แผนการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น น่าจะแท้งไปแล้ว เพราะมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไม่เห็นชอบ และต้องการทุ่มเททุกสรรพสิ่งที่รัฐบาลมีอยู่ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่า รวมทั้งเงินที่จะใช้ในการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นด้วย
ทุกครั้งที่ตลาดหุ้นเกิดวิกฤต จะมีการผลักดันกองทุนพยุงหุ้นขึ้น เพื่อกอบกู้สถานการณ์การลงทุนที่กำลังย่ำแย่ และวิกฤตตลาดหุ้นครั้งนี้ จึงมีความพยายามปลุกผีกองทุนพยุงหุ้นขึ้นมาอีกครั้ง
การก่อตั้งกองทุนพยุงหุ้นครั้งแรก เกิดขึ้นในวิกฤตแบล็กมันเดย์ ในวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2530 หลังจากดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทรุดลงกว่า 500 จุด สร้างความตื่นตระหนกให้นักลงทุนทั่วโลก
ตลาดหุ้นไทยเพิ่งเริ่มจะฟื้นตัว หลังจากซบเซายาวนานมา 8 ปี จากวิกฤตราชาเงินทุนเมื่อเดือนสิงหาคม 2522 เกิดความผันผวนรุนแรงเช่นเดียวกับตลาดหุ้นทั้งโลก
ดัชนีหุ้นที่เพิ่งสร้างจุดสูงสุดใหม่ที่ระดับ 472 จุด ดิ่งลงทันที โดยลงไปต่ำสุดที่ระดับ 243 จุด ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2530 ก่อนจะเริ่มกระเตื้องขึ้น
กองทุนพยุงหุ้นถูกจัดตั้งขึ้นอย่างรวดเร็ว วงเงินทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท โดยบริษัทโบรกเกอร์ซึ่งมีอยู่ 30 แห่งในช่วงนั้น ร่วมใส่เงินลงขันรายละ 30 ล้านบาท และองค์กรเอกชนอื่นใส่เงินสมทบอีก
มูลค่าการซื้อขายหุ้นช่วงเกิดวิกฤตแบล็กมันเดย์ เฉลี่ยวันละไม่กี่ร้อยล้านบาทเท่านั้น และกองทุนพยุงหุ้น ก็ไม่สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ลงทุนที่ซบเซาได้ เพราะแม้จัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นแล้ว ดัชนีหุ้นก็ยังทรุดอยู่
หลังวิกฤตตลาดหุ้นปี 2530 มีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นอีก 2-3 ครั้ง เช่น วิกฤตอ่าวเปอร์เซีย โดยผลที่เกิดขึ้นมักเป็นไปในเชิงจิตวิทยา ทำให้นักลงทุนเห็นว่า จะมีแรงซื้อจากกองทุนพยุงเข้ามาเท่านั้น แต่ไม่อาจดับวิกฤตที่เกิดขึ้นได้
การประกาศปลุกผีกองทุนพยุงหุ้น เพื่อสู้กับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ไม่มีปฏิกิริยาตอบรับจากตลาดหุ้นแต่อย่างใด และดัชนีหุ้นยังปักหัวลงต่อไป เพราะนักลงทุนไม่รู้ว่า กองทุนพยุงหุ้นจะจัดตั้งในรูปแบบใด เงินลงทุนจากไหน วงเงินจัดตั้งมีเท่าไหร่ และจะช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นได้หรือไม่
นอกจากนั้นยังมีกระแสต่อต้าน ทั้งจากคนในแวดวงตลาดทุน และสังคมทั่วไป ซึ่งไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะนำเงินมาประคับประคองตลาดหุ้น หรือช่วยนักลงทุน
