xs
xsm
sm
md
lg

ติดเชื้อเพิ่ม 32 คน นายกฯ เด้งอธิบดีกรมการค้าภายใน เล็งเปิด รพ.เฉพาะกิจรักษาโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน360- สธ.แถลงเจอผู้ป่วยรายใหม่พุ่ง 32 คน จากสนามมวย 9 คน กลุ่มเที่ยวผับ 8 คน สัมผัสนักท่องเที่ยว 3 คน กลับจากต่างประเทศ 7 คน สัมผัสเจ้าของร้านอาหาร 2 คน ส่วนอีก 3 คนยังรอยืนยันที่มา ส่วนนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS กลับจากอิตาลี 83 คน มีอาการไอ 6 คน นำส่งรพ.รับการตรวจแล้ว ที่เหลือเข้าฐานทัพเรือสัตหีบ เฝ้าระวังโรค 14 วัน แจงสงสัยป่วยโควิด-19 ตรวจ-รักษาฟรีทุกรพ. เผยกำลังมีวัคซีนรักษา นายกฯ เซ็นสั่งย้ายอธิบดีกรมการค้าภายใน เข้าทำเนียบฯ หลังมีประเด็นกักตุนหน้ากากอนามัย เตรียมเปิด รพ.ศูนย์เฉพาะกิจรักษาโควิด-19 โดยเฉพาะ หากเข้าสู่เฟส 3 เล็งให้กลุ่มเสี่ยงตรวจฟรี 72 ชม. รับหารือแล้วข้อเสนอปิดผับ ขอความร่วมมือแต่หากสถานการณ์จำเป็น ก็ต้องปิดทั้งหมด

วานนี้ (15มี.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า วันที่ 15 มี.ค. มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 32 คน แบ่งเป็น 6 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มติดจากสถานบันเทิง 8 คน 2. กลุ่มสัมผัสที่สนามมวย 9 คน 3. กลุ่มสัมผัสกับนักท่องเที่ยว คือ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ร้านอาหาร และพนักงานบริษัท ที่สนามบินสุวรรณภูมิ 3 คน 4. กลุ่มไปเที่ยวต่างประเทศกลับมา 7 คน เป็นคนต่างชาติ 2 คน และคนไทย 5 คน จำนวนเป็นข้าราชการไปดูงานในประเทศสเปน 1 คน 5. ผู้สัมผัสเจ้าของร้านอาหาร 2 คน และ 6. ผู้ป่วย 3 รายผลติดเชื้อชัดเจน แต่อยู่ระหว่างสอบสวนโรค ว่าไปสัมผัสจากแหล่งใด

ทั้งนี้ มีผู้ป่วยที่มีความสัมพันธ์กับทั้ง 6 กลุ่มนี้ รอการยืนยันอีก 51 ราย สรุปมีผู้ป่วยสะสม 114 ราย รักษาหายเพิ่ม 2 ราย รวมเป็น 37 ราย เสียชีวิต 1 ราย และยังรักษาในรพ. 76 ราย

"สธ.ให้คำแนะนำมาตลอด ควรหลีกเลี่ยงไปต่างประเทศ แต่ก็ยังมีการไป ที่สำคัญกลับมาแล้ว ยังมีการไปรวมกลุ่ม ไปสุงสิง ทำให้เกิดการติดเชื้อ โดยเฉพาะในผับเดียวเดิมๆ ติดซ้ำกันหลายกลุ่ม ดังนั้นขอให้หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ ที่มีคนต่างประเทศอยู่จำนวนมาก เช่น ผับ สนามมวย ร้านอาหารมืดๆ ที่แออัด และหน่วยงานราชการต่างๆขอให้หลีกเลี่ยงการไปดูงานที่ต่างประเทศ" นพ.สุขุม กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อเช้าวันที่ 15 มี.ค. มี ผู้เดินทางกลับจากประเทศอิตาลี จำนวน 83 คน มาลงที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพราะเป็นไฟลท์ตรง มีนักเรียนแลกเปลี่ยนโครงการ AFS จำนวน 78 คน นักท่องเที่ยวคนไทยที่ติดค้าง 3 คน พนักงานสายการบิน 2 คน ในจำนวนนี้พบว่า มี 6 คน มีอาการไอ มีน้ำมูก ไม่มีไข้ ส่งไปเข้า รพ.เพื่อทำการตรวจสอบต่อไป ส่วนอีก 71 คน ส่งไปฐานทัพเรือสัตหีบ เพื่อเฝ้าดูอาการจนครบ 14 วัน

