xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่”งัด “พรก.ฉุกเฉิน”คุมโควิด-ยอดผู้ป่วยทะลุ827ตาย4ราย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- "บิ๊กตู่" งัดยาแรง ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สู้ "ไวรัสโควิด-19" เริ่ม 26 มี.ค.นี้ ประเดิม "ศอฉ.โควิด-19" จัดคณะทำงาน แย้มมาตรการมีทั้งขอความร่วมมือ-บังคับ ขู่ ถ้ายังแก้ไม่ได้ "ปิดล็อก"หมด เตือน"นักเลงคีย์บอร์ด"ปล่อยเฟกนิวส์ โดนแน่ กรมการขนส่งทางรางเข้ม ห้ามคนไม่สวมหน้ากากอนามัยขึ้นรถไฟ-รถไฟฟ้า ด้านสธ.เผยผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตอีก 3 ราย เป็นผู้สูงอายุ-มีโรคประจำตัว ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 106 ราย รวมบุคลากรทางการแพทย์ 4 ราย ส่งผลยอดผู้ป่วยสะสมรวม 827 ราย ตาย 4 ราย รักษาหาย 57 ราย ขณะที่ภาคใต้ ยอดผู้ติดเชื้อโควิดสะสมรวม 110 ราย

เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (24มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงหลังการประชุมครม. ถึงมาตรการเพิ่มเติมในการรับมือการแพร่ระบาด โควิด-19 ด้วยการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยจะให้มีผลในวันที่ 26 มี.ค.นี้ ซึ่งในที่ประชุมครม.ได้หารือมาตรการที่จำเป็นแล้ว ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการจัดระเบียบเรื่องการทำงาน โดยยกระดับเป็นศูนย์ฉุกเฉินในเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-19 หรือ "ศอฉ.โควิด-19 " มีปลัดกระทรวงของแต่ละภารกิจเป็นหัวหน้าส่วนงานรับผิดชอบ เพื่อติดตามมาตรการที่ได้ประกาศไว้เดิม ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในบางส่วน ก็จะมีการเสนอมาตรการเพิ่มเติมมาที่ ศอฉ.โควิด-19 โดยตนจะเป็นผู้อนุมัติ เพราะอำนาจทางกฎหมาย 38 ฉบับของทุกกระทรวง มาอยู่ที่นายกฯหมด เป็นการบูรณาการอย่างแท้จริง ในการบริหารงานตรงนี้

ฉะนั้น การทำงานตั้งแต่ช่วงเช้า วันที่ 26 มี.ค. เวลา 09.30 น. จะมีการประชุมโดยนำหัวหน้าส่วนราชการทั้งหมด มาเสนอรายงานสถานการณ์ให้ทราบ ถ้ามีอะไรเพิ่มเติมจะประกาศออกไปเป็นข้อกำหนดเพิ่มเติม

นายกฯ กล่าวว่า เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว สิ่งสำคัญคือ จัดตั้งคณะทำงาน ผู้รับผิดชอบภายในศูนย์ฯ ส่วนข้อกำหนดจะมีอะไรบ้างนั้น สามารถออกได้ตลอดเวลา ทุกวัน ดังนั้นระยะที่1 ที่จะประกาศคือ การทำอย่างไรที่จะลดการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ อาจจะเป็นการขอความร่วมมือ หรือบังคับบ้าง อะไรบ้าง แต่ในส่วนที่ว่าจะปิดจะเปิด อะไรต่างๆ จะเป็นมาตรการในระยะต่อไป อาจจะเข้มข้นขึ้น อยู่ที่ความร่วมมือของประชาชน