กองทุนพยุงหุ้นที่จะจัดตั้งขึ้น คาดว่าจะมีวงเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท เพราะถ้าตั้งกองทุนวงเงินไม่กี่ล้านบาท จะไม่มีผลใดๆ ต่อการเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนหรือกระตุ้นตลาดหุ้น เนื่องจากตลาดมีขนาดใหญ่ ซื้อขายหุ้นวันละไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท หรือบางวันทะลุกว่า 100,000 ล้านบาท
แต่กระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าภาพจะนำเงินมาจากไหน จะขอให้เอกชนช่วยลงขัน จะมีบริษัทเอกชนรายใดให้ความร่วมมือ
จะเรียกร้องให้โบรกเกอร์ร่วมใส่เงินเหมือนอดีตคงเป็นไม่ได้ เพราะบริษัทโบรกเกอร์ที่มีอยู่ 38 รายก็แทบเอาตัวไม่รอด เพราะผลประกอบการตกต่ำตามภาวะตลาดหุ้น และรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหุ้นลดฮวบ เพราะการแข่งขันตัดราคา
ถ้าจะขอให้ใส่เงินนับพันล้านบาทลงขันตั้งกองทุนพยุงหุ้นในชั่วโมงนี้ โบรกเกอร์ส่วนใหญ่คงสมัครใจปิดตัวเองมากกว่า
ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นจึงมีทางเดียว รัฐบาลจะต้องใส่เงินเข้ามา แต่เงินระดับ100,000 ล้านบาทจะนำมาจากไหน
และเงินที่จะนำมาใช้พยุงหุ้น มีความจำเป็นเพียงใด ขณะที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสยังลุกลาม และคุกคามประชาชนทั้งประเทศ 70 ล้านคน
เงินก้อนเดียวกันนี้ นำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาไวรัสหรือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากเชื้อร้ายไม่เป็นประโยชน์มากกว่าหรือ
นักลงทุนในตลาดหุ้นที่เปิดบัญชีซื้อขายหุ้น ตัวเลขล่าสุดมีประมาณ 1.8 ล้านคน หรือมากกว่า 2% ของประชากรทั้งหมด และถือเป็นประชากรส่วนน้อยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัส ถ้ารัฐบาลจะทุ่มเงินแสนล้านบาท เพื่อเยียวยา อาจไม่เป็นธรรมกับประชาชนทั้งประเทศที่เดือดร้อนไม่น้อยกว่านักลงทุนในตลาดหุ้น
นอกจากนั้น การจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นนำเงินเข้าไปไล่ซื้อหุ้น เพื่อตรึงหรือดึงราคาหุ้น จะช่วยให้นักลงทุนต่างชาติสามารถขายหุ้นได้ในราคาที่ดี แล้วหอบเงินหนีกลับบ้าน
เพราะต่างชาติเป็นผู้ขายหุ้นรายใหญ่ และขายรายเดียวตั้งแต่ต้นปี มียอดขายหุ้นสุทธิสะสมแล้วเกือบ 9 หมื่นล้านบาท รวมปี 2561 และปี 2562 ขายหุ้นทิ้งแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท
กองทุนพยุงหุ้นที่จะจัดตั้ง แม้มีเจตนาช่วยนักลงทุนไทย แต่เป็นการเปิดทางให้ต่างชาติขายหุ้นทิ้งโดยปริยาย
กองทุนพยุงหุ้นเกิดอาการแท้งลงเสียก่อน ถือเป็นบุญต่อรัฐบาล เพราะถ้าดันทุรังจัดตั้ง จะถูกกระแสโจมตีตามมาอีกระลอกใหญ่
พล.อ.ประยุทธ์กำลังดวงตกอยู่ด้วย ตอนนี้ทำอะไรดูผิดไปหมด ออกจอทีวีแถลงด่วนแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 ครั้งแรก ถูกวิพากษ์ยับเยิน
ถ้าจะนำเงินภาษีนับแสนล้านบาทมาละลายในตลาดหุ้น พล.อ.ประยุทธ์ถูกโจมตีกระอักแน่