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อจากสถานบันเทิง จำนวน 8 ราย มี 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก เชื่อมโยงกับกลุ่มเดิมที่มีผู้ป่วย11 ราย และเจอเพิ่ม 2 ราย รวมเป็น 13 ราย จึงไปหาผู้สัมผัสเพิ่ม จึงพบผู้ป่วย 3 รายใหม่ ส่วนอีก 5 ราย เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่ได้จากการเข้ามาตรวจ เพราะทราบว่ามีการรายงานผู้ป่วยจากสถานบันเทิงบริเวณนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แมทธิว ดีน ดารานักแสดง ที่ป่วยโรคโควิด-19 มีประวัติเดินทางไปสนามมวย

เตรียมเปิด รพ.ศูนย์ฯรักษาโควิด-19

วานนี้ (15มี.ค.) ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์ฯ โดยมีกรรมการจากทุกกระทรวง และ หลายภาคส่วนเข้าร่วม

หลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ต้องเรียกประชุมเพราะมีความกังวลว่า จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้อย่างไร จึงต้องมาตรวจสอบกันในทุกหน่วยงาน ตามมาตรการที่ได้ประกาศออกไปแล้วว่า ทำไปได้แค่ไหน อย่างไร และปัญหาอยู่ตรงไหน รวมทั้งได้ทบทวนถึงสิ่งต่างๆ ที่ทำลงไป รวมถึงเรื่องหน้ากากอนามัยด้วย

ทั้งนี้ ได้สั่งให้ไปรวบรวมเกี่ยวกับเรื่องของหน้ากากอนามัยว่า ในส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศนั้น มีประเทศใดบ้าง ตรวจสอบยอดที่เข้ามาว่ามีจำนวนเท่าร เพื่อดูว่ายอดที่นำเข้ามา กับยอดที่ผลิตในประเทศ รวมแล้วมีเท่าไร เพียงพอหรือไม่ และได้สั่งให้โรงงานต่างๆ ผลิตเพิ่มมากขึ้น โดยมีมาตรการที่รัฐสนับสนุน และส่งเสริม ซึ่งอาจต้องใช้เวลาบ้าง อีกทั้งได้มีการหารือกับประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบ โดยเฉพาะจากจีน นอกจากนี้ กำลังเร่งพัฒนาหน้ากากอนามัยทางเลือก ซึ่งสามารถใช้กับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะบุคคลที่ไม่ได้ไปใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง หรือพื้นที่เสี่ยง

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการพูดคุย ถึงการเตรียมมาตรการรองรับหากสถานการณ์เข้าสู่ระยะที่ 3 ว่ากระทรวงการต่างประเทศ จะต้องทำอะไร เตรียมการในส่วนใดบ้าง ฝ่ายความมั่นคง ต้องไปดูว่าจะต้องใช้กฎหมายใดเพิ่มเติมเป็นพิเศษ แต่สิ่งสำคัญเราต้องมาดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะต้องทำอย่างไร ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ และเรื่องสุขภาพล้วนแต่เป็นสิ่งสำคัญทั้งสิ้น