"รัฐบาลมีความมุ่งมั่นเต็มที่ ในการดูแลสุขภาพประชาชนให้ได้มากที่สุด ขอความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ที่ออกไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขอความร่วมมืออย่าเพิ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา หากจะต้องกลับ จะต้องเจอมาตรการต่างๆ การคัดกรอง การตรวจสอบระหว่างทางมากมาย ซึ่งจะแบริเออร์สำคัญในการป้องกันเวลานี้ เช่นเดียวกับการที่เราทำมาตลอดกับคนที่เดินทางจากต่างประเทศ จะต้องมีการกักตัวที่บ้าน หรือในพื้นที่ หากมีความจำเป็นจะต้องกักตัวในสถานที่ของรัฐเพิ่มเติม หากมีการพบผู้ติดเชื้อมากขึ้นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องหามาตรการอื่นรองรับ ไม่ว่าโรงพยาบาลสนาม พื้นที่กักตัวขนาดใหญ่เป็นร้อยเป็นพัน เรื่องเวชภัณฑ์ต่างๆก็ต้องจัดหาให้เพียงพอ วันนี้แม้จะมีการช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้ามา แต่ยังไม่เพียงพอกับสิ่งที่เราต้องการ จึงต้องจัดซื้อ จัดหาเพิ่มเติม และจะซื้อจากที่ไหน ในเมื่อทุกประเทศมีความต้องการสิ่งต่างๆเหล่านี้มากในปัจจุบัน อันนี้จะเป็นการหารือในแต่ละวัน ในศอฉ. ขอให้ทุกคนอย่าตื่นตระหนก ถ้าตื่นตระหนกมันก็คือปัญหา ขอให้ฟังรัฐบาลในการให้ข่าวข้อมูล ซึ่งจะมีการให้ข้อมูลทั้งวัน ในสื่อโซเชียลต่างๆ ตั้งแต่เช้าถึงเย็น จะมีศูนย์บัญชาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุข คมนาคม ต่างประเทศ ซึ่งจะแถลงทั้งวัน จะมีช่องทางให้ทุกคนสอบถาม และ ทางศอฉ. จะสรุปประเด็นสำคัญแต่ละวันให้ประชาชนทราบด้วย ขอให้รับฟังช่องทางรัฐบาลเป็นหลัก"

สิ่งสำคัญอีกอย่าง หลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ขอให้ทุกคนระวังการใช้สื่อโซเชียลฯ การให้ข่าวสารบิดเบือน เดิมใช้กฎหมายปกติอยู่ แต่จากนี้ จะแต่งตั้งเจ้าพนักงาน พลเรือน ตำรวจ ทหาร จัดตั้งด่านตรวจ จุดสกัด เตรียมพร้อมช่วยเหลือส่วนต่างๆ ในการทำงาน

"จะมีการปรับมาตรการที่เข้มงวดขึ้น ถ้ายังไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ ก็จำเป็นต้องปิดล็อกต่างๆ ทั้งหมด อันนี้ขอให้เป็นไปตามขั้นตอน " นายกฯ กล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาออกมาในวันนี้ ทั้งคนในระบบประกันตน และนอกระบบประกันตน เราทำถึงประชาชนทุกกลุ่ม ผู้ที่ใช้โซเชียลฯ ในการบิดเบือนต่างๆ จะต้องได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทุกคนมีอำนาจในทางคดีอาญาด้วย สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ ไม่ว่าจะกักตุนสินค้า หรืออะไรต่างๆ รวมถึงการขึ้นราคาสินค้าอุปโภค บริโภค สิ่งเหล่านี้จะมีความเข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ จึงขอเตือนไว้ด้วย เชื่อว่าประชาชนทุกคนรักประเทศเหมือนกัน แต่ต้องรักในวิธีการที่ถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย และขอให้เชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องขอร้องกัน

เมื่อถามว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีระยะประกาศใช้ถึงเมื่อไร นายกฯ กล่าวว่า "1 เดือน"

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่รัฐบาลจะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในวันที่ 26 มี.ค. ก็เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ และประชาชนผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบได้มีเวลาเตรียมตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายกฯ ให้สัมภาษณ์เสร็จ ได้เดินออกจากตึกบัญชาการ 1 เพื่อไปยังห้องทำงานที่ตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งระหว่างนั้นสื่อมวลชนได้สอบถามว่า เมื่อประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วสบายใจขึ้นหรือไม่ โดยนายกฯไม่ตอบคำถามดังกล่าว แต่ได้ชูกำปั้นสองข้างขึ้น เป็นสัญลักษณ์ว่า สู้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังกล่าว คาดว่าจะมีทั้งการห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน , มาตรการห้ามรวมตัวกัน หรือมั่วสุมชุมนุมทำกิจกรรมทุกประเภท

ทั้งนี้ มาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระบุว่า ในกรณีที่มีความจำเป็น เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือ ป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรี มีอำนาจออกข้อกำหนด

(1) ห้ามมิให้บุคคลใด ออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น

(2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

(3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลาย ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

(5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ

(6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

ส่วนมาตรา 18 ได้กำหนดโทษ ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตาม มาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“บิ๊กตู่”นั่งคุมศอฉ. ประเมินรายวัน ก่อนยกระดับ

ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเร้นซ์ นัดแรก โดยหลังจากที่ประชุมครม. มีการหารือและมีมติในวาระต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ขอมติ ครม.ว่าจะขอประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยนายกฯระบุว่า “เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศจำเป็นต้องใช้ เพื่อให้ทำงานของหน่วยงานราชการ และรัฐบาลง่ายขึ้น และเพื่อให้ผมมีอำนาจสั่งการ" จากนั้น นายกฯ ได้ให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายถึงรายละเอียดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าเป็นอย่างไรให้ครม.รับทราบ โดยนายวิษณุ กล่าวว่า เราไม่ได้ปิดประเทศ ไม่ได้ปิดเมือง และการตั้ง ศอฉ.ให้ปลัดแต่ละกระทรวงเข้ามาร่วมทำหน้าที่ เช่น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดูแลในเรื่องระบบสาธารณสุข และในส่วนของผู้ป่วยโควิด-19 ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ดูในเรื่องการค้า การกักตุนสินค้า เป็นต้น

ทั้งนี้ นายกฯ ยังกล่าวในที่ประชุมครม. อีกว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้ห้ามเดินทางไปต่างจังหวัด แค่ขอความร่วมมือประชาชน ตอนนี้แค่เริ่มต้น เพื่อให้นายกฯ เข้ามามีอำนาจเต็มในการที่จะออกประกาศต่างๆ หากสถานการณ์ไม่ปกติกว่านี้ จากนั้นนายกฯ ถามความเห็นครม. ว่า เห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งไม่มีรัฐมนตรีคนใดไม่เห็นด้วย ทุกคนเห็นด้วยทั้งหมด ซึ่งพอมาถึงในช่วงดังกล่าว นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ได้เสนอในที่ประชุมว่า ให้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นระยะเวลา 1 เดือนก่อน จากนั้นค่อยดูสถานการณ์ และประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน ซึ่งก็ไม่ได้มีรัฐมนตรีคนไหนไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ การตั้งศอฉ.จะให้ นายวิษณุ ไปดูในรายละเอียด โดยหลังจากนี้อาจจะมี ประกาศ ฉบับที่ 2,3,4,5 ตามมา โดยเบื้องต้น จะดูสถานการณ์เป็นหลักและประชุม ศอฉ.ทุกวัน

ขร.เริ่มบังคับต้องสวมหน้ากากป้องกันโควิด

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.เป็นต้นไป จะเริ่มบังคับใช้ ประกาศกรมการขนส่งทางราง เรื่องข้อแนะนำในการปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้ 1. แจ้งประชาชนผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางราง ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟฟ้าใต้ดิน จะต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ใช้บริการในระบบขนส่งสาธารณะทางราง ทั้งภายในสถานีและภายในขบวนรถ

2. ให้ผู้บริการใช้มาตรการระยะห่างทางสังคมมาปรับใช้การบริหารจัดการภายในสถานีรถไฟฟ้า และรถไฟฟ้า เช่น เว้นระยะห่างจากบุคคลอย่างน้อย 2 เมตรเพื่อรับบริการตามความเหมาะสม 3.ให้ผู้บริการเพิ่มความเข้มข้นมาตรการป้องกันสำหรับพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ ที่ให้บริการภายในสถานีรถไฟรถไฟฟ้าที่ต้องพบเจอคนจำนวนมาก 4.ให้ผู้บริการจัดให้มีจุดบริการหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารให้สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในระบบ 5.ผู้ให้บริการดำเนินการเพิ่มจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ ผู้โดยสารก่อนเข้าใช้บริการทุกสถานี หากตรวจพบผู้โดยสารมีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือในการคัดกรอง ขอให้ดำเนินการสงวนสิทธิ์ในการให้บริการ

ผู้ป่วยดับเพิ่ม 3 ราย ส่วนเคสใหม่เพิ่ม 106 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ว่า วันที่ 24 มี.ค. มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 106 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. ผู้ป่วยสัมผัสผู้ป่วย หรือสถานที่ที่มีผู้ป่วยโรคนี้ก่อนหน้า 25 ราย คือกลุ่มสนามมวย 5 ราย จากเวทีมวยลุมพินี และราชดำเนิน เป็นผู้ชมและเซียนมวย จาก กทม. นครปฐม สมุทรสาคร อุบลราชธานี, กลุ่มสถานบันเทิง 6 ราย จากย่านทองหล่อ อาร์ซีเอ และ นานา โดยเป็นนักท่องเที่ยว พนักงานเสิร์ฟที่ จ.สระบุรี กทม. บุรีรัมย์ และชลบุรี, กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า 12 ราย เป็นพนักงานขายเสื้อผ้า เซียนมวย พนักงานบริการ ราชการ กินข้าวกับผู้ป่วย กินเลี้ยงกินดื่มสุรากับผู้ป่วยที่สถานบันเทิง ใกล้ชิดกับผู้มีประวัติเจ็บป่วยในสนามมวย และกลุ่มร่วมพิธีศาสนามาเลเซีย 2 ราย ที่ จ.ปัตตานี

2. ผู้ป่วยรายใหม่ 34 ราย เป็นกลุ่มเดินทางมาจากต่างประเทศ 20 ราย เป็นคนไทย 8 ราย ได้แก่ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน นักศึกษา พนักงานร้านแถวปอยเปต ชาวต่างชาติ 12 ราย คือ ชาวฝรั่งเศส สวีเดน ปากีสถาน อังกฤษ และนิวซีแลนด์ กลุ่มอาศัยหรือทำงานที่แออัดพบเจอผู้คนจำนวนมากหรือใกล้ชิดชาวต่างชาติ10 ราย ได้แก่ รปภ. คนรับรถ คนขับรถรับส่งนักท่องเทียว แท็กซี่ มัคคุเทศก์ จากชลบุรี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ภูเก็ต นครราชสีมา กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 4 ราย เป็นแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากภูเก็ต ยะลา บุรีรัมย์ นครปฐม สืบเนื่องจากผู้ป่วยไม่แจ้งประวัติเสี่ยงมาก่อนทำให้ไม่ได้ปกป้องตัวเองและรับเชื้อไป ต้องรับการรักษาในรพ. แต่อาการยังไม่มีน่าเป็นห่วง

3. ผู้ป่วยที่ผลแล็บพบเชื้อ แต่อยู่ระหว่างสอบสอบสวนโรค 47 ราย

สำหรับผู้ป่วยอาการหนักขณะนี้เหลือ 4 ราย เนื่องจากมีการเสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย ได้แก่ 1. ชาวไทยอายุ 70 ปี ที่มีวัณโรคร่วม เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2. ชาวไทยอายุ 79 ปี เกี่ยวข้องกับสถานที่สนามมวย รายนี้อาการหนักตั้งแต่แรกรับ และเข้ามาวันที่ 16 มี.ค. มีโรคประจำตัวหลายโรค โดยทั้ง 2 รายรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร และ 3. ชาวไทยอายุ 45 ปี มีภาวะโรคเบาหวาน โรคอ้วน รักษาที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งใน กทม. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 4 ราย

นอกจากนี้มีผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 5 ราย สรุปมีผู้ป่วยสะสม 827 ราย กลับบ้าน 57 ราย รักษาใน รพ.766 ราย เสียชีวิต 4 ราย

ทั้งนี้ สธ.ได้จัดทำข้อมูลสถานที่ชุมนุมชนให้ผู้เกี่ยวข้องเฝ้าระวังตัวเอง 25 แห่ง 7 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ขอนแก่น กทม. สงขลา นครราชสีมา นนทบุรี และสุรินทร์ โดยหากอยู่สถานที่และช่วงเวลาตามประกาศ ให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานโรคติดต่อต่อ คือ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ผู้ว่าราชการจังหวัด ผอ.รพ. นายอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ผู้นำชุมชน โดยทันที และกักกันตนเองสังเกตอาการ 14 วัน หากมีไข้อาการทางเดินหายใจ และรีบพบแพทย์ทันที โดยสามารถติดตามข้อมูลประกาศสถานที่พบผู้ป่วยได้ที่เว็บไซต์ ไทยรู้สู้โควิด และเว็บไซต์กรมควบคุมโรค

นอกจากนี้ ขอย้ำเตือนประชาชนช่วยกันรักษาระยะห่างต่อสังคม 1-2 เมตร งด ลด การเดินทางไม่จำเป็น ไม่ไปพื้นที่แออัด แยกสำรับอาหารไม่ใช้ช้อนถ้วยชามแก้วเดียวกัน มีอาการทางเดินหายใจ ไข้ ไอเจ็บคอ น้ำมูก สวมหน้ากากอนามัยไปพบแพทย์ทันทีพร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง

วานนี้ (24 มี.ค.) “MGR Online ภาคใต้” ได้ประมวลสถานการณ์การเฝ้าระวังและจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในภาคใต้ พบว่า ยังจำกัดวงอยู่ใน 10 จังหวัดจาก 14 จังหวัดภาคใต้เท่าเดิม โดยจังหวัดที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อคือ ชุมพร ระนอง พังงาและสตูล ส่วนที่มีผู้ติดเชื้อแล้วเฉพาะวันนี้ตัวเลขเพิ่มอีก 35 ราย รวมเป็น 110 ราย ภูเก็ตหวนกลับมาทิ้งห่าง จ่อติดด้วยยะลากับสงขลา ที่เหลือขยับเล็กน้อยแบบต่ำสิบ


กำลังโหลดความคิดเห็น