ความตายของคนเรานั้นบ้างหนักแน่นดั่งขุนเขา บ้างบางเบาดั่งขนนก นั้นอยู่ที่ว่าการตายของเราเป็นการตายเพื่อสิ่งใด เสียสละชีวิตเพื่อสิ่งใด แต่กระนั้นบางครั้งการตายของคนคนหนึ่งก็แตกต่างไปจากมุมมองของแต่ละฝ่ายด้วย
มีหลายคนสละชีวิตเพื่อสิ่งที่ตนรัก หลายคนสละชีวิตเพื่อปกป้องชาติ และมีหลายคนที่สละชีวิตเพื่อปกป้องอุดมการณ์ของตัวเอง
ก่อนหน้านี้หลายสิบปีก่อนเราเคยเห็นนายธนาวุฒิ คลิ้งเชื้อ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงเผาตัวเองเพื่อสังเวยอุดมการณ์ทางการเมือง เราเห็น สืบ นาคะเสถียร สังเวยชีวิตตัวเองเพื่อปกป้องผืนป่าที่เขารัก เราเห็นนายนวมทอง ไพรวัลย์ สละชีวิตตัวเองเพื่อปกป้องอุดมการณ์ประชาธิปไตยตามความเชื่อของเขา และใครต่อใครอีกจำนวนมากที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมืองในบ้านเรา
การลั่นกระสุนปลิดชีพตัวเองของ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลชั้นต้นจังหวัดยะลา เป็นเรื่องที่น่าเศร้า สำหรับคนคนหนึ่งที่คิดว่าตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรม แต่ก็ไม่เป็นธรรมสำหรับฝ่ายที่นายคณากรกล่าวหาคือระบบศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน
เมื่อนายคณากรสละชีวิตตนเองไปแล้ว ก็ได้แต่ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัว และหวังว่าคนในสังคมที่เห็นด้วยกับแนวทางของเขาจะอุ้มชูลูกน้อยที่เขาฝากความหวังเอาไว้ ถ้าสิ่งที่เขาเรียกร้องเป็นความจริงก็หวังว่าจะได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องเสีย บทความนี้จึงมีเจตนาเพื่อตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมว่า หลักการที่กฎหมายวางเอาไว้นั้นจริงแล้วเป็นหลักการที่ถูกต้องและมีปัญหากันแน่จากมุมมองของผม
ก่อนหน้านี้นายคณากรเคยเอาปืนมายิงปลิดชีพตัวเองบนบัลลังก์ หลังจากอ่านคำพิพากษาคดีที่ห้องพิจารณาคดี บัลลังก์ 4 ภายในศาลจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมาแล้วครั้งหนึ่ง
ในจดหมายลาตายนั้นนายคณากร ถามว่า ขออนุญาตถามเพื่อนๆ พี่น้องประชาชนชาวไทยง่ายๆ ว่า สิ่งที่ผมทำลงไปจนถูกสอบวินัยและตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญานี้ ท่านพบความชั่วหรือความเลวอยู่ในการกระทำของผมบ้างหรือไม่ ขอทุกท่านตอบในใจเบาๆ ก็พอ ส่วนผมรู้คำตอบมาตั้งแต่ต้นแล้วเสียดายที่ท่านไม่ใช่ผู้ตัดสิน
เมื่อนายคณากรถามว่า พบความชั่วหรือความเลวในการกระทำของตัวเองบ้างหรือไม่ ผมคิดว่า การพกปืนขึ้นไปบนบัลลังก์แล้วยิงตัวเองนั้น เป็นสิ่งที่คนเป็นผู้พิพากษาไม่พึงกระทำอยู่แล้ว ส่วนจะตีความว่าสิ่งที่ไม่พึงกระทำนั้นเป็นความเลวหรือความชั่วหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ แต่การกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ที่ไม่อาจปล่อยปละละเลยได้ แน่นอนกฎหมายก็ต้องดำเนินการไปตามกระบวนการ แม้นายคณากรจะไม่ได้เอาปืนไปยิงคนอื่น แต่ยิงตัวเองก็ตาม
กรณีนี้เริ่มจากนายคณากร กล่าวหาว่า นายเพิ่มศักดิ์ สายสีทอง อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 9 แทรกแซงการพิจารณาคดี ในการปลิดชีพตัวเองครั้งนั้นนายคณากร เขียนข้อความหนึ่งว่า “คืนคำพิพากษาให้กับผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้กับประชาชน”
แต่จริงแล้ว ถ้าเราศึกษาพระธรรมนูญศาลยุติธรรมจะเข้าใจว่านี่เป็นหลักการคานอำนาจ หรือเป็นการ check and balance นั่นเอง
ทั้งนี้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 บัญญัติว่า ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ต้องรับผิดชอบในราชการของศาลให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย
(1) นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีใดๆ ของศาลนั้น หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้
