“ม.หอการค้าฯ” ชี้ผลสำรวจดัชนีเอสเอ็มอีไตรมาส 4/62 ปรับลดทุกด้าน แต่เชื่อสถานการณ์ไตรมาส 1/63 จะปรับตัวดีขึ้น โดยเป็นผลจากการลงทุนภาครัฐ รวมถึงการใช้ชุดแพกเกจอุ้มเอสเอ็มอีมูลค่า 3.8 แสนล้านบาท และสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ คลี่คลาย คาดเอสเอ็มอีจะขยายตัวได้ 3.4% ในปี 63 แต่ย้ำยังคงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตามอย่างใกล้ขิดต่อไป
นายธนวรรธน์ อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีเอสเอ็มอีประจำไตรมาส 4/62 ว่า ปรับลดลงทุกตัว และยังเป็นระดับต่ำสุดเท่าที่เคยสำรวจมา ซึ่งถือเป็นภาพที่สอดคล้องกับผลคาดการณ์แนวโน้มทางเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 2.5% หรือต่ำสุดในรอบ 5 ปี ส่วนภาพรวมการขยายตัวของเอสเอ็มอีจะอยู่ที่ 3%
ทั้งนี้ ผลสำรวจดัชนีสถานการณ์ธุรกิจของเอสเอ็มอีในไตรมาส 4/62 นั้น ลดลง 0.7 จุด มาอยู่ที่ 40.8 จุด เช่นเดียวกับดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจที่ปรับตัวลง 0.6 จุด มาอยู่ที่ 47.2 จุด และดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจเอสเอ็มอีลดลง 0.7 จุด มาอยู่ที่ 50.4 จุด อย่างไรก็ตาม จากดัชนีทั้ง 3 ตัวเมื่อนำมาประมวลให้เห็นถึงดัชนีความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี พบว่า จะปรับตัวลดลง 0.8 จุด มาอยู่ที่ 46.1 จุด
นายธนวรรธน์ ยังกล่าวด้วยว่า ค่าดัชนีเอสเอ็มอีที่ลดลงต่ำกว่า 50 เกือบทุกตัวนั้น เป็นผลมาจากการลดลงของยอดขาย กำไร และสภาพคล่องที่ย่อตัวลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงในการดำเนงงนธุรกิจของเอสเอ็มอี แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจ ยังคงมีความหวังว่าในไตรมาส 1/63 ดัชนีจะเริ่มดีขึ้น โดยเป็นผลจากการลงทุนของภาครัฐ ความคลี่คลายของปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ รวมถึงชุดมาตรการของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีซึ่งมีมูลค่า 3.8 แสนล้านบาทนั้น น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อเอสเอ็มอี และสนับสนุนให้การขยายตัวของเอสเอ็มอีในปีนี้อยู่ที่ 3.4% ซึ่งดีกว่าการขยายตัวในปีที่ผ่านมาในระดับ 3%
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าน่าจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจราว 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจราว 7 พันล้าน-1 หมื่นล้านบาท ส่วนงบประมาณจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใดนั้น ยังคงต้องติดตามว่าการผ่านร่างกฎหมายรัฐบาลจะล่าช้าแค่ไหน รวมถึงรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ส่วนความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจและเอสเอ็มอีในปี 63 อธิการบดี ม.หอการค้าฯ ย้ำว่า ยังคงมีอยู่และต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ด้าน นายสมานพงศ์ เกลี้ยงลำยอง รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) กล่าวเพิ่มเติมถึงค่าดัชนีโดยเฉลี่ยในกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าของธนาคารฯ ยังอยู่ในระดับที่สูงอยู่ทุกด้านเมื่อเทียบกับดัชนีเฉลี่ยในกลุ่มเอสเอ็มอีที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของ ธพว. นอกจากนี้ ยังกล่าวด้วยว่า ธพว. มีโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวมไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท สำหรับการปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการสภาพคล่องหรือต้องการปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจให้มีความทันสมัยขึ้น