งซื้อสินค้าลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้รายได้ที่เข้ามาลดลงไปด้วย สวนทางกับภาระค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ยังคงมีอยู่ ดังนั้น เมื่อ SME D Bank ออกมาตรการ “พัก-ขยาย-เติม” ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ช่วยเหลือลูกค้าในช่วงสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ช่วยประคองให้ธุรกิจเดินหน้า โดยเฉพาะการเติมเงินทุน ทำให้บริษัทยังมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการบริหารจัดการธุรกิจ รวมถึงยังคงสภาพการจ้างงานได้ต่อไป และหากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติก็จะช่วยให้บริษัทฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

น.ส.นิภร ตรีเลิศกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ททัวร์ จำกัด ธุรกิจจัดบริการท่องเที่ยว กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจท่องเที่ยวถือว่าได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เคยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ หรือไปต่างประเทศหดหายไปจากความกังวลการแพร่ระบาด “โควิด-19” ส่งผลต่อรายได้ของบริษัทลดลง แต่การทำธุรกิจยังต้องเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะการดูแลลูกจ้าง ถือเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญมากที่สุด แม้ปัจจุบันจะเผชิญวิกฤต โดยยืนยันว่าจะไม่มีการเลิกจ้าง แต่ขอประคองธุรกิจไปด้วยกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ SME D Bank แนะนำมาตรการ “พัก-ขยาย-เติม” ทำให้มีช่องทางทางการเงินเพิ่มขึ้น ถือเป็นมาตรการที่ครอบคลุม ทั้งการลดภาระค่าใช้จ่าย และเติมเงินทุน ทำให้บริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอต่อการรับมือความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น