"วันนี้ประชาชนเดือดร้อนเยอะ จึงอยากขอร้องว่า วันนี้ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องไปกักตุนอะไรนักหนา ผมคิดว่าอย่าไปกลัวถึงขนาดนั้นเลย วันนี้เรามีมาตรการเพิ่มเติมขึ้นมา ทั้งในเรื่องการติดตามตัว การใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆ กำลังพิจารณาดูว่าจะบังคับใช้กับทุกคนได้หรือไม่ เพราะบางครั้งก็ติดในเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล จะต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าตัว" นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เราต้องแยกการปฏิบัติในส่วนของคนไทย และชาวต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดเป็นมาตรการที่เสนอมาโดยคณะแพทย์ ทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข หมออาวุโส ผู้เชี่ยวชาญ เพราะประเทศไทยมีโรคระบาดเกิดขึ้นหลายโรคแล้ว วันนี้ทุกฝ่ายได้เข้ามาช่วยกันทั้งหมด วันนี้คนไทยที่กลับจากต่างประเทศ เราก็มีมาตรการดูแลทั้งนักศึกษาทุนเอเอฟเอส และแรงงาน เพราะทุกคนก็ต้องการกลับบ้าน เราต้องมาดูถึงมาตรการการคัดกรอง ทั้งเรื่องของสถานที่ อย่างที่ศูนย์สัตหีบ เราก็ยังมีการใช้อยู่ ไม่ได้สั่งปิด หรือเปิด เมื่อมีคนเข้ามาและจำเป็นต้องเข้าไปใช้ ก็ต้องใช้

สำหรับเรื่องโรงพยาบาล ในอนาคต ควรจะมีการจัดตั้งโรงพยาบาลที่เปิดเป็นศูนย์เฉพาะกิจ ในการรักษาพยาบาลโรคไวรัสโควิด-19 ถ้าสถานการณ์เข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งขณะนี้มีสถานที่แล้ว เป็นโรงพยาบาลที่สร้างใหม่แต่ยังไม่ได้เปิดใช้งาน มีจำนวนเตียงประมาณ 100 เตียง จะใช้เป็นโรงพยาบาลศูนย์เฉพาะกิจสำหรับโรคโควิดโดยเฉพาะ ถือเป็นมาตรการรองรับในอนาคต ในส่วนของอุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ ก็ให้มีการเสนอขึ้นมา ซึ่งรัฐบาลพร้อมทุ่มสรรพกำลังในตรงนี้ เพื่อสนับสนุนทุกเรื่องที่เป็นความต้องการของหน่วยงานภาครัฐ จากมติของคณะกรรมการโรคระบาดแห่งชาติ

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอให้มีการปิดผับและสถานบันเทิงในพื้นที่เสี่ยง นายกฯ กล่าวว่าเรื่องนี้ ได้มีการหารือแล้ว ขณะนี้กำลังดูว่าถ้าขอความร่วมมือได้ ก็จะขอความร่วมมือ ในส่วนที่มีปัญหาอยู่ ก็ต้องดูว่าเขาพร้อมที่จะปิดตัวเองหรือยัง และเมื่อถึงเวลาจำเป็น ก็อาจต้องปิดทั้งหมด แต่สิ่งนั้นคืออีกขั้นตอนหนึ่ง เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าเราทำช้า แต่ต้องคำนึงถึงหลายๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬา สนามมวย ผับต่างๆ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังไปหารือกันว่าควรมีมาตรการอย่างไร เรื่องนี้เราต้องฟังจากหมอว่า จะควบคุมอย่างไร

"ไม่ใช่อะไรก็จะให้นายกฯสั่งตาม ใครอยากได้อะไร ผมจะต้องสั่ง ทำงานอย่างนี้ไม่ใช่ นับจากนี้ไปผมจะพูดให้น้อยลงก็แล้วกัน พูดเยอะเดี๋ยวกลายเป็นหมอตู่ไปอีก"

ส่วนที่ประชาชนเรียกร้องให้มีการตรวจเชื้อไวรัสโควิด ฟรี ซึ่งเป็นอีกวิธีในการป้องกันการแพร่ระบาดนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีการเสนอแล้ว โดยจะมีการใช้กฎหมายกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือ ยูเซ็ป (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)ที่ เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 เม.ย. 60 โดยให้ผู้ป่วยในทุกสิทธิ์การรักษา ที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤต สามารถเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด ณ จุดเกิดเหตุได้ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน ในช่วงเวลา 72 ชม.แรก ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งต้องให้หมอเป็นผู้อธิบาย

เมื่อถามถึงการบูรณาการเรื่องของการท่าอากาศยาน ตามสนามบินต่างๆ นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ได้บูรณาการภาพรวมทั้งหมด ตั้งแต่ต่างประเทศ สนามบิน พื้นที่ควบคุม ส่วนภาคปฏิบัติ มีการบูรณาการกันอยู่แล้ว ถ้าเรามัวฟังแต่ในสื่อทุกอย่างก็มีปัญหา เราต้องยอมรับว่าสถานการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นมานานแล้ว ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาย่อมมีความยุ่งยาก สับสนพอสมควร เนื่องจากต้องดูแลคนจำนวนมาก ทั้งในและต่างประเทศ มีการเข้าและออก วันนี้เจ้าหน้าที่ทำจนสามารถเข้ามาในระบบ ยืนยันว่า การบริหารจัดการรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ล่าช้า เพียงแต่หลายอย่างต้องอาศัยความเข้าใจเนื่องจากมีคนจำนวนมากในการทำงานร่วมกัน อย่างวันนี้ มีคนเข้าประเทศลดลงไปมาก เที่ยวบินก็ลดลง จำนวนคนที่เคย เข้ามาวันละ 60,000- 70,000 คน วันนี้เหลือเพียง 6,000 คน เป็นปัญหาที่ตามมาซึ่งต้องมาคิดดูว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป แต่วันนี้สุขภาพถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

นายกฯ สั่งย้ายอธิบดีกรมการค้าภายใน

เมื่อเวลา 11.30 น. วานนี้ (15มี.ค.) ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีคำสั่งด่วนให้ นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.

ทั้งนี้ ในเอกสารคำสั่ง ระบุว่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ในการบริหารจัดการของรัฐบาล ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย กรณีมีประเด็นทางสังคมเกี่ยวกับการกักตุน และจำหน่ายหน้ากากอนามัย ซึ่งสมควรมีการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม ตลอดจนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่การบริหารราชการของกรมการค้าภายใน

นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งให้ นายวิชัย มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม จนกว่าจะมีการตรวจสอบ หรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยระหว่างการปฏิบัติราชการสำนักนายกฯ ให้นายวิชัย ปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการตรวจราชการ โดยในการปฏิบัติหน้าที่ให้อยู่ในความควบคุม กำกับดูแลของ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การบริหารราชการของกรมการค้าภายใน เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนต่อไป

ประสานให้โรงงานผลิตหน้ากากเพิ่ม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวถึง กระแสข่าวที่ปรึกษาหญิงของรัฐมนตรีบางคน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกักตุนหน้ากาก ว่า ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าใครเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ต้องดำเนินการตามกฎหมาย รัฐบาลมีความชัดเจนว่า ใครกระทำผิดจะต้องดำเนินการ หากเรื่องไปถึงใคร พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ติดตามดำเนินการ โดยไม่เลือกหน้า

สำหรับการผลิตหน้ากากอนามัยในปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ ได้ประสานผู้ผลิตทั้ง 11 โรงงาน ในการปรับเปลี่ยนการผลิตจากการผลิตสินค้าอย่างอื่น ให้มาเพิ่มการผลิตหน้ากากอนามัยมากขึ้น ตอนนี้ดำเนินการได้แล้วบางส่วน โดยเพิ่มจากผลิตวันละ 1.2 ล้านชิ้น เป็น 1.76 ล้านชิ้น ทำให้การกระจายหน้ากากคล่องตัวขึ้น สามารถจัดให้สธ. นำไปกระจายบุคลากรทางการแพทย์ สถานพยาบาลต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ ได้เพิ่มขึ้น จากวันละ 7 แสนชิ้น เป็นวันละ 1 ล้านชิ้น ขณะที่ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ก็สามารถกระจายไปยังร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าปลีกต่างๆ ได้มากขึ้น จากวันละ 5 แสนชิ้น เป็น 7.6 แสนชิ้น หลังจากนี้จะมีช่องทางจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้านกาแฟอเมซอน ปั๊มน้ำมันบางจาก และกำลังประสานไปรษณีย์ไทย ให้จัดจำหน่ายผ่านทางไทยโพสต์มาร์ท ในการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ แต่ขอเรียนว่า ถึงอย่างไรก็ไม่พอ ถ้าประชาชนจะใช้พร้อมกันทั้งประเทศ แต่จะกระจายให้ดีที่สุด และส่งเสริมให้ประชาชนใช้หน้ากากผ้า และเรากำลังเร่งประสานประเทศต่างๆ ในการนำเข้าวัสดุดิบ เพื่อไม่ให้มีปัญหาด้วย

แจงหน้ากากที่ส่งออกแพทย์ไทยไม่ใช้

เมื่อถามว่า หน้ากากอนามัยที่ใช้ในประเทศยังไม่เพียงพอ เหตุใดยังมีการอนุญาตให้ส่งออก นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรามีคำสั่งห้ามอนุญาตส่งออก ยกเว้นได้รับอนุญาต ซึ่งพูดกันชัดเจนแล้วว่า ถ้าเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้ จะไม่อนุญาตให้ส่งออกโดยเด็ดขาด ถ้าประชาชนยังไม่มีใช้ จะอนุญาตให้ส่งออกแล้วจะตอบคำถามประชาชนอย่างไร แต่มันมีข้อยกเว้นถ้าเป็นหน้ากากอนามัยที่ประเทศไทยไม่ใช้ เช่น หน้ากากอนามัยที่มีแผ่นหน้ากากใสป้องกันตา และสายคล้องหูแบบเชือกที่หมอไทยไม่ใช้ หน้ากากอนามัยที่ผลิตขึ้นภายใต้ลิขสิทธิ์ของต่างประเทศ ที่ไม่สามารถขายในประเทศไทย และหน้ากากอนามัยที่ผลิตภายใต้เงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน ที่มีเงื่อนไขผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น ก็ต้องอนุญาตให้ส่งออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น นายจุรินทร์ ได้เชิญ นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ชี้แจงประเด็นหน้ากากอนามัยที่ทางการแพทย์ไทยไม่ใช้ โดยนายวิชัย ได้นำตัวอย่างมาแสดงต่อสื่อมวลชน เมื่อสื่อมวลชนถามว่า ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทำให้เสียกำลังใจในการทำงานหรือไม่ นายวิชัย กล่าวว่า "มีบ้าง แต่เพื่อพี่น้องชาวไทย ทุกคนมีความตั้งใจ และมุ่งมั่นตลอด ไม่ว่าใครจะมีข้อสังสัย หรือคำถามเรามีหน้าที่ชี้แจง และทำให้เห็นความมุ่งมั่นในการทำงานจะค่อยๆ คลี่คลายปัญหาไปได้ เขามีสิทธิ์ตั้งคำถาม เราก็มีสิทธิ์อธิบาย และขอให้ฟังเหตุและผลเชื่อว่าทุกอย่างจะไปได้"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการให้สัมภาษณ์ นายวิชัย เสร็จสิ้นไม่ถึงชั่วโมง ได้มีการเผยแพร่คำสั่ง นายกรัฐมนตรีที่ 80/2563 ที่มีคำสั่งให้ นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ มาปฏิบัติราชการสำนักนายกฯ โดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม จนกว่าจะมีการตรวจสอบ แล้วหรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

สงสัยป่วยโควิด-19 ตรวจ-รักษาฟรีทุก รพ.

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึง กรณีหลายภาคส่วน มีเสียงสะท้อนว่า ค่าตรวจโรคโควิด-19 มีราคาแพง ว่า ตามปกติหากใครก็ตาม มีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ เป็นหวัดหรือมีน้ำมูก และประวัติเสี่ยง สามารถไปที่ รพ.ที่แต่ละคนมีสิทธิ ซึ่งจะไปเอง หรือให้เจ้าหน้าที่ไปรับก็ได้ โดยจะได้รับการตรวจและรักษาฟรีในทุกรพ. เพราะทุกคนมีทั้งสิทธิของข้าราชการ สิทธิตามหลักประกันสุขภาพ หรือแม้แต่สิทธิประกันสังคม แต่มีหลักเกณฑ์จะต้องมีอาการป่วย และประวัติเสี่ยงสัมผัส รวมถึงนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่”หรือ Universal Coverage Emergency Patient (UCEP)หากเจ็บป่วยภายใน 72 ชม.แรก สามารถเข้ารับการรักษา หรือช่วยชีวิตโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใน 72 ชม.แรก ไม่ว่าจะในรพ.ไหนก็ตาม แต่ถ้าไม่มีอาการแล้วไปรพ. จะไม่สามารถใช้สิทธิ UCEPได้ ดังนั้น ต้องมีอาการหอบอย่างหนัก ต้องสงสัยว่าเป็นโควิด-19 สามารถเข้ารพ.ไหนก็ได้ โดยใช้สิทธิ UCEP

ทั้งนี้ รพ.จะมีการคัดกรอง ซักประวัติ แต่หากไม่มีอาการป่วย ขอความกรุณาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปตรวจ เพราะตรวจไปก็ไม่มีประโยชน์ และเสียเงินด้วย ส่วนใหญ่ตรวจไปก็ไม่พบเชื้อ แต่ถ้ารู้ว่าตัวเองมีประวัติเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้ว ก็ขอให้ติดต่อมายังกรมควบคุมโรค สายด่วน 1422 ได้ทันที จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล

ส่วนการส่งตัวผู้ป่วยจากรพ.เอกชน มายังรพ.รัฐ นั้น นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.เอกชน เข้ามาร่วมมือ หากมีกรณีผู้ป่วยไป รพ.เอกชน เขามีสิทธิพื้นฐานอยู่แล้ว ซึ่งผลตรวจจากห้องแล็บก็ส่งมาได้เลย สธ.ดูแลอยู่แล้ว ยกเว้นกรณีที่บางคนไปขอตรวจเอง หมอก็จะแนะนำว่า อย่าตรวจเลย แต่ถ้ายืนยันว่าจะตรวจให้ได้ ก็จะเสียเงิน

เมื่อถามว่า หากผลตรวจจากห้องแล็บ ออกจากรพ.ไหน ผู้ป่วยสามารถรักษาตัวที่รพ.นั้น ได้หรือไม่ โดยไม่ต้องส่งตัวมาที่ รพ.รัฐ นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ผู้ป่วย 1 แสนกว่าคนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย 90 เปอร์เซ็นต์ อาการไม่หนักมาก ศักยภาพของรพ. เราดูแลได้ เราเตรียมความพร้อมของทีมแพทย์ให้คำปรึกษาทั้งประเทศ และมีระบบรองรับ กรณีที่มีผู้ป่วยหนักบางราย ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก จะส่งมาที่ รพ.ขนาดใหญ่ของเรา เช่น สถานบันบำราศนราดูร หรือ รพ.ราชวิถี

เมื่อถามว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยขณะนี้ เข้าใกล้การระบาดใน ระยะที่ 3 แล้วแค่ไหน นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ตนไม่อยากให้มากังวลเรื่องระยะใดก็ตาม เพราะสิ่งสำคัญคือ เปลี่ยนความกลัวเป็นความรู้ที่ถูกต้อง ป้องกันได้ เราต้องป้องกันตัวเอง และป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อสู่คนอื่น ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม

โรคนี้มียารักษาและกำลังจะมีวัคซีน ซึ่งโดยปกติเวลาเกิดการแพร่ระบาดของโรคสำคัญ เช่นเมื่อ 10 ปีก่อน ที่โรคไข้หวัดใหญ่ระบาด เมื่อเกิดโรค เราจะเก็บเชื้อไปพัฒนาเป็นวัคซีน มันมีวิธีการทำโดยใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ก็จะได้วัคซีนออกมา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ได้อยู่ที่วัคซีน แต่อยู่ที่ว่าโรคนี้แพร่ระบาดจากการไอหรือจาม ที่เป็นละอองฝอย ดังนั้นผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือ ปัญหาวันนี้ โรคโควิด-19 ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่เป็นเรื่องสุขภาพทางจิตใจ