(4) ให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในศาลนั้นในข้อขัดข้องเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา
ดังนั้นอธิบดีจึงมีสิทธิที่จะตรวจสำนวนคำพิพากษา แม้ไม่ได้ขึ้นไปนั่งพิจารณาคดีก็มีข้อแนะนำหรือทำความเห็นแย้งได้ หากการเขียนคำพิพากษามีจุดบกพร่อง ก็แนะนำให้แก้ไขได้ ซึ่งกฎหมายให้อำนาจไว้เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน แต่อธิบดีไม่สามารถไปก้าวก่ายการตัดสินของผู้พิพากษาได้ ไม่สามารถแทรกแซงการทำงานได้ เพราะหากผู้พิพากษาไม่เห็นตามนั้น ก็สามารถยืนยันความเห็นของตนเองได้
สรุปคือนายคณากรมีสิทธิเต็มที่ที่จะยืนยันความเห็นของตัวเอง และพิจารณาคดีไปตามความเห็นของตัวเองได้เลย เพียงแต่ต้องบันทึกความเห็นแย้งไว้ท้ายคำพิพากษาเท่านั้นเอง
จึงเห็นได้ว่า หลักการที่วางไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมจึงเป็นหลักการที่ดี เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมเป็นสำคัญ
ส่วนหลักความเป็นอิสระของตุลาการนั้นมีอยู่แล้ว ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 188 บัญญัติว่า การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอํานาจของศาล ซึ่งต้องดําเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่านี่เป็นหลักการคานอำนาจหรือ check and balance ซึ่งเป็นหลักการที่ดี
แต่ขณะนี้นายคณากรปลิดชีพเสียชีวิตไปแล้ว แน่นอนเรื่องนี้เป็นความเศร้าสลดอย่างใหญ่หลวงต่อครอบครัวญาติมิตรของนายคณากร แต่ขณะเดียวกันเราต้องยอมรับว่า จากทัศนคติของนายคณากรนั้นชัดเจนว่า เขามีความฝักใฝ่พรรคการเมืองหนึ่งซึ่งไม่ใช่ความผิดอะไร เพราะเป็นเรื่องปกติวิสัยของปุถุชนทั่วไป แต่จะเป็นปัจจัยหรือเหตุผลหนึ่งในการตัดสินใจหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา เพราะมีนายคณากรเท่านั้นที่รู้เหตุผลเบื้องลึกภายในจิตใจของตัวเอง
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องกล่าวคือ สิ่งที่นายคณากรได้ทำลงไปนั้นทำให้สังคมมองว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหาเพราะไปแทรกแซงการพิจารณาคดี ซึ่งผมคิดว่า ไม่เป็นธรรมต่อศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน ถ้าไม่ได้ศึกษาหลักการเหตุผลที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น เพราะสำหรับผมแล้วคิดว่า หลักการคานอำนาจแบบนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นและถูกต้อง
เข้าใจครับว่าชีวิตคนเราทุกคนย่อมมีคุณค่า การเสียสละชีวิตเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ แต่จะตัดสินอะไรถ้าเรารักความยุติธรรมควรจะตัดสินด้วยข้อมูลที่ถูกต้องและด้วยความเป็นธรรมเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ผู้บริหารศาลยุติธรรมในยุคนี้จะสามารถอธิบายให้สังคมเข้าใจถึงข้อสงสัยต่างๆ ได้ เพราะจะเห็นได้ว่าในยุคของประธานศาลฎีกาท่านนี้มีแนวคิดดีหลายเรื่อง เช่น หลักการให้ประกันตัวโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ หรือให้โอกาสในการหาหลักทรัพย์มายื่นในภายหลัง โดยยึดหลักการของรัฐธรรมนูญที่ว่า ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ รวมถึงการปรับปรุงการให้บริการต่างๆ ที่รวดเร็วและกระชับขึ้น
แม้บางคนบอกว่าการตายของนายคณากรจะสั่นคลอนกระบวนการยุติธรรม และทำให้สังคมตั้งคำถามต่อข้อกล่าวหาต่างๆ เพราะการที่คนคนหนึ่งเอาชีวิตเข้าแลกนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องปกติที่เคยเกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่อำนาจตุลาการเป็นถึงหนึ่งใน 3 เสาหลักของอำนาจอธิปไตย ดังนั้นจึงน่าจะมีความมั่นคงพอที่จะยืนหยัดโดยไม่สั่นคลอนได้
และหวังว่าสังคมที่ยึดมั่นความเป็นธรรมจะหนักแน่นที่จะตัดสินเรื่องหนึ่งด้วยสายตาที่เป็นธรรมเช่นเดียวกัน
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan