xs
xsm
sm
md
lg

ทางเลือกของปชป.วันนี้ : ถอยตั้งหลักหรือเดินต่อ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง


จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ในบรรดาพรรคการเมืองไทย พรรคประชาธิปัตย์มีอายุยาวนานที่สุด นับจากวันก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน และเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่มีความเป็นสถาบันทางการเมืองปรากฏชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. มีอุดมการณ์ชัดเจนในการต่อต้านเผด็จการ และการทุจริต คอร์รัปชัน

2. มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ทั้งในฐานะเป็นฝ่ายค้าน และเป็นฝ่ายรัฐบาล แต่ดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีชื่อเสียงในฐานะเป็นฝ่ายค้านมากกว่าฝ่ายรัฐบาล

3. ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าพรรคอื่น โดยเฉพาะพรรคขนาดใหญ่ซึ่งเป็นคู่แข่ง เนื่องจากไม่ถูกครอบงำจากนายทุนของพรรค จึงมีความคิดเห็นหลากหลายในการบริหารพรรค ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าพรรคที่ถูกผูกขาดความคิดจากนายทุน

แต่พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กำลังเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางความคิดของบุคลากรทางการเมืองของพรรค ทั้งที่เป็น ส.ส.และมิได้เป็น ส.ส.ในส่วนที่เกี่ยวกับอยู่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งกำลังเผชิญกับมรสุมทางการเมือง สืบเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ สังคมย่ำแย่ และไวรัสโควิด-19 ซ้ำเติม แถมมีปัญหาทุจริต คอร์รัปชันเข้ามาเกี่ยวข้องกับคนในรัฐบาล จึงทำให้คนของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งยึดมั่นในอุดมการณ์ดั้งเดิมของพรรคกำลังอึดอัด และเรียกร้องให้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล เพื่อเรียกคืนศรัทธาจากประชาชน

เมื่อเกิดความขัดแย้งทางความคิดเกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์เช่นนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะถอยหรือจะเดินต่อไป

เพื่อจะตอบปัญหาข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูปรากฏการณ์ทางการเมืองก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ก็จะพบว่า ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาล โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นแกนกลาง จะเห็นได้จากการลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค และ ส.ส.ของพรรค และกลุ่มที่เห็นด้วยอันได้แก่กลุ่มที่ได้ตำแหน่งในรัฐบาล

ดังนั้น จึงตอบได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะถอนตัวหรืออยู่ร่วมกับรัฐบาลต่อไปหรือไม่นั้น จะต้องดูจากจำนวนของคนสองกลุ่ม และถ้าพบว่ากลุ่มไหนมากกว่าก็จะเป็นคำตอบ และจากข่าวที่ปรากฏออกมาในช่วงนี้มีแนวโน้มว่ากลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วม แต่จะต้องมีเสียงดังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และได้รับการตอบรับจากแฟนคลับของพรรคประชาธิปัตย์เพิ่มขึ้นด้วย ในทางกลับกัน กลุ่มที่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาลแผ่วลง และสุดท้ายคงจะเห็นด้วยกับกลุ่มแรก ถ้าเป็นเช่นนี้เมื่อใด นั่นก็หมายความว่า การถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลเกิดขึ้นแน่นอน

ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ คงจะฝ่ามรสุมการเมืองไปได้ยาก ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำยิ่งกว่ายุคใดๆ ที่ผ่านมา และจากปัญหาเศรษฐกิจนี้เอง เป็นเหตุให้เกิดปัญหาสังคมมากมาย มีตั้งแต่ปัญหาอาชญากรรม จี้ปล้นไปจนการฆ่าตัวตายเพื่อหนีหนี้

2. การทุจริต คอร์รัปชันดาษดื่นในภาครัฐ โดยเฉพาะการทุจริตซึ่งมีนักการเมืองจากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล จึงเป็นเหตุให้ประชาชนไม่ศรัทธารัฐบาล

3. การไม่เป็นธรรมอันเกิดจากการบังคับใช้ในลักษณะเลือกปฏิบัติ เห็นได้ชัดเจนระหว่างคนธรรมดากับนักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล

จากเหตุปัจจัย 3 ประการข้างต้น ทำให้ประชาชนไม่ศรัทธารัฐบาล และถ้าปรากฏการณ์ทางการเมืองในทำนองนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เป็นที่เชื่อได้ว่าวันแห่งการลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลของประชาชนคงจะมาถึงแน่นอน และคงไม่เกินปี 63
กำลังโหลดความคิดเห็น