เมื่อถามว่า พูดได้หรือไม่ว่า มาตรการปิดเมือง หรือปิดประเทศ ไม่มีทางเกิดขึ้นกับประเทศไทย นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า “ตรงนี้เป็นส่วนที่เราจะต้องตัดสินต่อไปในอนาคต มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมาตรการ ณ วันนี้สิ่งที่เราทำ เราไม่ได้ทำแบบไม่ได้วางแผน เรามีผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับนานาชาติ ระดับองค์การอนามัยโลก มาร่วมกันคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และกำหนดมาตรการที่เหมาะสม และไม่ต้องห่วงสิ่งที่ประเทศไทยทำวันนี้ เราทำเกินกว่าสถานการณ์มีอยู่เสมอ อย่างแรกคือ การเฝ้าระวัง การติดตาม เวลาเจอผู้ติดเชื้อ และที่สำคัญคือระบบรักษาพยาบาล โรงพยาบาลมีพร้อม หมอพร้อม ยาพร้อม ทุกอย่างพร้อมที่รองรับ ไม่ว่าสถานการณ์จะเกิดขึ้นรุนแรงที่สุดขนาดไหนก็ตาม จะไม่เป็นแบบอิตาลีเรายืนยัน นายกฯ กำชับเป็นอย่างดีต้องทำให้ดีที่สุด"

ทบ.เผยเจ้ากรมสวัสดิการกักตัวเอง 14 วัน

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณี สธ.ประกาศผู้ติดเชื้อCOVID-19 และหนึ่งในผู้ติดเชื้อได้เข้าไปร่วมกิจกรรม ที่สนามมวยลุมพินี ซึ่งต่อมาทางสนามมวยลุมพินีได้ประกาศปิดพื้นที่ เพื่อเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อทำความสะอาด ตามมาตรฐานสธ.แล้ว นอกจากนี้ได้มีการแจ้งให้ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม เข้าสู่กระบวนการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยในรพ. และปัจจุบันอยู่ระหว่างการยืนยันผลการตรวจดังกล่าว รวมถึงมาตรการ หยุดพักสังเกตอาการ 14 วัน

ล่าสุด หนึ่งในบุคคลที่เข้าสู่กระบวนการตรวจวินิจฉัยและกักบริเวณตนเองคือ เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก หลังทราบข่าวผู้ติดเชื้อท่านหนึ่ง ซึ่งตนเองได้เข้าไปใกล้ชิดกับบุคลนั้น ในสถานที่การจัดแข่งขันมวย และตระหนักดีว่าตนเองอยู่ในเกณฑ์เสี่ยง แต่ไม่มีอาการบ่งชี้ใดๆ จึงได้รีบดำเนินการตามมาตรการป้องกัน โดยได้ไปเข้าสู่กระบวนการตรวจคัดกรอง และตรวจวินิจฉัยจากรพ. ขณะนี้อยู่ในระหว่างการวินิจฉัยของทีมแพทย์ว่าจะเข้าข่ายเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ ส่วนครอบครัวและบุคคลใกล้ชิด ก็ได้ดำเนินตามมาตราการตรวจคัดกรองและกักตัวเอง 14 วัน เพื่อสังเกตุอาการแล้ว

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ได้พบปะกำลังพลทั้งในและนอกกองทัพบก อีกกว่า 100 คน ซึ่งผู้ที่เข้าข่ายเฝ้าระวังต้องกักตัวเอง14 วัน โดยในวันที่ 15 มี.ค.กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก (วศ.ทบ.) จะเข้าดำเนินการฉีดพ้นยาฆ่าเชื้อ ในพื้นที่ กองบัญชาการกองทัพบก 1 .ห้องประชุม 241 2. ห้องจัดเลี้ยง 221 3. หัองประชุม ศปก. อ.1 ชั้น 5 3. จุดเติมน้ำ ตรงที่เติมน้ำรถน้ำ หน้า ทรพ. กองร้อย

ล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเวลา 15.00 น .(วันที่ 15มี.ค.)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีกระแสในโลกออนไลน์ ส่งข้อมูลต่อโดยมีการพาดพิงถึง พล.อ.อภิรัชต์ ว่าอาจจะติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ด้วยนั้น ล่าสุดจากการสอบถามบุคคลใกล้ชิด ยืนยันว่า พล.อ.อภิรัชต์ ยังคงแข็งแรง สบายดี พักผ่อนอยู่ที่บ้านพักส่วนตัวโดยไม่ได้มีอาการป่วยแต่อย่างใด

ขณะที่ในส่วนของ พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ผู้สื่อข่าวได้พยายามโทรศัพท์เพื่อสอบถามอาการ และข้อเท็จจริงแล้ว แต่พล.ต.ราชิต ไม่รับสาย

"แมทธิว ดีน"ขอบคุณทุกกำลังใจที่มีให้กัน

แมทธิว ดีน นักแสดง พิธีกรคุณพ่อลูกสอง ได้โพสต์ภาพและข้อความ ภายหลังจากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ว่า

ขอบพระคุณทุกกำลังใจที่ส่งมาให้นะครับ รู้สึกซาบซึ้งจริงๆ เราทุกคนต้องผ่านพ้นช่วงนี้ไปด้วยกัน ไม่แยกกันไม่โทษกันไม่ตีกัน ทุกที่ทุกประเทศกำลังลำบาก Thank you all for your kind messages of support, they are much appreciated. We all gotta stick together to fight this virus. #covid19

นร.ไทย AFS จากอิตาลี กักตัวที่สัตหีบ

เช้าวานนี้ (15 มี.ค.) พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. พร้อมหน่วยงานกองทัพเรือ และเจ้าหน้าที่ กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ร่วมรับตัวกลุ่มนักเรียนแลกเปลี่ยนในโครงการ AFSจากประเทศอิตาลี จำนวน 83 คน ที่เดินทางโดยสายการบินไทย เที่ยวบิน TG-945บินตรงจากกรุงโรม ประเทศอิตาลี มาลงยังสถานีการบิน กองการบินทหารเรือ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เมื่อเวลา 06.45 น. เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ที่ อาคารสวัสดิการอาคารรับรอง กองทัพเรือ อ่าวดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

โดยทั้งหมดได้ผ่านระบบการตรวจสอบคัดกรองอย่างเข้มงวด โดยเจ้าหน้าที่จากสธ. ซึ่งจะทำการตรวจวัดไข้ และตรวจสุขภาพ และจะต้องผ่านกระบวนการทำความสะอาดฆ่าเชื้อร่างกาย และสัมภาระที่ติดตัวมา โดยเจ้าหน้าที่จากกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ก่อนจะลงทะเบียนแยกย้ายเข้าสู่ห้องพักในอาคารที่จัดเตรียมไว้ และจะอยู่ในความดูแล เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 14 วัน

ทั้งนี้ คณะนักเรียนไทยมีทั้งหมด 83 คน ในจำนวนนี้มี 6 คน ที่ถูกส่งตัวแยกดูอาการที่โรงพยาบาล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ

อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือในฐานะหน่วยรับผิดชอบในภารกิจ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งการควบคุมดูแลต่างๆ เป็นไปตามขั้นตอนตามมาตรฐาน องค์การอนามัยโลก (WHO)โดยได้นำรถบัสและคนขับเข้าสู่กระบวนการชำระล้าง (DECON)ผ่านขั้นตอนการฉีดยาพ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ กองทัพเรือขอขอบคุณประชาชนในพื้นที่ อ.สัตหีบ ที่เสียสละให้ความร่วมมือในการใช้พื้นที่อย่างไม่ทอดทิ้งคนไทยด้วยกัน และจะร่วมฟันฝ่าวิกฤตไปพร้อมๆ กัน

พล.ร.อ.ลือชัย กล่าวด้วยว่า การรับนักเรียนไทยแลกเปลี่ยนอิตาลี มาดูแลและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ครั้งนี้ไม่ได้ใช้สนามบินในส่วนที่บริการในเชิงพาณิชย์ จึงขอให้ผู้ที่มาใช้บริการสายการบินในสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา เชื่อมั่นด้านความปลอดภัย


กำลังโหลดความคิดเห็น